“วิภาวดีรังสิต” ทางหลวงพิเศษมาตรฐานอเมริกัน จากพระนามหม่อมเจ้าหญิง

ปริญญา ตรีน้อยใส

พาไปมอง ถนนพหลโยธิน และ ย่านบางเขน มาแล้ว คงต้องพาไปมองถนนวิภาวดีรังสิตบ้าง นอกจากจะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ยังมีความเกี่ยวเนื่องกันหลายเรื่อง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนถนนพหลโยธิน ที่เดิมเป็นเพียงถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง ให้เป็นทางหลวงแผ่นดินไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อให้การสัญจรทางรถยนต์เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ต้องสัญจรทางรถไฟเท่านั้น

ในตอนนั้นรัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทั้งความรู้และเงินทุนในการก่อสร้างถนนหนทาง ที่จะรองรับปริมาณและความเร็วของยานพาหนะได้มากขึ้น

จึงเป็นที่มาของทางหลวงมาตรฐานสายแรกของไทย เริ่มจากกรุงเทพฯ ถึงโคราช ที่รู้จักกันดี คือถนนมิตรภาพ ซึ่งที่จริงต้องต่อท้ายว่า ไทย-สหรัฐอเมริกา โดยอาศัยแนวถนนพหลโยธินเดิม แต่จะไปแยกเลี้ยวขวาที่สระบุรี แทนเลี้ยวขวาเข้าถนนสุระนารายณ์ ลพบุรี-นครราชสีมา สายเดิม

 

แต่เมื่อไม่สามารถขยายผิวจราจรของถนน ช่วงเริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ จึงกำหนดแนวถนนใหม่ ไปเริ่มที่ดินแดงแทน ซึ่งในเวลานั้นบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้บริเวณทิ้งขยะห้วยขวาง จึงไม่มีผู้อยู่อาศัย

จากนั้นแนวทางหลวงใหม่จะคู่ขนานไปกับถนนพหลโยธินเดิม จากดินแดงไปจนถึงถนนแจ้งวัฒนะ ไปซ้อนทับกับถนนศรีสมสุข เดิมคือถนนแจ้งวัฒนะ-ดอนเมือง ที่ตัดขึ้นภายหลัง เมื่อแยกท่าอากาศย่านพาณิชย์ ออกจากกองทัพอากาศมาอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยนามนั้นมาจาก ร้อยตรีวงศ์ ศรีสมสุข

หลังจากเปิดใช้ถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 31 ในปี พ.ศ.2509 ทำให้การสัญจรทางถนนได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม ที่กลายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ เมื่อสหรัฐอเมริกาสร้างฐานทัพหลักในโคราช และฐานทัพย่อยหลายแห่งทั่วภาคอีสาน

 

แม้ว่าถนนวิภาวดีรังสิตจะเป็นทางหลวงพิเศษมาตรฐานอเมริกัน แต่เมื่อมีทางคู่ขนาน ที่เปิดให้เชื่อมทางได้ การพัฒนาพื้นที่สองข้างถนนจึงยังคงเหมือนถนนสายอื่นๆ

เริ่มตั้งแต่การขยายเป็นท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ ขยายเป็นที่ว่าการกรุงเทพมหานครใหญ่โตมโหฬาร รวมทั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม

กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เดิมเข้าออกด้านถนนพหลโยธิน ยังเปลี่ยนทางเข้าใหม่ และเพิ่มกิจการอื่น ตั้งแต่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก กองดุริยางค์ทหารบก สนามกีฬาและสโมสรกองทัพบก ศูนย์การค้าทหารบก ไปจนถึงวิทยาลัยเสนาธิการทหาร และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

เช่นเดียวกับกิจการตำรวจ ที่โยกย้ายมาอยู่ริมทางหลวง มีทั้งศูนย์ควบคุมจราจร สถานีตำรวจนครบาลวิภาวดี และโรงเรียนตำรวจบางเขน รวมทั้งสถานี (ตำรวจ) ดับเพลิง ลาดยาว และสุทธิสาร

สถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนพากันโยกย้ายตาม ตั้งแต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจักรพงษภูวนาถ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี และโรงเรียนมัธยมหอวัง

ยังมีที่ทำการศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันและโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลวิภาวดี

และอื่นๆ อีกมากมาย ที่มาโดยมิได้นัดหมายหรือมีการวางแผนไว้

 

การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และก่อสร้างอาคารสูงเรียงรายสองข้างทาง ทำให้พื้นที่ว่างที่เหลือกลายเป็นที่อยู่อาศัย ร้านค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ นำมาซึ่งปัญหาการจราจรทั้งทางพิเศษ และทางคู่ขนาน

ตามด้วยการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอยคนข้าม สะพานลอยข้ามทางแยก และทางยกระดับ

ในปี พ.ศ.2532 บริษัทเอกชนอาสาเข้ามาลงทุนสร้างทางยกระดับอุตราภิมุข จากดินแดงไปถึงรังสิต ในตอนแรก และไปถึงประตูน้ำพระอินทร์ ในเวลาต่อมา ซึ่งก็มีปัญหาคดีความวุ่นวายตามปกติ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ นามถนนหรือทางหลวงสายนี้ มาจากพระนามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต พระธิดาใน พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่สิ้นชีพิตักษัย จากการถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี ระหว่างเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปเยือนประชาชนในถิ่นทุรกันดารภาคใต้ ในปี พ.ศ.2520