ชำแหละดราม่า ‘บอลโลก’ คนไทยต้องจำ ถูกจับเป็นประกัน จอดำ-ดูไม่ทั่วถึง | บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ชำแหละดราม่า ‘บอลโลก’

คนไทยต้องจำ ถูกจับเป็นประกัน

จอดำ-ดูไม่ทั่วถึง

 

ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แรกเริ่มถูกตั้งราคาสูงถึง 1,600 ล้านบาท แต่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ต่อรองราคาจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า จนเหลือ 1,180 ล้านบาท

ด้วยเงินก้อนเบ้อเริ่ม อีกทั้งมี ‘กฎมัสต์แครี่’ ที่บังคับให้การถ่ายทอดสดการแข่งขัน ต้องดูได้ทางฟรีทีวี แบบทั่วถึง ทำให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (ไอพีทีวี) อย่างเอไอเอส เพลย์บ็อกซ์, ทรีบรอดแบนด์ และเอ็นที ไม่สนใจซื้อลิขสิทธิ์ เพราะสุดท้ายต้องโดนให้ฉายบนฟรีทีวี ไม่สามารถเก็บเงินลูกค้าได้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ

จนฟุตบอลโลกใกล้เตะอยู่รอมร่อ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จึงเดินคอตกขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จนมีมติอนุมติงบประมาณ 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ทำให้ กกท.ต้องหาเงินอีก 580 ล้านบาทที่เหลือให้ทันก่อนถึงเดดไลน์วันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ฟุตบอลโลกเริ่มแข่งวันแรก

โดย กกท.พยายามติดต่อไปหลายหน่วยงาน แต่มี 3 ที่เท่านั้น ที่พร้อมเปย์เงินลงขันนี้ ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจ, ปตท. และกลุ่มทรู

โดย ‘กลุ่มทรู’ จ่ายเงินมากที่สุดที่ 300 ล้านบาท ทำให้ กกท.รวมเงินได้ครบ พอซื้อลิขสิทธิ์ได้แบบเฉียดฉิว

 

แต่เงิน 300 ล้านบาทดังกล่าว แลกกับการได้เป็นเจ้าของสิทธิลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดการแข่งขันในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ง่ายๆ คือ นำฟุตบอลโลกถ่ายทอดสดบนฟรีทีวี อย่างช่อง ‘ทรูโฟร์ยู’ ได้ แถมยังมีสิทธิเลือกคู่ก่อนช่องอื่นๆ รวมถึง ‘ทรูวิชั่นส์’ ยังถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้ครบทั้ง 64 คู่ และให้ดูได้เฉพาะ ‘กล่องทรูไอดี’ เท่านั้น กล่องค่ายอื่นดูไม่ได้

แต่วิธีแก้ปัญหาของคนที่ใช้กล่องเหล่านี้ คือต้องไปหาซื้อเสาหนวดกุ้ง เพื่อมาจูนสัญญาณรับจากทีวีดิจิทัลปกติเอง

นำมาสู่ดราม่าที่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) บุก กสทช. เพราะมองว่า กลุ่มทรูได้สิทธิพิเศษมากเกินไป เมื่อเทียบกับเงินที่ลงขันแค่ 25% แต่ขอสิทธิถ่ายทอดสดผ่าน ‘ทรูโฟร์ยู’ ถึง 32 นัด (50% ของจำนวนคู่ทั้งหมด) จนสุดท้าย กลุ่มทรูยอมให้ทีวีดิจิทัลถ่ายทอดสด 16 คู่ ขนานกันไปได้ โดยแบ่งเป็นรอบแรก 14 นัด, รอบชิงที่สาม 1 นัด และรอบชิงชนะเลิศ 1 นัด

ทำให้ในรอบชิง ผู้ชมดูได้ทางทรูโฟร์ยู หรือช่อง 35 เอชดี (ช่อง 7) ก็ได้

 

เคลียร์จบก็โผล่อีกดราม่า เพราะตามกฎมัสต์แครี่ของ กสทช.ระบุว่า รายการที่ถูกฉายในฟรีทีวี ต้องดูได้ทุกช่องทาง ทั้งกล่อง, ดาวเทียม รวมถึงทีวีดิจิทัลพื้นฐาน 20 ช่อง

แต่ ‘กลุ่มทรู’ ไม่ยอม จึงบล็อกกล่องไอพีทีวีอื่นจนเป็นจอดำ ดูบอลโลกไม่ได้ ซึ่งขัดต่อกฎมัสต์แครี่ ที่ กสทช.วางเอาไว้ ทำให้เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ และทรีบรอดแบนด์ แจ้งไปยัง กสทช. และ กสทช.ได้ส่งหนังสือกำชับไปยังกลุ่มทรูให้ทำตามกฎมัสต์แครี่

ต่อมา ‘กลุ่มทรู’ ยื่นฟ้องไปที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ออกคำสั่งไม่ให้เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ และกล่องไอพีทีวีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของทรู ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิ ที่กลุ่มทรูได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลก แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

และศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ก็ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้กล่องไอพีทีวีจอดำจนจบทัวร์นาเมนต์ เท่ากับกฎมัสต์แครี่ไม่สามารถใช้การได้จริงตามทฤษฎี เพราะกฎหมายจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มีพลังมากกว่า

แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ตอน ‘จีเอ็มเอ็มแกรมมี่’ ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร และบล็อกสัญญาณไม่ให้กล่องทรูวิชั่นส์ดูได้นั้น กลุ่มทรูได้ออกมาแถลงการณ์ว่า “ทรูวิชั่นส์มีความรู้สึกผิดหวังต่อการจำกัดสิทธิของฟรีทีวีในครั้งนี้ เพราะตลอดมาไม่เคยมีการจำกัดสิทธิสาธารณชนในการเผยแพร่ในกรณีช่องฟรีทีวีมาก่อน”

คำถามคือ แล้วทำไมวันนี้ที่ตัวเองถือลิขสิทธิ์ในมือบ้าง กลับบล็อกสัญญาณของค่ายอื่น ต่างจากที่เคยแสดงจุดยืนเอาไว้ตอนที่ตัวเองไม่ได้ถือลิขสิทธิ์?

 

ขณะเดียวกัน ก็มีการยกเคสนี้เทียบเคสถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ ‘เอไอเอส’ ได้รับสิทธิ Official Broadcaster แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แต่ก็เอางบฯ รัฐ 240 ล้านบาท มาช่วยจ่ายให้เหมือนกัน แต่กล่องอื่นๆ อาทิ กล่องทรูไอที ก็จอดำดูไม่ได้ ดังนั้น เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน คราวนี้ เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ ก็ต้องจอดำบ้าง

แต่ต้องอธิบายแบบนี้ว่า กีฬาโอลิมปิกที่ผ่านมานั้น เอไอเอส เพลย์บ็อกซ์ เปิดให้ผู้ให้บริการไอพีทีวี อาทิ ทรีบรอดแบนด์ และเอ็นที รวมถึง ‘ทรูวิชั่นส์’ ซึ่งเป็นเคเบิลทีวี ดูได้ปกติ แต่ที่ต้องยกเว้น ‘กล่องทรูไอที’ เพราะเป็นผู้ให้บริการโอทีที ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. จึงไม่อยู่ภายใต้กฎมัสต์แครี่ จึงไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน กทปส. เหมือนผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทำให้ต้องจอดำ ดูไม่ได้

ฟาก กสทช.ที่ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่นาน สุดท้ายมีมติทวงเงินจาก กกท. ให้คืนเงินลงขันครึ่งหนึ่งนั้นมาภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) แต่เจอ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.สวนกลับทันทีว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่หากยืนกรานว่าจะเรียกเงิน 600 ล้านบาทคืน คงต้องไปสู้กันในกระบวนการของกฎหมาย แต่ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เพราะเป็นองค์กรของรัฐด้วยกันทั้งคู่

อย่างไรดีล่ะคราวนี้ ทวงเงินคืนก็ไม่ได้ กฎมัสต์แครี่ที่มีอยู่ สุดท้ายก็ใช้งานไม่ได้จริง ประชาชนดูได้ไม่ทั่วถึงอยู่ดี!!