ราชอาณาจักรสยาม ได้ ‘สยาม’ จากสุพรรณ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ราชอาณาจักรสยาม” แห่งแรกของไทยคืออยุธยา เป็นนามที่นานาชาติเรียกรัฐอยุธยาหลังเจ้านครอินทร์ขึ้นเสวยราชย์ โดยได้ชื่อสยามจากดินแดนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง บริเวณรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวดองถึงสยาม-ลุ่มน้ำโขง

สยาม ตรงกับเอกสารจีนเรียกเสียน, เสียม มีความหมายต่างๆ ดังนี้

(1.) ชื่อเรียกพื้นที่ หมายถึงลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และรวมทั้งหมดฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องตอนบนของคาบสมุทร

(2.) ชื่อเรียกกลุ่มชน หมายถึงคนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” แต่พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง

(3.) ชื่อทางวัฒนธรรม หมายถึงบริเวณดินดำน้ำชุ่มหรือพื้นที่ลุ่มน้ำ (สรุปจากหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่าสยามมีต้นตอรากเหง้าเก่าแก่จากคำลาวว่าซำ, ซัม หมายถึงพื้นที่มีน้ำพุหรือน้ำผุดจากใต้ดิน ครั้นนานไปน้ำไหลนองเป็นหนองบึงขนาดใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าวทำนาทดน้ำ และผลิตข้าวได้มาก แล้วใช้เลี้ยงคนได้จำนวนมาก ในที่สุดตรงนั้นเติบโตเป็นบ้านเป็นเมือง

สยามเก่าสุด “ไม่ไทย” แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง หลักแหล่งลุ่มน้ำโขง มีศูนย์กลางการค้า-การเมืองอยู่เวียงจันท์ เป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินคร่อมสองฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรกเมื่อเรือน พ.ศ.1000 (เอกสารจีนเรียก “เหวินตาน”) มีความสัมพันธ์ทางการค้าและเป็นเครือญาติใกล้ชิดเชื้อวงศ์หลวงพระบาง (ชื่อเดิมว่าเชียงดงเชียงทอง) และโดยเฉพาะเป็นวงศ์ญาติใกล้ชิดกษัตริย์เมืองพระนคร (ที่โตนเลสาบ กัมพูชา) พบหลักฐานเป็นภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 (ข้อมูลชุดนี้ของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม)

“เสียมกุก” (ตรงกับ “เสียมก๊ก”) หมายถึงพวกสยามจากเวียงจันท์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายชนชั้นนำและข้าคนจำนวนหนึ่งล้วนนุ่งผ้า (แบบโสร่ง) แต่งขบวนเกียรติยศร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของวงศ์เครือญาติใกล้ชิดซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองพระนคร (นครวัด)

“เสียมกุก” ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เคยมีนักปราชญ์อธิบายเป็นอย่างอื่นมาก่อน ดังนี้

(1.) นักปราชญ์ชาวยุโรปอธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึง กองทัพสยามจากรัฐสุโขทัยที่ถูกอาณาจักรกัมพูชาเกณฑ์ไปช่วยรบกับจามปา (อยู่ในเวียดนาม) เพราะชื่อว่า “เสียม” คือ สยาม เป็นชื่อเรียกรัฐสุโขทัย แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุน ดังนี้

เรื่องแรก “เสียมกุก” เป็นภาพสลักถูกทำขึ้นราว พ.ศ.1650 ยังไม่มีรัฐสุโขทัย เนื่องจากพบหลักฐานว่ารัฐสุโขทัยสถาปนาขึ้นหลังจากนั้นเกือบ 100 ปี

เรื่องหลัง “เสียม” หรือ “เสียน” เป็นคำจีนในเอกสารจีนเรียกสยาม หมายถึง รัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ไม่ใช่สุโขทัย

(2.) จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า “เสียมกุก” หมายถึงสยามแห่งลุ่มน้ำกก จ.เชียงราย

แต่บริเวณลุ่มน้ำกก เมื่อ พ.ศ.1650 (ช่วงเวลาทำภาพสลักปราสาทนครวัด) ไม่พบหลักฐานเป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐจัดตั้งกองทัพ และกว่าจะเติบโตมีบ้านเมืองประกอบด้วยคูน้ำคันดินมั่นคงแข็งแรงก็หลังจากนั้นอีกนานเกือบ 100 ปี ดังนั้น “เสียมกุก” ไม่หมายถึงลุ่มน้ำกก

“ราชอาณาจักรสยาม” ที่ชาวยุโรปเรียกอยุธยา เป็นนามได้จากดินแดนสยาม-รัฐสุพรรณภูมิ พบในแผนที่เขียนโดยบาทหลวงปลาซิด เดอ แซ็งต์ เอแลน นักบวชชาวฝรั่งเศส [พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตรงกับสมัยพระนารายณ์ พ.ศ.2229 (ค.ศ.1686)]

สยาม จากลุ่มน้ำโขง ลงเจ้าพระยา

วัฒนธรรมและภาษาไทยของชาวสยามลุ่มน้ำโขง เคลื่อนไหวโยกย้ายตามเส้นทางการค้าดินแดนภายใน ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางของไทย บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี พูดสำเนียงลุ่มน้ำโขง แต่คนปัจจุบันฟังเป็นเหน่อ เป็นต้นเหตุ “สำเนียงเหน่อ”

ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในภาคพื้นทวีป มีต้นตอจากตระกูลภาษาไท-ไต ของกลุ่มจ้วง-ผู้ไท บริเวณพรมแดนจีน-เวียดนาม หรือกวางสี-ดองซอนราว 3,000 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นเคลื่อนไหวโยกย้ายพร้อมวัฒนธรรมสำริด, พิธีศพครั้งที่ 2, ทำนาทดน้ำ เป็นต้น ไปลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบภาษาไทยอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง-เพชรบุรี ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000 (ในวัฒนธรรมทวารวดี)

สำเนียงลุ่มน้ำโขง เป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากชาวสยาม “เสียมกุก” บริเวณเวียงจันท์ถึงหลวงพระบางพูดภาษาไท-ไต ด้วยสำเนียงลุ่มน้ำโขงสมัยนั้น (ที่รับมาจากตระกูลไท-ไต ของจ้วง-ผู้ไท บริเวณมณฑลกวางสีทางใต้ของจีน กับทางเหนือของเวียดนาม) ซึ่งน่าจะเป็นต้นตอสำเนียง “เหน่อ” ของภาคกลางเมื่อภาษาไทยของชาวสยามลุ่มน้ำโขงเคลื่อนที่ตามเส้นทางคมนาคมการค้าภายในถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วแพร่กระจายลงบริเวณคาบสมุทรถึงภาคใต้เป็น “สำเนียงใต้”

อยุธยาเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” แห่งแรกของไทย ชื่อ “สยาม” ได้จากบริเวณรัฐสุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง [รายละเอียดมีในหนังสือ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม” รวมบทความวิชาการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2565 ราคา 300 บาท]

สยาม เป็นคน “ไม่ไทย”

ภาษาไทยในภาคกลางของไทย เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้มีหนาแน่นบริเวณฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งหลักแหล่งปะปนกัน แต่มีกลุ่มหนึ่งพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง (ขณะที่ภาษามอญและภาษาเขมร เป็นภาษาทางราชการ ส่วนบาลี-สันสกฤต เป็นภาษาทางศาสนา) แล้วถูกเรียก “สยาม” ในรูปคำต่างๆ ได้แก่ สาม, สำ, เสม, เซียม เป็นต้น ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี) 1,500 ปีมาแล้ว หรือเมื่อเรือน พ.ศ.1000

[ข้อมูลมีมากในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาวและขอมฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519 และหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ ของ ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2538 หน้า 179-183]

สยามเป็นคน “ไม่ไทย” เพราะสยามไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารกับคนต่างภาษา มีเหตุจากสยามประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ที่มีภาษาพูดต่างๆ ของใครของมัน ซึ่งมักสื่อกันไม่เข้าใจและไม่รู้เรื่องทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีภาษากลางโดยเลือกใช้ภาษาไทยอันเป็นที่รับรู้กันว่าง่ายที่สุดในการใช้งานสื่อสารเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่มีสมัยนั้น

หลักฐานตัวอย่าง ได้แก่ ชาวปะโอ (หรือ ตองซู่) อยู่ในพม่า พูดภาษากะเหรี่ยง (ในวัฒนธรรมกะเหรี่ยง) เมื่อค้าขายทางไกลด้วยวัวต่างไปทาง “ไทใหญ่” ก็พูด “ภาษาไทใหญ่” ครั้นไปทางไทยในอีสานก็ปรับเปลี่ยนตนเองพูดภาษาลาว คนเหล่านี้ชาวอีสานรู้จักในชื่อ “กุลา” (เป็นต้นตอชื่อ “ทุ่งกุลาร้องไห้”) นานไปเมื่อได้ตั้งหลักแหล่งในอีสานแล้วกลายตนเป็นไทยสืบลูกหลานอยู่มาจนปัจจุบัน นอกจากนั้นชาวปะหล่องพูดตระกูลภาษามอญ-เขมรในรัฐฉาน (พม่า) มีอาชีพปลูกชาและขายใบชา ดังนั้น เพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ต้องพูด “ภาษาไทใหญ่” ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาไท-ไต-ลาว-ไทย

[ปรับปรุงใหม่โดยสรุปจากบทความเรื่อง “รัฐเจ้าเมือง” ข้อเสนอเรื่อง “รัฐ” ของคนไตในเวียดนาม โดย นิติ ภวัครพันธุ์ พิมพ์ในหนังสือฟ้าเดียวกัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2564) หน้า 57] •