มนัส สัตยารักษ์ : “ปฏิรูป” อันแปลว่า “ผ่าตัด”

 

หลังจากรับพระราชทานกระบี่และเริ่มรับผิดชอบตัวเองในหน้าที่พนักงานสอบสวน ผมเหมือนพยายาม “สอนตัวเอง” อย่างเข้มข้น

วิชาสอบสวนที่มีโอกาสได้เล่าเรียนมากับ “อาจารย์ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น และอีกหลายอาจารย์ ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งด้วยตัวเองจากเปเปอร์เก่าและความจำอันตกหล่น

ครั้งเป็น นรต. ฝึกงานอยู่ที่ สน.บางซื่อ ก็ได้สารวัตรสอบสวน (พล.ต.ต.อนุสรณ์ สุภานุสรณ์) อธิบายอย่างสรุปเข้าใจง่าย จดจำมาถึงวันนี้ว่า

“การสอบสวนคือ การรวบรวมพยานหลักฐานของข้อเท็จจริง แล้วปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อกฎหมาย”

เรื่องของ “ความจริง” หรือข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดของการจะตีความ หรือเล่าเรื่อง รายงาน หรือวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการให้ความเห็น และท้ายที่สุดคือการจะพิพากษาตัดสินว่าถูกหรือผิด

“ความจริง” ที่ว่านั้น สำหรับตำรวจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเข้าไป “คลุกคลี” จึงจะได้มันมา ได้มาแล้วต้องเอามากรองกับข้อมูลรอบข้างอีกชั้นหนึ่งจึงจะนับเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน

ส่วน “ความจริง” ที่จะกดให้ออกมาจาก “กูเกิ้ล” นั้นยังไม่มี

นายตำรวจหรือพนักงานสอบสวนมือใหม่ต่างได้รับความรู้ และเรียนรู้จากการทำงานของผู้บังคับบัญชาและรุ่นพี่ ส่วนประสบการณ์นั้นได้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง

จำได้ว่าเมื่อผมได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก (เมษายน 2502) เป็นรองสารวัตรสอบสวน สน.บางเขน ค่ำวันหนึ่งเกิดเหตุ “ปล้นทรัพย์” ซึ่งเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ขึ้นที่ตลาดห้องแถวฝั่งเยื้องตรงข้ามสนามบินดอนเมือง (ปัจจุบันขึ้นกับท้องที่ สน.ดอนเมือง)

เมื่อเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ ผู้บังคับบัญชาระดับ ผกก. หรือ รอง ผกก. ก็จะเดินทางมา สน. และ/หรือเดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วย

บทเรียนที่ได้จาก สน.บางเขน ก็คือ สวญ. ในขณะนั้น (พ.ต.ต.ตรึก แจ้งกระจ่าง) ระดมเรียกนายตำรวจที่อยู่ในโรงพักรวมทั้งผู้ที่เพิ่งออกเวร (คนที่ไม่มีที่พักใน สน. รอดตัวไป) ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ สอบถามปากคำผู้เสียหายพอสังเขป ถ่ายรูปและทำแผนที่ที่เกิดเหตุ เมื่อกลับมา สน. ได้นำผู้เสียหายและพยานในที่เกิดเหตุมาด้วยเพื่อดำเนินการในรูปสำนวนการสอบสวนโดยทันที

สวญ. ประชุมนายตำรวจพนักงานสอบสวนและตำรวจสายสืบ สรุปเหตุการณ์ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้มาให้ทุกฝ่ายรับทราบตรงกัน จากนั้นจึง “แจกงาน” ให้นายตำรวจแต่ละนายแบ่งกันไป “บันทึกปากคำ” ลงในกระดาษแบบฟอร์มคำให้การ

สรุปแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมงสำนวนคดีปล้นทรัพย์อันเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ก็พร้อมที่จะ “ไปต่อ” ตามทางที่ควรจะไปโดยไม่มีการบิดเบี้ยว

งานสอบสวนจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อยู่ที่การบริหารด้วยโสดหนึ่ง

จาก สน.บางเขน ผมถูกย้ายไป สน.มีนบุรี และ สน.หัวหมาก สน. ละประมาณ 1 ปี (ปี พ.ศ.2503-2504)

ทั้ง 2 สน. เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณไม่ถึงร้อยคนต้องรับผิดชอบท้องที่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนแต่ละอำเภอของต่างจังหวัดทีเดียว และต่างก็มีรองสารวัตรเพียง 2 นาย จึงต้องใช้วิธีเข้าเวรกันคนละวัน หรืออาจจะวันเว้นวัน ถ้าสารวัตรอ้างว่าติดราชการอื่น เช่น ไปเข้าเวรที่คณะปฏิวัติ อย่างที่ผมเคยประสบมาแล้วครั้งอยู่ที่ สน.มีนบุรี

ที่ สน.หัวหมาก มีคำสั่งให้สารวัตรไปเป็นหัวหน้าควบคุมอันธพาล/บุคคลเป็นภัยต่อสังคมที่เรือนจำลาดยาว

ที่ สน.หัวหมาก ยุคนั้นมี พ.ต.อ.วิเชียร แสงแก้ว (พล.ต.ท./ผบช.น.) เป็นผู้กำกับการ ท่านควบคุมและตรวจสอบการสอบสวนอย่างเข้มข้น ผมก็เท่ากับได้สอบผ่าน “ด่านหิน” ของวิชาการสอบสวน ไปโดยอัตโนมัติจาก 2 คดีใหญ่ และได้ “ตั๋ว” ไปอีกใบจาก 1 คดีเล็ก

คดีแรก คือเพลิงไหม้ตลาดหัวหมาก จะอยู่ตรงจุดไหนก็ยากที่จะชี้ได้ในเวลานี้ เพราะหัวหมากเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกแผ่นดิน จำได้แต่ว่าเป็นเรือนแถวริมคลองแสนแสบ และเนื่องจากเป็นเรือนไม้ เพลิงจึงลุกลามเป็นบริเวณกว้าง ผู้เสียหายหลายคน

ผมเป็นพนักงานสอบสวน (แต่คนเดียว) ต้องคุกเข่ากับพื้น แล้วจด-อ่าน คำให้การปากแรกตามคำบอกของท่าน ผกก.วิชียร ส่วนปากต่อๆ ไป ไม่ต้องมีคำบอก และผมแต่ผู้เดียวคุกเข่าสอบปากคำได้หมดในวันเดียวนั้นตามคำสั่ง

คดีที่ 2 ผมเคยเล่าแล้วในคอลัมน์นี้ถึงเรื่องที่ผม “อดกินข้าวไป 1 วัน”

เป็นคดีปล้นทรัพย์ และผมได้รับคำสั่งแบบเดิม… “สอบให้เสร็จคืนนี้ พรุ่งนี้เช้าเสนอผมตรวจที่กองกำกับการ” ผลการ “ตรวจ” ท่านได้สั่งสอบพยานผู้เสียหายเพิ่มเติมเพียงประเด็นย่อยๆ เพียงประเด็นเดียวว่า คนร้ายใช้อาวุธปืนขู่โดยเล็งมาที่ท้อง หน้าอก ผมค่อนข้างภูมิใจที่ไม่ถูก “แทง” (หรือคอมเมนต์) ในสำนวนการสอบสวนจากผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมือสอบสวนชั้นหนึ่ง

สำหรับคดีที่ทำให้ผมได้ “ตั๋ว” นั้นเป็นคดีอุบัติเหตุ รถบนถนนเบียดเท้าเด็ก

ถนนลาดพร้าวยุคพัฒนา (พ.ศ.2504) จากบริเวณหน้าที่ทำการเขตบางกะปิไปจนถึงแยกลาดพร้าว ได้รับการขยายจาก 2 เลนเป็น 8 เลน บริษัทผู้รับเหมาสร้างถนนได้ใช้รถบด “ตีนแกะ” (Sheep foot) บดทับให้พื้นถนนแน่นจนแข็ง

เด็กซนลูกชาวบ้านแถวนั้นคนหนึ่งไปป่ายปีนรถบดที่กำลังทำงาน เป็นเหตุให้ถูกตีนแกะเบียดเท้าจนต้องตัดปลายเท้าทิ้ง

การสอบสวนไม่มีปัญหาอะไรเลย นอกจากแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ยอมให้การ โดยอ้างว่ายังอยู่ในระหว่างรักษา ยังให้ความเห็นไม่ได้ เมื่อผู้บังคับบัญชาตรวจสอบกลายเป็นว่าพนักงานสอบสวนบกพร่อง ไม่สามารถทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด

เป็นเหตุให้ผมได้ “ตั๋ว” สลักหลังในหนังสือส่งตัวเมื่อย้ายไปภูธรว่า “ไม่ค่อยเอาใจใส่ในหน้าที่”

ที่เล่ามาข้างต้นนี้ ผู้อ่านที่สนใจการปฏิรูปตำรวจคงจะพอเดาออกว่าถ้าเราอยู่ในยุคนั้นเราควรจะปฏิรูปอะไรบ้าง เช่น…การบริหาร วิธีการตรวจสอบ และควบคุม, การกำหนดระยะเวลาของการสอบสวนให้เหมาะสม, การลดความยุ่งยากอันไม่จำเป็นและเป็นการเสียเวลาเปล่า เพิ่มกำลังพลพนักงานสอบสวนให้สอดคล้องกับปริมาณงาน และสวัสดิการของตำรวจ

ฯลฯ…ฯลฯ

สมัยนั้นเราคงจะยังไม่รู้จักคำว่าปฏิรูป รู้จักแต่คำว่า “ผ่าตัด” ก็จึงผ่าตัดให้ตำรวจและงานสอบสวนของตำรวจขึ้นอยู่กับ “การปกครอง” กระทรวงมหาดไทย

ผมซึ่งถูกสลักหลังว่า “ไม่ค่อยเอาใจใส่ในหน้าที่” หลงดีใจอยู่ไม่กี่วันก็ต้องกลับไปหน้าดำคร่ำเครียดกับงานสอบสวนตามเดิม เพราะฝ่ายปกครองไม่รับหรือรับไม่ไหว

มาถึงยุครัฐประหารหนนี้ใม่มีใครพูดคำว่า “ผ่าตัดตำรวจ” กันอีกแล้ว ต่างใช้คำว่า “ปฏิรูปตำรวจ” แทน เป็นยุคที่เราน่ารู้จักคำว่า “พัฒนา” หรือ “วิวัฒนาการ” และแน่นอน เรารู้จักคำว่า “คอมพิวเตอร์” หรือสารสนเทศ หรือความหมายของคำว่า “เทคโนโลยี” รวมทั้งเราตระหนักดีว่าเราอยู่ในยุค Thailand 4.0 แต่ก็ยังมีคนดันทุรังจะ “ผ่าตัด”

เขากำลังจะผ่าตัดงานสอบสวนออกจากตำรวจไปให้อัยการสูงสุดทำ เพราะว่าอัยการสูงสุดเป็นองค์กรที่ไม่มีใครควบคุมและตรวจสอบได้