‘แล้ง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘แล้ง’

 

กลางเดือนธันวาคม

ผมตื่นขึ้นมาพบกับอุณหภูมิ 14 องศา ความเย็นที่พบทำให้ผมรู้ว่า ช่วงเวลาของความแล้งอย่างจริงจัง เข้าครอบครองผืนป่าแล้ว

ฤดูแล้ง อยู่ในป่าไม่ใช่ความน่ารื่นรมย์นักหรอก สภาพอากาศเย็นยะเยือก น้ำในลำห้วยเย็นเฉียบ ไม่อยากเคลื่อนย้ายไปไหนให้ห่างกองไฟ ผิวหนังแตกแห้ง ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยเห็บลมตัวจิ๋ว ที่จะฝังตัวอยู่ตามร่างกาย

ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ป่าน่ารื่นรมย์ แต่เป็นช่วงเวลาที่ “โรงเรียน” มีบทเรียนที่ดีน่าสนใจ หากจะทำความเข้าใจ และรับบทเรียนนี้ให้ลึกซึ้ง ไม่เพียงต้องใช้ชีวิตอยู่กับความไม่น่ารื่นรมย์นี้ให้ได้เท่านั้น

ที่สำคัญสุดคือ ฟัง, ดู ด้วยหูและดวงตา ที่มองผ่านหัวใจ…

 

สําหรับสัตว์กินพืช ดูเหมือนว่า ความยุ่งยาก และการดำรงชีพในฤดูแล้งนี้ ก็ไม่น่ารื่นรมย์นักเช่นกัน ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์มาแล้ว ช่วงรอยต่อของฤดูฝนกับฤดูแล้งก็ผ่านมาแล้ว การปรับตัวเพื่ออยู่กับความแห้งแล้ง ที่จะอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน ผ่านมาสักระยะ

ต้นไม้รู้เรื่องราวเหล่านี้ดี เมื่อความชื้นในอากาศลดลง ต้นไม้จะเริ่มเปลี่ยนสีใบ จากเขียวเป็นสีเหลือง, สีแดง หรือสีอื่นๆ ตามชนิดของสายพันธุ์ เช่น ต้นเต็ง เปลี่ยนใบเป็นสีเหลือง ต้นรัง เป็นสีแดง ต้นตะคร้อ เป็นสีส้มแสด ต้นกระโดน เป็นสีเลือดหมู

แน่นอนว่า ฤดูกาลเช่นนี้ เราเห็นป่าอยู่ในสภาพสวย งดงามทุกแห่งหนเต็มไปด้วยสีสัน

เราชื่นชมกับความงามเช่นนี้ กระทั่งอาจลืมความจริงในอีกมุมหนึ่ง นี่ย่อมเป็นความงามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทุกข์ยากของต้นไม้

มองเห็นเพียงความสวยงาม อาจทำให้ไม่เห็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นความจริง

ผ่านการปรับตัวไปสักระยะหนึ่ง สารคาโรทีนอยด์ อันทำให้ใบไม้เกิดเป็นสีต่างๆ จะสลายตัวไป ใบไม้เหลือแค่โครงร่างสีน้ำตาล รอเวลาที่จะร่วงหล่นพื้น

ใบไม้ทุกใบย่อมร่วงลงสู่พื้น ไม่ว่าจะอยู่บนลำต้นใหญ่, เล็ก, ต่ำ หรือสูงเพียงใด

 

ถึงตอนนี้ ป่าเหลือเพียงต้นไม้แห้งๆ ยืนเรียงราย บรรยากาศมัวซัว ไร้ชีวิต

แต่ดูเหมือนแมลง และนกหลายชนิดไม่คิดเช่นนั้น

เมื่อใบไม้ร่วงหมดต้น ไม้บางชนิดใช้เวลานี้ออกดอก อาศัยความหอมหวานของเกสรเชิญชวนแมลง และให้มาช่วยนำพาเกสรไปผสม แลกกับรางวัลคือ น้ำหวานหอมๆ

ต้นไม้ไม่มีใบ ลำต้นมักร้อนอบอ้าว เหล่าหนอนที่จะซ่อนตามเปลือกไม้ มักคลานออกมา นกจิกกินได้ไม่ยาก

ท่ามกลางความทุกข์ยาก มีชีวิตจำนวนหนึ่งได้ผลประโยชน์เสมอ

กวาง – ในฤดูแล้ง แหล่งน้ำที่เหลืออยู่จะเป็นที่ชุมนุมของสัตว์ป่า

สัตว์ต่างๆ ล้วนเตรียมตัวต้อนรับฤดูแล้ง ตั้งแต่ต้นไม้ส่งสัญญาณด้วยการเปลี่ยนสีใบ

พวกสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอกเตรียมคาบเมล็ดเข้าไปเก็บไว้ตามโพรง สะสมไว้ บางตัวเอาไปฝังใต้ดิน หากกินไม่หมด นี่เป็นการปลูกต้นไม้ดีๆ นั่นเอง

ลำห้วย, แอ่งน้ำ, ปลักเล็กๆ น้ำแห้งเหือดหมดแล้ว แหล่งน้ำที่เหลือ จึงคล้ายเป็นที่ชุมนุมของสัตว์

สัตว์กินพืช ลำบาก แต่สัตว์ผู้ล่าทำงานง่ายขึ้น เพียงเฝ้ารออยู่ตามแหล่งอาหาร อดทน รอให้เหยื่อพลาด

“ซาก” สัตว์กินพืช ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ บางตัวแผลเหวอะหวะ ชิ้นส่วนกระจายดูเป็นภาพน่าเวทนา แต่ความตายเพราะคมเขี้ยวของพวกมันไม่ใช่โศกนาฏกรรม ชีวิตหนึ่งดับสิ้น นั่นคือการทำงานของผู้ล่า

หากจะพูดว่า เมื่อมีสัตว์ตัวหนึ่งตาย เพราะงานของสัตว์ผู้ล่า คือเวลาเริ่มต้นงานเลี้ยง ดูจะไม่ผิดนัก นอกจากผู้ล่าแล้ว มีชีวิตอีกมากมายได้ใช้ประโยชน์จากซาก อย่างชะมด อีเห็น แมวดาว และอื่นๆ

พอซากเน่าเปื่อย บรรดาเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด อย่างกา, เหี้ย เริ่มเข้ามา

เนื้อหมดแล้ว เหลือเพียงกระดูก ถึงเวลาของเม่น มาจัดการกับกระดูกและเขา

ซากสัตว์ตัวหนึ่ง ไม่ได้ตายไปอย่างไร้ประโยชน์และว่างเปล่า

 

ฤดูแล้งในป่า เริ่มต้นราวเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ใบไม้เปลี่ยนสี เรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จึงสิ้นสุด เพราะช่วงนั้นเป็นเวลาที่ลมมรสุมจากมหาสมุทรพัดพานำไอน้ำเข้ามาในแผ่นดิน ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้นแล้ว อุณหภูมิร้อนจัดในรอบปี ความร้อนนี้จะพัดพายกอากาศและไอน้ำขึ้นไปในบรรยากาศกระทั่งไอน้ำสามารถรวมตัวเป็นฝนตกลงมา

ฝนตก ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต้นไม้ต่างๆ แตกตาจากตุ่มสีน้ำตาลเล็กๆ ผลิยอดเขียวๆ เป็นใบอ่อน ไม่นาน ป่าทั้งป่าก็เต็มไปด้วยสีเขียวสดใส

น้ำ อาหาร สำหรับสัตว์กินพืช กลับมาอีกครั้ง

ความสมบูรณ์ชุ่มชื้นเข้ามาแทนที่ ความแห้งแล้ง สัตว์ส่วนใหญ่ปรับตัว อดทน อยู่รอด

แน่ล่ะ มีไม่น้อย ไม่มีโอกาสได้พบ

 

ป่าในช่วงเวลา “แล้ง” เป็นบทเรียนที่ดี

เป็นบทอันสอนให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดถาวร

มีเวลาแห่งความสมบูรณ์

มียากลำบาก อิ่มหนำ และมีช่วงเวลาอดอยาก

และท่ามกลางความทุกข์ยากลำบาก มีผู้ได้ประโยชน์เสมอ

ปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ผลของมันคือความอยู่รอด ปิดใจ แข็งขืน ยืนหยัด ยกตนอยู่เหนือกฎเกณฑ์แห่งฤดูกาล

ดูเหมือนว่า วันพรุ่งนี้ จะมีเพียงความมืดมน •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ