ดราม่า “อาหารลดโลกร้อน” ชาวเน็ตคาใจ ข้อไหนถูก!?

เป็นดราม่าได้ทุกปี สำหรับการสอบเพื่อนำคะแนนไปเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และปี 2566 นี้ถือเป็นปีแรกที่มีการปรับข้อสอบ มาเป็นการสอบความถนัดทั่วไป หรือ TGAT และวิชาความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ TPAT ปีการศึกษา 2566 ซึ่งจัดสอบไปเมื่อวันที่ 10-12 และ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา…

สำหรับประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลาย จะเกี่ยวกับข้อสอบวิชา TGAT ที่จะมีการวัด การสื่อสารภาษาอังกฤษ 60 ข้อ 100 คะแนน, การคิดอย่างมีเหตุผล 80 ข้อ 100 คะแนน และสมรรถนะการทำงาน 60 ข้อ 100 คะแนน ใช้เวลาทำข้อสอบ 3 ชั่วโมง

ซึ่งนักเรียนที่เข้าสอบ ต่างมาติดแฮชแทก #dek66 และ #TGAT รีวิวการทำข้อสอบ จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในวันดังกล่าว

และคำถามที่หลายคน ไม่ใช่เพียงแต่คนที่เข้าสอบเท่านั้น จะคาใจ อยากได้เฉลย มีอยู่ว่า

เมนูใดต่อไปนี้สร้างก๊าซเรือนกระจกและส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยที่สุด
1. ข้าวราดไก่ผัดกระเทียมพริกไทย
2. ราดหน้าหมู
3. สเต๊กปลาแซลมอน
4. สุกี้ทะเลรวมมิตร

ซึ่งผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายได้เข้ามารีทวีตไปช่วยกันคิดหลายพันครั้ง โดยรายหนึ่ง และมาบอกเหตุผลของตัวเอง โดยหลายคนมองว่า ไม่เพียงแต่ต้องมองถึงกรรมวิธีในการทำ แต่อาจต้องมองถึงการเลี้ยงสัตว์ ที่จะมีคาร์บอน ฟรุตพรินต์ จำนวนมากด้วย อาทิ “สุกี้ทะเลมั้ยคะ เราคิดว่าเพราะผักเยอะ ไม่มีเนื้อสัตว์ (ที่อาจจะเลี้ยงในฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งปล่อยมลภาวะ) ส่วนแซลมอนเราคิดว่ามันนำเข้า ยานพาหนะที่ใช้นำเข้าอาจทำให้เกิดมลภาวะ”

หรือรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า “บอกเลยว่าข้อนี้เราเลือกจากสิ่งที่อยากกินที่สุดในตอนนั้น”

นำมาสู่การวิเคราะห์ ถกเถียงและตั้งคำถามถึงมาตรฐานข้อสอบของ ทปอ.

 

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบทีแคส ปีการศึกษา 2566 ของ ทปอ. ออกมาชี้แจงผ่านแถลงการณ์ของ ทปอ. ระบุว่า ข้อสอบนี้ออกโดยยึดหลักเกณฑ์การสร้างก๊าซเรือนกระจกมาตรฐานข้อโลก ซึ่งมีกำหนดไว้ชัดเจน รู้สึกยินดีที่ข้อคำถามดังกล่าวกระตุ้นให้มีการถกเถียงและทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการเลือกรับประทานอาหาร ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างก๊าซเรือนกระจก ตามหลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 13-Climate Action ของสหประชาชาติ

เพราะนอกจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ประหยัดพลังงาน การเดินทางโดยสาธารณะ การเลือกกินอาหารจากแหล่งในท้องถิ่น และการบริโภคอย่างพอเหมาะ แล้วการเลือกชนิดอาหารที่รับประทานก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยเช่นกัน

ข้อสอบดังกล่าวได้พัฒนาบนฐานความรู้ของการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของสังคม (Civic Engagement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competency) ในส่วนที่ 3 ของวิชา TGAT ซึ่งเป็นวิชาใหม่ที่จัดสอบในปีนี้เป็นครั้งแรก

ความมุ่งหวังประการหนึ่งของการพัฒนาระบบการสอบรูปแบบใหม่ ในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย คือการกระตุ้นให้ผู้เข้าสอบได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะอนาคตและทัศนคติที่ดี โดยกำหนดให้เป็นส่วนใหม่ของการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) เช่น การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การคิดเชิงวิพากษ์และการใช้เหตุผล การบริหารจัดการอารมณ์ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม และการเป็นผลเมืองที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาของสังคม

และหวังว่าการจัดการศึกษาในอนาคตและการพัฒนาตนเองของผู้เรียนจะเป็นไปในทิศทางดังกล่าวควบคู่ไปกับการเรียนรู้และประยุกต์เนื้อหาเชิงวิชาการตามหลักสูตรไปพร้อมกัน

 

แม้จะออกแถลงการณ์มารองรับเหตุและผลของข้อสอบ แต่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค ยังแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สรุปเฉลยคืออะไรครับ รออ่านเฉลยและเรียนรู้วิธีคิดเชิงวิพากษ์อยู่เหมือนกันครับ แต่ฟังข่าวดูเหมือนจะบอกว่า คำเฉลยเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ แอบเสียดายนิดหนึ่ง

“เอาจริงๆ เด็กที่ตอบข้อนี้ถูกมีสักกี่คนที่เข้าใจเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อ 13 ของ UN จริงๆ หรือแค่มั่วถูก…คนคิดคำถามเหมือนจำประสบการณ์ตัวเองไม่ได้ว่า ตอนเป็นเด็ก ม.ปลายเวลาทำข้อสอบไม่ได้ แล้วพวกเค้าจะทำยังไงกัน”

ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ทดลองตอบคำถามข้อนี้ โดยตอบว่า “ไก่ปล่อยก๊าซมีเทน หมูนั้นยิ่งเป็นตัวปล่อยเลย ส่วนปลาแซลมอน เป็นปลาฟาร์ม นำเข้าทางเครื่องบิน ปล่อยก๊าซเยอะเลย สุกี้ทะเลรวมมิตร น่าจะดีที่สุด”

โดย ผศ.ดร.ธรณ์บอกทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ตาม ผิดไม่รับประกัน”

หลายคนคงรอฟังคำเฉลยต่อไป…

แต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่ได้จากข้อสอบแนววิเคราะห์ เชื่อมโยงทำให้เกิดการถกเถียงทางวิชาการ ที่ไม่มีอคติ ซึ่งนอกจาก ทปอ.จะต้องออกมาเฉลยคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ควรมีคำอธิบายทางวิชาการที่ยอมรับได้อย่างกว้างขวางด้วย

เพื่อให้เห็นว่า ข้อสอบของ ทปอ.ได้มาตรฐานและคัดคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามสมรรถนะอย่างแท้จริง!