โลกร้อน กระทบ ‘เศรษฐกิจไทย’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
AFP Photo

อีกไม่กี่วัน เราทุกคนจะเริ่มต้นนับหนึ่งกับการก้าวสู่ปีใหม่ 2566 เป็นปีกระต่ายซึ่งเข้ามาแทนปีเสือที่ดุดันสะเทือนโลกเมื่อกองทัพรัสเซียเคลื่อนทัพบุกถล่มยูเครนจนกลายเป็นศึกสงครามยืดเยื้อมาถึงวันนี้

สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกอย่างแรงพราะเท่ากับขย้ำช้ำเศรษฐกิจโลกที่ติดบ่วงด้วยพิษโควิดอยู่แล้วให้หนักหนาสาหัสมากขึ้น

ประเทศไทยของเราก็หนีไม่พ้นฤทธิ์ควันสงครามและพิษโควิด ธุรกิจการค้าขายทรุดฮวบ ร้านรวงเจ๊งระเนระนาด หนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูดติดอันดับต้นๆ ของโลก กำลังซื้อลดพรวด อุตสาหกรรมส่งออกร่วงกราว ส่วนการท่องเที่ยวเพิ่งผงกหัวฟื้นตัวปลายปีเสือดุ กระนั้นยังไม่ได้ปลุกให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอู้ฟู่มากซะเท่าไหร่

กูรูหลายสำนักทำนายเศรษฐกิจปีกระต่ายที่กระโดดเข้ามาแทนปีเสือ จะเริ่มกระเตื้องขึ้นในครึ่งปีหลัง

แต่กระเตื้องแค่ไหนยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ตราบใดสงครามยูเครนไม่สงบ เชื้อโควิดยังแพร่ระบาดหนักในจีนซึ่งเป็นตัวจักรใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานยังพุ่งกระฉูด

ขณะที่ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มระดับการคุกคามกับนานาประเทศไม่ว่าจะเป็นฝนถล่มน้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง พายุหิมะ

 

เพิ่งไปอ่านบทความเรื่อง “วิกฤตภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย” ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญของแบงก์ชาติ 3 คน ได้แก่ คุณพิม มโนพิโมกษ์ คุณสุพริศร์ สุวรรณิก และคุณชัยธัช จิโรภาส มีสาระน่าสนใจมากทีเดียวขออนุญาตคัดย่อนำมาเผยแพร่ต่อ

บทความได้อ้างถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยอันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรืออาจจะพูดสั้นๆ ก็ได้ว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง

บทความชิ้นนี้ระบุ การศึกษาผลกระทบของความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risk) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทย ผลการศึกษาพบว่า ในระดับประเทศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

ผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมาก ภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนักจะได้รับผลกระทบมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะกระทบต่อหมวดอาหารสดโดยเฉพาะผักเป็นหลัก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นปรากฏการณ์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น สะท้อนจากอุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า และแผ่นดินไหว ที่บ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ

ปัญหา climate change มักถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสังคม

แต่ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกตระหนักว่าวิกฤตการณ์ climate change ที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้น

ในอนาคตจะกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นที่ธนาคารกลางและผู้ดำเนินนโยบายต้องเร่งทำความเข้าใจถึงผลกระทบและช่องทางการส่งผ่านของ climate change ต่อเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน

 

ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่เข้าข่ายเสี่ยงสูงจากวิกฤตภูมิอากาศ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางกายภาพ นั่นคือ ความเสี่ยงจากผลกระทบโดยตรงที่ภาวะโลกร้อนหรือภัยพิบัติทำให้การเติบโตของผลผลิตในประเทศหดตัวจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

“สาเหตุที่ประเทศไทยอ่อนไหวต่อความเสี่ยงทางกายภาพเป็นพิเศษ เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนโดยภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงประเทศไทยมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พึ่งพาการทำเกษตรกรรม อาจมีผลผลิตออกมาไม่ตรงตามฤดูกาลเมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวน และมีสัดส่วนของแรงงานทั้งประเทศที่อยู่ในภาคเกษตรสูงถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด”

ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น อาหารสด ยังมีสัดส่วนสูงถึง 21% ในตะกร้าเงินเฟ้อไทย มักอ่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น การทำความเข้าใจผลกระทบรวมถึงช่องทางการส่งผ่านของ climate change ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงมีนัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

 

บทความชิ้นดังกล่าวระบุว่า งานวิจัยจำนวนไม่น้อยศึกษาผลกระทบของ climate change ในบริบทของประเทศไทย แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่เน้นวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

เพิ่งมีงานวิจัยของคุณชัยธัช จิโรภาส และคุณสุพริศร์ สุวรรณิก ที่ถือว่าเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่วิเคราะห์ผลกระทบของ climate change ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน

ผู้เขียนงานวิจัยดังกล่าวได้ตั้งคำถามว่า สภาพภูมิอากาศไทย เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างไร?

ผลจากการวิจัยด้วยการใช้ดัชนีวัดความผิดปกของปริมาณน้ำสะสมเทียบกับอดีตในระยะเวลาที่แตกต่างกัน ตามเกณฑ์ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administra-tion) พบว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยมีความแห้งแล้งมากขึ้น พร้อมๆ กับมีความแปรปรวนมากขึ้น

หากพิจารณาจากความถี่ของการเกิดสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งรุนแรง (extremely dry) จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวเกิดบ่อยครั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

งานวิจัยยังชี้ว่า ประเทศไทยมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศ พึ่งพาการขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

บทสรุปของบทความ “วิกฤตภูมิอากาศกับเศรษฐกิจไทย” ศึกษาผลกระทบของความเสี่ยงทางกายภาพจากสภาพภูมิอากาศวิกฤตต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยโดยรวมแล้วพบว่า การเกิดสภาพภูมิอากาศผิดปกติหรือ climate shocks ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว ขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยชั่วคราวโดยเฉพาะในหมวดอาหารสด

 

จากผลการศึกษานี้ มีนัยเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติในระยะต่อไปที่มีแต่จะรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นนั้น ทำให้การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและยั่งยืนของผู้ดำเนินนโยบายมีความท้าทายขึ้น

ทั้งจากความอ่อนไหวของภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศที่อาจสูงขึ้นจากผลกระทบของ climate change ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มคนรายได้ต่ำและสูง รวมถึงภาคแรงงานและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ

ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างและการกระจายองค์ความรู้เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้นั้นมีความจำเป็นยิ่งโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เกษตรกร หรือธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารกลางจะมีความท้าทายขึ้นเช่นกัน เนื่องจากวิกฤตภูมิอากาศอาจทำให้เงินเฟ้อผันผวนขึ้น

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผู้ดำเนินนโยบายควรเร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตภูมิอากาศอย่างลึกซึ้งและรอบด้านขึ้น โดยเฉพาะเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศและระบบเศรษฐกิจนั้นมีความซับซ้อน และแปรผันไปตามหลากหลายปัจจัย เช่น ทิศทาง ขนาด และความยืดเยื้อของ climate shocks เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายนำมาประกอบการพิจารณาและกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิผลและตรงจุด

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดตั้งใหม่ด้วยการเปลี่ยนชื่อมาจากกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21ธันวาคมที่ผ่านมานั้น น่าจะนำบทความของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชิ้นนี้ไปค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม •