กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (22) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (22)

 

หุซัยนฺ ฮัยกัล เขียน กิติมา อมรทัต

(หะยาตมุฮัมมัด) (ภาค 1 และ 2)

หุซัยนฺ ฮัยกัล เขียน กิติมา อมรทัต อุ่น หมั่นทวี (อดีตอาจารย์ประจำสาขาศาสนาเปรียบเทียบ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) และจรัญ มะลูลีม แปล (ในขณะที่แปลหนังสือเล่มนี้ผมทำงานอยู่ที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อิสลามิคอะคาเดมีจัดพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2537 จำนวน 2,000 เล่ม พิมพ์ครั้งที่ 2 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 1,500 เล่ม ปกอ่อน ราคา 240 บาท ปกแข็งราคา 260 บาท

สำหรับหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำอุทิศว่า แด่บรรดาผู้แสวงหาสัจธรรมเพื่อสัจธรรม

ในฐานะหนึ่งในผู้แปลผมมีความเห็นว่าส่วนที่สำคัญในการแนะนำเข้าสู่เนื้อหานั้นอยู่ที่บทนำ ซึ่งเขียนโดยอิบนุ อับดุลลอฮ์ อาลุชชัยค์ ประธานสมาคมยุวมุสลิมโลก รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุดมศึกษา ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย อิสมาอีล รอญี อัลฟารูกี นักวิชาการคนสำคัญของโลกมุสลิมจากมหาวิทยาลัย Temple มลรัฐฟิลาเดลเฟีย และมุฮัมมัด มุศเฏาะฟา อัลมะรอฆี นักการศาสนาจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร หรือที่ผู้คนเรียกเขาว่าชัยค์แห่งอัลอัซฮัร มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรของอียิปต์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาจากประเทศมุสลิมและประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาเล่าเรียนมากที่สุดของโลกถึง 105 ประเทศ

โดยทั้ง 3 คำนำทำให้รู้จักศาสดามุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรม จึงขอนำเสนอคำนำของทั้งสามท่านดังนี้

คำนำของหะซัน อิบนุ อับดุลลอฮ์ อาลุชชัยค์

 

หนังสือ หะยาตมุฮัมมัด ซึ่งเขียนโดย ดร.มุฮัมมัด หุซัยนฺ ฮัยกัล นั้นเป็นที่รู้จักดีแก่ผู้อ่านภาคภาษาอาหรับ อันเป็นชีวประวัติของอัครบรมศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ศาสนทูตผู้เลอเลิศ

ดังที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวไว้ว่า หนังสือนี้คือความพยายามอันใหม่ที่จะแสดงความจริงแท้ทางประวัติศาสตร์ของรายละเอียดแห่งชีวิตท่านศาสดา ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ รวมทั้งจะปฏิเสธคำกล่าวหาอันมดเท็จต่ออิสลามและศาสนทูตของอิสลามด้วยวิธีเดียวกัน

หนังสือนี้ได้วัตถุดิบมาจากแหล่งที่แท้จริง และเขียนด้วยจิตใจที่มิได้ถูกผูกมัดด้วยไสยศาสตร์ ความเขลาเบาปัญญา หรือความหวังลมๆ แล้งๆ

เราเชื่อใจว่าจะต้องมีงานวิจัยของนักวิชาการอื่นๆ หลายท่านติดตามมา เพราะนักการศึกษาภาคภาษาอังกฤษนั้น มีความต้องการอันจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีหนังสือที่ทำให้พวกเขาได้รู้แจ้งถึงลักษณะและประวัติศาสตร์ของอิสลาม

โชคดีเหลือเกินที่ความมีเหตุผลของอิสลามได้ต่อต้านความพยายามทั้งหลายที่จะทำให้ตัวท่านศาสดากลายเป็นพระเจ้าไปเสียเองนั้นไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงว่าไม่เคยมีใครได้รับความรักจากสาวกของตนมากมายเหมือนอย่างเช่นท่าน

แต่มุสลิมทั้งหลายก็ได้ปฏิเสธข้อแนะทุกอย่างที่กล่าวหาว่าท่านศาสดามีอำนาจหรือลักษณะพิเศษเหนือมนุษย์ในตัวของตัวเอง รวมทั้งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความเข้าใจในลักษณะของผู้ก่อตั้งหรือผู้นำของศาสนาอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถือว่ามีความเก่งกาจผิดมนุษย์แล้ว

การที่ชาวมุสลิมยังยึดถืออย่างแน่นแฟ้นว่าศาสดามุฮัมมัดคือมนุษย์นั้นนับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เป็นชัยชนะอย่างแท้จริงของเหตุผลทางประวัติศาสตร์ของมุสลิม

หนังสือนี้คือเครื่องบรรณาการแก่ทัศนคติอันสำคัญของชาวมุสลิมในเรื่องราวของศาสนาเช่นนี้

 

นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้การแสวงหาท่านศาสดามุฮัมมัดในทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่มิใช่เพียงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังสำเร็จตามวัตถุประสงค์อีกด้วย มันเน้นความสำคัญของหนังสือเล่มนี้และอวยพรให้แก่การค้นพบของมัน

เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ได้เชื้อเชิญให้มีการค้นคว้าวิจัยกันต่อไป และให้โอกาสมากขึ้น ก่อนที่มุสลิมจะเริ่มกลั่นกรองหะดีษ (คำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัด) ปากเปล่าและหะดีษที่เขียนไว้เกี่ยวกับท่านศาสดามุฮัมมัด

ชาวมุสลิมเหล่านั้นได้ทำงานนี้ด้วยจิตใจที่เชื่อโดยไม่หวั่นไหวว่าท่านศาสดามุฮัมมัดนั้นเป็นมนุษย์ โดยมั่นใจอย่างสมบูรณ์ในความสำเร็จแห่งภารกิจของท่าน โดยมีประวัติศาสตร์เป็นประจักษ์พยานอย่างเต็มที่

ความพยายามของชาวมุสลิมเหล่านี้นี่เองทำให้เกิดศาสตร์แห่งการวิพากษ์วิจารณ์หนังสือขึ้น

ประการแรก ไม่ว่าภาษา แบบอย่างการเขียน รูปฟอร์ม การรวบรวม และศัพท์ที่ใช้ในหะดีษทุกบทที่รายงานมานั้น จะต้องได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียด

ประการที่สอง เนื้อหาในด้านการสร้างความคิดของหะดีษทุกบท จะต้องได้รับการทดสอบอย่างสำคัญในเรื่องความคงเส้นคงวาอยู่กับร่องกับรอยทั้งภายในและภายนอก (นั่นคือเข้าร่องเข้ารอยกับตัวมันเองกับพระมหาคัมภีร์กุรอานกับหะดีษบทอื่นๆ และกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้หรือไม่) แล้วเนื้อหานั้นก็ต้องถูกทดสอบต่อไป ในเรื่องความตรงกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ และความมีเหตุผลและความสมเหตุสมผลหรือสอดคล้องอย่างเป็นระบบกับความเป็นจริง

ประการสุดท้าย อิสนาด (หรือคณะผู้รายงานหะดีษ) ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจสอบในเรื่องความถูกต้อง และข้อพิสูจน์ว่าเป็นจริง จึงทำให้เกิดอิลมุรริญาล หรือการตรวจสอบรายละเอียดของชีวิตส่วนตัวของสหายและบรรดาผู้อยู่ในสมัยเดียวกันกับท่านศาสดามุฮัมมัดอย่างละเอียด นับพันๆ คน

นี่คือ “การวิเคราะห์วิจารณ์” ของอิสลามซึ่งมีอยู่เมื่อพันปีมาแล้ว!

เป็นการค้นคว้าวิจัยทางตำรับตำราที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นไปตามความเป็นจริง

มิได้เสริมแต่งชนิดที่โลกไม่เคยเห็นหรืออาจจะไม่เคยมีอยู่ ทั้งๆ ที่ศาสตร์แห่งการวิเคราะห์วิจารณ์ในสมัยปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็ตาม ความละเอียดประณีตในเชิงวิชาการเช่นนี้

ทำให้อิสลามเป็นศาสนาที่มีการวิพากษ์ มีลักษณะของนักวิชาการและผู้ทันสมัยมาช้านาน ก่อนที่ความเป็นพระในศาสนาอื่นๆ (สำหรับฆราวาสนั้นไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว) จะบรรลุถึงมาตรฐานที่เล็กน้อยที่สุดในเรื่องการอ่านออกเขียนได้

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับมนุษยชาติทั้งหมด ที่จิตใจรักการวิพากษ์และจิตใจเชิงวิทยาศาสตร์เช่นนี้ได้หมดไปจากชาวมุสลิมพร้อมๆ กับความเสื่อมโทรมของพวกเขาเสียแล้ว

 

ช่างเป็นเรื่องที่น่าสดชื่นเสียนี่กระไร ที่ได้เห็นร่องรอยแห่งการตื่นขึ้นมาใหม่และความมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ของจิตใจแบบนี้ ซึ่งอิสลามอันเป็นผู้ชนะเลิศในเรื่องการเป็นศาสนาธรรมชาติและในความมีเหตุผลในศาสนา ได้ทำนุบำรุงมาหลายศตวรรษนี้ ปรากฏขึ้นมาในหนังสือเล่มนี้

ความสำเร็จของบรรพบุรุษของเรานั้นใหญ่หลวงนัก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำตัวให้มีค่าควรแก่บรรพบุรุษทั้งหลายเหล่านั้น

เราจะต้องรับประโยชน์จากความสำเร็จของท่านเหล่านั้น เมื่อได้รับความบันดาลใจจากตัวอย่างของบรรพบุรุษของเราแล้ว เราก็ควรที่จะต้องเคลื่อนไหวและปรารถนาที่จะทำให้เท่าเทียม และเหนือกว่าบรรพบุรุษให้ได้

หนังสือเรื่องหะยาตมุฮัมมัด ของ ดร.มุฮัมมัด หุซัยนฺ ฮัยกัล นั้นคือการก้าวไปในทิศทางนี้ได้อย่างดี

 

หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้สนใจที่คล่องภาษาอังกฤษได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับอิสลามและท่านศาสดา ที่เขียนอย่างมีอคติมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว การเขียนที่มีอคติเช่นนี้ได้กีดกันมิให้ผู้ที่มิใช่มุสลิมมีโอกาสที่จะได้รับแสงสว่างอันแท้จริงของวะหฺยุ (วิวรณ์) รวมทั้งการอำนวยประโยชน์ที่อิสลามสามารถเกื้อกูลแก่การแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางจิตใจและทางสังคมของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันได้

บัดนี้ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่อิสลามจะได้ออกเสียงต่อต้านพลังของความไม่นับถือพระผู้เป็นเจ้าและความนิยมวัตถุ ซึ่งทำให้มนุษย์ปัจจุบันนี้ตาบอดไปและทำลายความพยายามที่จะแสวงหาสัจธรรมของพวกเขาด้วย

อัลลอฮฺ (ศุบฯ) มิได้ทรงประสงค์ให้มนุษย์หลงทางไปในความสงสัยคลางแคลงใจหรือต้องเสื่อมเสียไปด้วยความอยุติธรรม ความแปลกแยกและความถือเผ่าถือพันธุ์

ตรงกันข้าม พระองค์ทรงประสงค์ให้มนุษย์ได้รู้ถึงความเป็นพี่น้องกันทั่วโลก โดยอาศัยความยุติธรรม สัจธรรม เกียรติภูมิและความเมตตาการุณย์ พระองค์ทรงประสงค์ให้เขาได้ทรงตัวอยู่อย่างสมดุล ทรงประสงค์จะนำเขาไปสู่สันติสุข ความกินดีอยู่ดีและความสุข

พระองค์ได้ตรัสไว้ในพระคัมภีร์ของพระองค์ว่า

“มนุษย์เอ๋ย! แท้จริงเราได้ให้กำเนิดสูเจ้าทั้งเพศชายและเพศหญิง และได้ทรงทำให้สูเจ้าเป็นก๊กเป็นเหล่าเพื่อสูเจ้าจะได้รู้จักกัน” (49 : 13)

“มนุษย์เอ๋ย! จงสำรวมตนต่อพระผู้อภิบาลของสูจ้า ผู้ได้ทรงบังเกิดสูเจ้าจากอินทรีย์หนึ่งและได้ทรงบังเกิดคู่ครองจากอินทรีย์นั้น และได้ทรงแพร่จากทั้งสองซึ่งผู้ชายและผู้หญิงมากมาย และจงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺ ผู้ซึ่งสูเจ้าต่างเรียกร้องต่อกันและกัน และจงรักษาความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเฝ้าดูสูเจ้าเสมอ” (4 : 1)

“แท้จริงบรรดาศรัทธาชนนั้นเป็นพี่น้องกัน” (49:10)

“แท้จริงอัลลอฮฺทรงสั่งสอนในเรื่องความยุติธรรม และการทำความดีและการบริจาคแก่ญาติสนิท และทรงห้ามจากการลามก สิ่งชั่วช้าและการฝ่าฝืน พระองค์ทรงตักเตือนสูเจ้าเพื่อสูเจ้าจะได้ระลึก” (16 : 90)

“มนุษย์เท่าเทียมดังกับซี่หวี”

“มนุษย์กับมุสลิมเปรียบเสมือนอาคารซึ่งยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน”

 

คุณค่าเหล่านี้ของอิสลาม แท้จริงเป็นคุณค่าอันเดียวที่สามารถจะช่วยมนุษยชาติให้พ้นจากความล่มจมได้ ชีวิตของท่านศาสดาคือทางนำและลูกกุญแจไขให้เห็นความจริง

ความประพฤติของท่านคือตัวอย่างสำหรับให้ทุกคนทำตามในทุกกาลเวลาและทุกสถานที่

แก่นแท้ของศาสนาที่มีเหตุผล และศาสนาแห่งสัจธรรมนั้นย่อมชี้ชวนและทำความมั่นใจให้แก่ศาสนิกนั้น ด้วยการแสดงให้เห็นเท่านั้น แต่การแสดงนั้นต้องเป็นไปอย่างซื่อสัตย์และจริงจังละเอียดทั่วถ้วน และมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นได้ อีกทั้งต้องเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาและเว้าวอนด้วย เป็นความเมตตาของอัลลอฮฺที่ท่านศาสตราจารย์อิสมาอีลรอญี อัลฟารูกี ได้แปลหนังสือเล่มนี้จนสำเร็จบริบูรณ์ ท่านเป็นนักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีความรู้และมีความผูกพันในอิสลามอย่างลึกซึ้ง

ผู้สมควรที่จะกล่าวถึงเท่าเทียมกันนี้ก็คือ สมาคมยุวมุสลิมโลก และสมาคมนักศึกษามุสลิมแห่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในการที่ได้มีส่วนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺได้โปรดนำทางพวกเขา รวมทั้งบรรดาองค์การและสถาบันทางวิชาการอิสลามอื่นๆ ทุกแห่งซึ่งอุทิศตนให้แก่อิสลาม และขอวิงวอนให้พระองค์ทรงช่วยเหลือพวกเขาในการทำงานเพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติด้วยเถิด

อัลลอฮฺพระองค์เดียวคือผู้ช่วยเหลืออนุเคราะห์เรา! พระองค์เท่านั้นทรงเป็นพยานให้แก่การปฏิบัติภารกิจของเรา และเป็นผู้พิพากษาการกระทำของเรา!

กรุงริยาฎ ซุลฮิจญะฮฺ ฮ.ศ.1395

หะซัน อิบนุ อัลดุลลอฮ์ อาลุชชัยค์

ประธานสมาคมยุวมุสลิมโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา

ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย