รำพึงถึงรัฐ | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

รำพึงถึงรัฐ

 

เราทุกคนต่างถูกสอนโดยไม่ทันตั้งตัวมานับแต่เริ่มรู้ความว่า รัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของคนที่ “เจริญ” แล้ว ถ้าไม่มีรัฐก็ไม่มีกฎหมาย ถึงมีก็ไร้ความหมายเพราะไม่มีใครบังคับใช้ ดังนั้น จึงเกิดการปล้นสะดมแย่งชิงกันจนเป็นจลาจล โลกเป็นที่อยู่ของคนแข็งแรงพอจะป้องกันตนเองได้เท่านั้น ไม่มีคนอ่อนแอเหลืออยู่ในโลก นอกจากคนที่ยอมให้เอาเปรียบ แม้แต่คนที่เคยแข็งแรงเมื่อยังหนุ่ม-สาว ทันทีที่อ่อนแอลงก็ถูกขจัดออกไป

ยังไม่พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เราเรียกว่าอารยธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงเกิดได้ก็ดำรงอยู่ไม่ได้

ว่าที่จริงก็ไม่มีใครมานั่งสอนเราอย่างนี้หรอกครับ แต่เขาสอนทางอ้อมซึ่งมีพลังมากกว่าแยะ เพราะเราไม่ทันตั้งตัวอย่างว่า เมื่อเป็นเด็กสืบมาจนโตและได้รู้อะไรมากขึ้น หลักการเรื่องรัฐเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต ก็ยังถูกตอกย้ำผ่านการสอนประเภทไม่ให้ตั้งตัวที่ยิ่งซับซ้อนขึ้นตลอดมา จนกระทั่งได้รู้จักกลุ่มชนชาติที่ไม่เคยมีรัฐของตนเองหลายกลุ่ม เช่น ม้ง-เมี่ยน, กะเหรี่ยง, ลีซอ, ลาหู่, ชาวพื้นเมืองในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และโดยอัตโนมัตินะครับ เราก็จัดคนเหล่านั้นให้ค่อนไปทาง “ป่าเถื่อน” ทันที

ผมเองก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น นอกจากเข้าใจว่ารัฐคือความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตแล้ว ยังรู้สึกเหมือนรัฐกับอารยธรรมเป็นของคู่กันอีกด้วย

 

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีคนเอาคำกล่าวของมากาเร็ต มี้ด มาย้ำในเฟซบุ๊ก ความว่า โครงกระดูกเมื่อหลายพันปีก่อนของชายขาหักเดินไม่ได้ แล้วยังมีชีวิตรอดต่อมาอีกเป็นปี คือพยานชิ้นแรกของกำเนิดอารยธรรม (เพราะต้องมีใครหาอาหารให้และช่วยเขาในการเคลื่อนย้ายตามเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่าของตนเอง)

มี้ดทำวิจัยที่หมู่เกาะซามัวร์ อันเป็นถิ่นที่อยู่ของประชาชนที่รวมเรียกกันว่าโพลีนีเชียน ชนชาตินี้กระจายไปทั่วหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่นิวซีแลนด์ไปถึงฮาวาย และเลยไปทางตะวันตกถึงมาดากัสการ์ ชายฝั่งด้านตะวันออกของแอฟริกา ถิ่นที่อยู่บางแห่งของโพลีนีเชียนก็เกิดรัฐขึ้น (เช่น ฮาวาย) แต่อีกหลายแห่งก็ไม่เกิดรัฐขึ้นเลยจนตกเป็นอาณานิคมของคนผิวขาว ซามัวร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ถ้าการคิดถึงคนอื่นและทำอะไรให้คนอื่นโดยไม่ได้ประโยชน์ตอบแทน คือจุดเริ่มต้นของอารยธรรมอย่าที่มี้ด-กล่าวจริง อารยธรรมก็อาจเกิดขึ้นนอกรัฐได้ ใครที่เรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มคนที่คนไทยมักถูกเรียกว่า “ชาวเขา” ก็จะเห็นอารยธรรมอยู่ดาษดื่นแทบจะทุกเวลานาทีในชีวิตของพวกเขา ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยจัดตั้งทางการเมืองในลักษณะรัฐเลย ไม่ว่าในจีนตอนใต้, เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา, ไทย, พม่า และอินเดีย

คนไม่มีรัฐเหล่านี้ก็อยู่กันสืบมาจนถึงปัจจุบัน อย่างมีความสุขพอสมควร (อย่างน้อยก็ไม่น้อยไปกว่าคนที่อยู่ในรัฐ) และคงมีความสุขระดับนั้นต่อไป ถ้ารัฐไม่เข้าไปครอบงำพวกเขา เพิ่มองค์กรเบียดเบียนเข้าไปในชีวิตของเขาอีกหนึ่ง ซ้ำรัฐเป็นอีกหนึ่งที่นับวันก็มีอำนาจเพิ่มพูนขึ้นอย่างเหลือล้นด้วย

บางคนอาจเถียงว่า ดูชะตากรรมอันเลวร้ายของคนเหล่านี้ในปัจจุบัน ซึ่งตกอยู่ในรัฐของคนอื่นทั้งสิ้นแล้ว ก็น่าจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รัฐเข้ามาช่วยปกป้องประชาชนของตนเองให้ไม่ตกอยู่ใต้การกดขี่เอารัดเอาเปรียบอย่างออกหน้าของคนอื่นไม่ใช่หรือ

แต่ผมก็ยังเห็นว่า ความพ่ายแพ้ของ “ชาวเขา” ต่อรัฐต่างๆ นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่มีรัฐ แต่เกิดขึ้นเพราะวิถีชีวิตที่ไม่อนุญาตให้เขาเข้าสู่เกษตรกรรมได้เต็มที่เหมือนคนพื้นราบต่างหาก

 

การศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่ทำกันในระยะหลัง พิสูจน์ให้เห็นในกรณีของเมโสโปเตเมียว่า แท้จริงแล้วชุมชนเกษตรกรรมซึ่งเกิดขึ้นก่อนจะมีรัฐ สามารถดูแลตัวเองได้อย่างดี นั่นคือสร้างและรักษาระเบียบที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกัน (จะผ่านความเชื่อ, ประเพณีของชุมชน หรือความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นตำรวจและศาลก็ได้ผลเท่ากันหรืออาจจะดีกว่ากลไกรัฐเสียอีก อย่างน้อยก็เพราะเบี้ยวกันไม่ได้ง่าย) ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจสร้างและรักษาระเบียบของความสัมพันธ์นอกภาคเกษตรและนอกชุมชนได้อีกด้วย เพราะชุมชนเหล่านี้ทำการค้า “ทางไกล” กับชุมชนอื่น ไม่ไกลขนาดข้ามทวีปอย่างสมัยหลังนะครับ แต่ก็ไกลพอสมควร เช่น ระหว่างชุมชนต้นน้ำใกล้ป่ากับชุมชนปลายน้ำที่อาจห่างกันถึง 80 ก.ม. (เช่นที่อาจารย์ James C. Scott นำมาเล่าไว้ใน Against the Grain)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า ชุมชนเกษตรกรรมที่ยังไม่มีรัฐอยู่กันอย่างสงบสุขราบรื่นโดยปราศจากความยากลำบากใดๆ ก็หามิได้ จะมีหรือไม่มีรัฐก็มีภัยธรรมชาติ, มีโรคระบาด, มีการปล้นสะดมของอนารยชน และมีทุพภิกขภัย เป็นธรรมดาโลก

แต่ทั้งหมดนี้คือภัยที่เกิดกับชีวิตของประชาชนซึ่งอยู่ในรัฐไม่ต่างจากกัน ว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภัยซึ่งรัฐไม่มีอำนาจในการป้องกันหรือแก้ไขหรือแม้แต่บรรเทาด้วยซ้ำไป ผมขอยกสองตัวอย่างที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติโดยตรง หนึ่งคือภัยจากอนารยชน สักประมาณ 9 ใน 10 ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทุกรัฐล้วนถูกคุกคามจากอนารยชนทั้งสิ้น ยิ่งเป็นที่ตั้งของอารยธรรมขนาดใหญ่อันมั่งคั่ง ยิ่งถูกคุกคามมาก ไม่ใช่นานๆ ครั้งนะครับ แต่ถูกคุกคามอย่างสืบเนื่องเป็นศตวรรษทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นจีน, ภารตวรรษ, เปอร์เซีย หรือโรม ล้วนตั้งอยู่ไม่ห่างจากอนารยชนที่มักปล้นสะดมอยู่เสมอ หากมีกำลังน้อยก็ปล้นสะดมชายแดน มีกำลังมากก็ปล้นเมืองหลวง หรือเรียกค่าไถ่

อนารยชนทำอย่างนี้มาตั้งแต่เมื่อยังไม่มีรัฐแล้ว เป็นทางทำมาหากินอย่างหนึ่งของเขา อย่างที่พวกเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือกล่าวว่า เกษตรกรรมของเขาคือการปล้นสะดม อนารยชนหากินอย่างนี้สืบมาจนเกิดรัฐสมัยใหม่ที่ป้องกันตนเองได้เข้มแข็งกว่าเดิม

 

ตัวอย่างที่สองคือทุพภิกขภัย หากไม่นับจีนโบราณแล้ว ไม่มีรัฐใดรับมือกับทุพภิกขภัยไหวสักรัฐเดียว จนแม้เมื่อมีรถไฟและระบบราชการซึ่งพรั่งพร้อมกำลังคนแล้ว หลายรัฐก็ยังล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาทุพภิกขภัย ปล่อยให้ประชาชนอดตายเป็นแสนเป็นล้านเสมอมา ในอินเดียและแอฟริกาภายใต้จักรวรรดินิยมตะวันตกก็ใช่ ในอีกหลายรัฐของละตินอเมริกาก็ใช่ แม้แต่ในจีนซึ่งรัฐอ่อนแอลงเพราะแรงกดดันของตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ก็ใช่

ว่าที่จริงแล้ว ชุมชนก่อนรัฐยังอาจแก้ปัญหานี้ได้ดีกว่าเสียอีก อย่างน้อยก็เพราะธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์พอจะทิ้งไร่นาไปหาอาหารจากธรรมชาติได้ (อย่างในภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน”) แต่สิ่งแรกๆ ที่รัฐทำทันทีที่ยึดชุมชนเกษตรไร้รัฐได้คือ บังคับมิให้ประชาชนที่ตนยึดครองนั้นเคลื่อนย้ายได้เลย เพราะประชาชนแต่ละหัวย่อมอยู่ในทะเบียนการเก็บภาษีหรือแรงงานของรัฐ

ดังนั้น เมื่อเกิดทุพภิกขภัย ประชาชนจึงต้องทนอดอยู่กับพื้นที่ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งอาหารซึ่งในสมัยดึกดำบรรพ์ยังมีอยู่มาก

 

รัฐมาจากไหน? มีคำตอบหลายทางมาก นับตั้งแต่ตอบในเชิงปรัชญาการเมือง, ตอบในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ, ตอบในเชิงการสร้างอำนาจนำเพื่อครอบงำประชาชน และตอบในเชิงวิชาการ นับตั้งแต่รัฐศาสตร์ไปจนถึงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ (ซึ่งในสมัยหนึ่งก็ถูกครอบงำโดยอำนาจครอบงำโดยนักวิชาการไม่ทันรู้ตัว)

แม้ผมอ้างว่าที่ชวนคุยมาแต่ต้นเป็นข้อมูลทางโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่พบใหม่หรือตีความใหม่ แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับกำเนิดของรัฐหรอกครับ เพียงแต่ว่าทำให้ได้เห็นสภาพของชุมชนก่อนรัฐได้ดีขึ้น จึงรู้ได้ในทันทีว่า คำอธิบายกำเนิดของรัฐที่เคยมีมาก่อน และมาจากหลายทางดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่น่าจะใช่ และยิ่งคิดก็ยิ่งมองไม่เห็นว่า รัฐสามารถให้คุณประโยชน์ใหม่อะไรแก่ชุมชนเกษตรก่อนรัฐได้ ดังนั้น รัฐจึงไม่น่าเกิดขึ้นได้หากไม่ใช่ด้วยกำลังบังคับ

เพื่อเข้าใจเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปเรื่องอนารยชนผู้ปล้นสะดมชุมชนเกษตร ดังที่กล่าวแล้วว่า กองโจรอนารยชนเป็นเหมือนตัวเบียนหรือบางกรณีเหมือนมะเร็งที่เกาะกินชุมชนเกษตรไร้รัฐตลอดมา ด้านที่อ่อนแอที่สุดของชุมชนเกษตรก่อนรัฐคือการป้องกันตนเอง เพราะทุ่มเทพลังทุกด้านไปในการผลิตด้านเกษตรกรรม เช่น การจัดตั้งทางสังคมทำขึ้นเพื่อสร้างและรักษาระบบชลประทาน กับความร่วมมือที่จำเป็นระหว่างกันในการผลิต การศึกษาในครอบครัวก็เพื่อฝึกทักษะการใช้แรงงานและการจัดการด้านการเกษตร ผมไม่ทราบว่าหากมีการนับสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของเครื่องมือที่ตกค้างอยู่ใต้ดินและขุดพบ จะมีเครื่องมือเพื่อการดำรงชีพและการเกษตรสักกี่เปอร์เซนต์ และมี “อาวุธ” สักกี่เปอร์เซ็นต์ (อะไรจัดเป็น “อาวุธ” นับได้ยาก ซ้ำนับได้ก็ไม่รู้ว่าเป็นอาวุธไว้ล่าสัตว์หรือล่าคน ใช้ล่าสัตว์กลายเป็นเครื่องมือ ล่าคนถึงเรียกว่าอาวุธ แต่ทั้งสองอย่างก็ชิ้นเดียวกัน จะล่าอะไรอยู่ที่ใจคนถือ ใจไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในมีดที่ขุดค้นได้)

เพราะฉะนั้น ชุมชนเกษตรจึงตกเป็นเหยื่อที่ไม่ค่อยมีพิษภัยของชุมชนโจร ทรัพย์ของชุมชนเกษตรคืออาหารซึ่งโจรจะขนเอาไปมากนักไม่ได้ นอกจากนั้น ชุมชนเกษตรซึ่งอยู่ริมน้ำ ยังเป็นเหมือนเมืองท่าสำหรับการค้าด้วย จึงน่าจะมีของมีค่าในโกดังของพ่อค้าที่โจรปรารถนา ทรัพย์อย่างสุดท้ายคือกำลังคน ซึ่งโจรอาจเลือกจับเอาไปแลกเปลี่ยนหรือขายกับชุมชนอื่น จะเป็นชุมชนเกษตรหรือชุมชนโจรก็ได้ทั้งนั้น

เฉพาะอาหารหรือของมีค่า ทั้งสองฝ่ายอาจสร้างระบบที่ไม่ต้องสูญเสียมากนัก นั่นคือเปลี่ยนมันเป็น “บรรณาการ” เสีย ฝ่ายชุมชนเกษตรซึ่งต้องส่งบรรณาการย่อมยอมรับได้ง่ายกว่าที่จะถูกปล้น แต่การจับคนไปขายต่อเป็นทาสนี่สิ ที่จะแทรกเข้ามาในระบบบรรณาการได้ยาก เพราะส่งให้แต่คนแก่ก็ไม่ได้ แต่ผู้หญิงก็ไม่ได้ แต่ชายฉกรรจ์ก็ไม่ดี เพราะนี่คือแรงงานสำคัญของครอบครัวและชุมชน

สถานะที่เสียเปรียบอย่างนี้แหละครับ ทั้งๆ ที่มีทรัพย์ให้ขูดรีดได้มากมาย (อย่าลืมว่าชุมชนล่าสัตว์เก็บของป่า “ผลิต” อะไรได้ก็กินหมด ปล้นไม่ทัน) ก็คงเป็นช่องให้ชุมชนโจรที่ฉลาดบางแห่งเห็นว่า แทนที่จะปล้นแล้วขี่ม้าขนทรัพย์สินกลับซ่อง ก็ย้ายมาอยู่กับชุมชนเกษตรเสียเลย คอยเรียกเก็บผลผลิตด้านต่างๆ ไม่ว่าเกษตรหรือการค้า รวมทั้งเรียกเกณฑ์แรงงานไปใช้โดยไม่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูแรงงานนั้น น่าจะเป็นวิธีปล้นที่ได้กำไรที่สุด เพราะสูญเสียน้อยที่สุด

ชุมชนโจรที่ฉลาดเช่นนั้น ก็สร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ “รัฐ” ไงครับ เป็นเครื่องมือปล้นสะดมนิรันดรเลย

(ผมพูดเหมือนรัฐต้องเกิดจากภายนอกชุมชน ก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับ คนฉลาดอย่างนั้นในชุมชนก็มีเหมือนกัน ในอัคคัญสูตรของพุทธศาสนาเถรวาท เรียกว่าพระมหาสมมติ และไทยว่าเป็นพระโพธิสัตว์ด้วย)

 

ที่ผมพูดว่ารัฐคือโจรอีกกลุ่มหนึ่งที่ฉลาดเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ นั่นเอง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ที่เราเคยเข้าใจว่ารัฐเกิดขึ้นด้วยความจำเป็น เมื่อมนุษย์เจริญขึ้นระดับหนึ่ง รู้จักอยู่กันเป็นชุมชน ผลิตอาหารด้วยการเกษตรซึ่งทำให้ต้องอยู่ติดที่เคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เกิดปัญหาจากการมาอยู่ร่วมกันมากๆ โดยอาจไม่ได้เป็นญาติ (จริงๆ) กันเลย ในอัคคัญสูตรพูดถึงลักขโมยกัน ปล้นสะดมหรือเอารัดเอาเปรียบกันต่างๆ นานา จึงทำให้เกิดพระมหาสมมติและการปกครองขึ้น นี่ไม่ใช่ทฤษฎีพุทธเพียงอย่างเดียว ฝรั่ง แขก จีน ยิว ฯลฯ ก็คิดทำนองเดียวกันนี้ ผมอยากจะบอกแต่ว่า ทฤษฎีนี้ไม่มีหลักฐานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์รองรับ หลักฐานเท่าที่ขุดพบและตีความกันได้จนถึงบัดนี้ ก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแหละครับ คือรัฐแทรกตัวเข้ามาเมื่อชุมชนอยู่ได้สบายแล้ว ไม่ใช่เพื่อให้บริการใคร แต่เพื่อรีดเอาผลประโยชน์จากชุมชนก่อนรัฐไปเลี้ยงชนกลุ่มน้อยที่เป็นหัวหน้า จะทำอะไรก็อ้างว่าทำเพื่อรัฐหมด

รวมทั้งฆ่าคน, เก็บภาษี, เกณฑ์แรงงาน หรือทำสงคราม ก็อ้างว่าเพื่อรัฐ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยที่เป็นพรรคพวกกัน

แต่รัฐฉลาดกว่าโจรทั่วไป คือรู้ว่าปล้นตรงๆ ทำให้เกิดการต่อต้านในระยะยาว จะลุกขึ้นสู้หรือจะรวมกันหนี ย่อมเสียประโยชน์แก่รัฐทั้งนั้น เช่น ทำให้เก็บภาษีได้น้อยลง เกณฑ์แรงงานได้ไม่พอ เดี๋ยวก็จะถูกโจรฉลาดกลุ่มอื่นยกกำลังเข้ามายึดครองแทน เพราะฉะนั้น รัฐจึงต้องรู้จักทำให้การปล้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ปล้น

จะทำได้อย่างไร พูดกว้างๆ ก็คือใช้อุดมการณ์แทนกำลังอาวุธ เช่น ใช้กำลังอาวุธไปหนุน “ระเบียบ” ที่ชุมชนก่อนรัฐมีอยู่แล้ว โจรจึงเปลี่ยนไปเป็นรัฐ คือเป็นอำนาจที่มีประโยชน์ในชีวิตของประชาชน หากไม่มีรัฐแล้ว “บ้านเมือง” จะอยู่ได้อย่างไรในท่ามกลางความไร้ระเบียบ ต้องมีอำนาจที่ดี (หรือดีย์) ในการค้ำจุนระเบียบเอาไว้

นับวันอุดมการณ์ดังกล่าวก็ยิ่งสลับซับซ้อนขึ้น เพราะรัฐมีชุมชนเกษตร-พ่อค้าสำหรับเก็บภาษีและเกณฑ์แรงงานมากขึ้นทุกที จึงมีเงินเลี้ยงดูคนที่ไม่มีอาชีพถืออาวุธด้วย ที่เพิ่มพูนกำลังให้แก่รัฐเป็นอันมากก็คือกลุ่มกวี, ปัญญาชน, นักประวัติศาสตร์ ที่สามารถเล่าเรื่องเท็จให้เหมือนจริงได้ และที่ทำกลับกันคือเล่าเรื่องจริงให้เหมือนเรื่องเท็จได้ คือนักเขียน, นักการละคร, นักทำภาพยนตร์, ครูเพลง, ศิลปิน ฯลฯ

แต่อุดมการณ์ที่พัฒนาแล้วมันกินตัวเอง เพราะมันทำให้คนนอกวงการสามารถผลิตอุดมการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐขึ้นมาแข่งได้ด้วย รัฐทุกแห่งเคยพยายามควบคุมแหล่งผลิตกวี, ปัญญาชน, นักประวัติศาสตร์ และศิลปินมาแล้วทั้งนั้น สำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง แต่ล้มเหลวตรงที่ก็ยังมีคนนอกคอกหลุดออกมาจนได้ ต้องตามมาทำให้พวกนอกคอกไม่มีอำนาจ, ไม่มีใครฟัง, เป็นคนบ้า, เป็นผู้ลี้ภัย ฯลฯ ได้อย่างไรจึงแนบเนียน