ชีวิต ‘จีนจน’ : เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 (2) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ชีวิตคนจนยามน้ำท่วมพระนครถูกบันทึกไว้ว่า “คนจมน้ำ ตายบ้าง มีบ้างน้อย สัตว์ร้ายลอย มีแต่ข่าว อยู่ฉาวฉาน”

(พระยาอรรถศาสตร์ฯ,37)

 

ความทรงจำของเด็กสามย่าน

จากความทรงจำของ “เฮียเม้ง ป.ปลา” หรืออำพัน เจริญสุขลาภ (2484-) เขาเกิดในครอบครัวชาวจีนที่เคยอาศัยในชุมชนสามย่านด้านติดถนนพระราม 4 ตรงสถานเสาวภา (voicetv.co.th. สามย่านในความทรงจำ, 18 กันยายน 2560)

เท่าที่เขาจำความได้ครั้งวัยเด็กราวครึ่งหลังของทศวรรษ 2480-2490 “ตอนที่ผมเด็กๆ บ้านผมเป็นไม้ หลังคามุงจาก แค่ชั้นเดียว พื้นเป็นดิน กลางคืนเวลานอน จะเอาชั้นที่ทำจากไม้มาวางเป็นพื้น ปูเสื่อ กางมุ้ง ก่อนนอนก็ล้างเท้า เหมือนอยู่บ้านนอก” โดยทั่วไปบ้านแถวสามย่านนี้เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง ปลูกกันอย่างแออัด ไม่เป็นระเบียบ

สภาพบ้านเรือนแถวนี้มีถนนเป็นดิน และในช่วงต่อมาอีกนับสิบปีจึงมีความเจริญเข้ามาว่า “เมื่อก่อนเป็นบ้านไม้ แบบคนชนบทเขาอยู่กัน เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว ถนนซอยจุฬาฯ 15 เมื่อก่อนจะเป็นดิน แล้วผมโตขึ้นก็มีลาดยาง”

มีผู้บันทึกสภาพน้ำท่วมแถวสามย่านครั้งนั้นไว้ว่า “ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2485 เนื่องจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ถนนหนทางใช้ไม่ได้ ต้องอาศัยเรือจ้างหรือเรือบดเป็นพาหนะ ในบริเวณสนามหน้าหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน้ำท่วมสูงราวหนึ่งเมตรเศษ” (รอง ศยามานนท์, 2520, 179)

ใหญ่เล่าถึงชุมชนละแวกนั้นยามสงครามว่า “ผมยังจำได้แม่น เมื่อปี พ.ศ.2485 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และตอนนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็เข้ามาตั้งแถวๆ สวนลุมพินี สนามกีฬา ถนนสาธร วัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา และก็แถวหัวลำโพง” (ใหญ่, 89-91)

น้ำท่วมทำให้พืชผักจมน้ำจึงมีราคาแพง จนกระทั่งมีผู้บันทึกว่า น้ำท่วมปี 2485 ลำบากมาก อาหารต่างๆ มีราคาแพง โดยเฉพาะผัก ทำให้ชาวบ้านต้องนำผักบุ้ง สายบัว แม้กระทั่งต้นมะละกอ ถูกนำมาเป็นอาหารรับประทานกัน (ส.พลายน้อย, 2520, 376-377)

ดังนั้น หากเราลองจินตนาการระดับน้ำท่วมในเมืองที่อยู่ในระดับหัวเข่าในครั้งนั้นว่าจะสร้างความเสียหายเดือดร้อนให้กับเหล่าชาวชุมชนริมทางรถไฟสายปากน้ำ ที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวหลังคามุงจาก พื้นเรือนเป็นดิน แถบสามย่านอย่างไร

“เฮียเม้ง” ชาวชุมชนสามย่านเล่าเสริมว่า แต่เดิมพื้นบ้านเป็นพื้นดิน หลังคาจาก หลังคากระเบื้อง และหาก “ใครมีตังค์ก็มาลาดปูนซีเมนต์ เรียกว่าชีวิตพัฒนาขึ้นแล้ว พอหลังๆ จากหลังคาจากก็พัฒนาอีกก้าวหนึ่ง ซื้อหลังคาสังกะสี มุงหลังคาสังกะสี นี่เรียกว่า คนมีสตังค์แล้วถึงไปซื้อหลังคาสังกะสีมาจ้างเขามุง แล้วยกหลังคาให้สูงขึ้น ทำเป็น 2 ชั้น ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อก่อนเป็นบ้านชั้นเดียว” เขาเล่าต่อว่า ตอนนั้นผมยังเด็ก ที่ดินแถบนี้เป็นที่รกร้าง ใครอยากสร้างอะไรก็สร้าง

จากสภาพแวดล้อม จะเห็นได้ว่า ชุมชนในพื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ชายขอบของเมือง เป็นแหล่งพักพิงของแรงงานชาวจีนอพยพและเหล่าจีนจน ที่ไม่ไกลแหล่งการทำงาน ใกล้รางรถไฟสายปากน้ำหัวลำโพง ใกล้คลองหัวลำโพง จึงเป็นแหล่งพักพิงของคนจีนที่ไม่มีอันจะกินอย่างอาเสี่ยที่เยาวราช ราชวงศ์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยามน้ำท่วม 2485

ชีวิตจีนจนในชุมชนสามย่าน

เมื่อก่อนแถวชุมชนสามย่านไม่มีน้ำประปาใช้ ระยะแรกๆ สมัยที่ “เฮียเม้ง” ยังเด็กอายุ 4-5 ขวบราวปลายทศวรรษ 2480 นั้น ชาวบ้านยังหาบน้ำตามคูคลองมาบริโภค พอต่อมาจึงมีน้ำประปาต้องเอาปี๊บไปรองน้ำกลับมาบริโภค ช่วงหลัง เขาอายุ 8 ขวบราวต้นทศวรรษ 2490 ถึงมีน้ำประปามาถึงบ้าน

ขณะนั้น แถบสะพานเหลืองเป็นย่านอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น โรงงานกระจก โรงเป่าแก้ว โรงทอผ้า ย้อมผ้า ใกล้ชุมชนชาวจีนละแวกนั้น ซึ่งเป็นงานที่หนัก ที่ร้อน ยากลำบาก และแถวซอยจุฬาฯ สวนหลวง มีอู่รถรางขนาดใหญ่ สายวิทยุ-บางกระบือ (ใหญ่, 91)

ด้วยสะพานเหลืองมีสถานีรถราง ละแวกนั้นยังมีที่พักของกรรมกรรถรางด้วย ดังเพลงชื่อ กรรมกรรถราง ของคำรณ สัมบุณณานนท์ ที่แต่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 อันสะท้อนชีวิตกรรมกรรถรางในช่วงนั้นว่า

“ชีวิตน่าเบื่อเหมือนเรือไม่มีจุดหมาย หากินเลี้ยงกายด้วยขายตั๋วบนรถราง เหนื่อยยากแสนเข็ญใครเล่าจะเห็นมิเว้นวายขวาง โอ้ กรรมกรรถราง นี่ช่างเหมือนคนมีกรรม…เงินทุกๆ สตางค์ได้จากเหงื่อแรงกาย เมียยิ้มหน้าหวานใจสะท้านยื่นให้หมดเลย ชีวิตหมองหม่นเหมือนคนถูกสาป บาปหนา แสนทรมาน ยากหาความชื่น ชิดเชย ก้มหน้าทำไปก็ด้วยอาศัยความทนจนเคย โอ้กรรมกรนี่เอ๋ย ใครเลยจะได้เห็นใจ…”

ในปี 2471 โรงงานผลิตไม้ขีดไฟแห่งแรกขึ้น ชื่อโรงงานไม้ขีดไฟมินแซ ตั้งขึ้นบริเวณตำบลสะพานเหลือง ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ และมีโรงงานเล็กๆ เช่น โรงงานทำกระทะ โรงงานกระจกในซอยสองพระ เป็นต้น นอกจากนี้ แถวสะพานเหลืองมีโรงสูบยาฝิ่นด้วย

ชุมชนริมทางรถไฟกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ย่านรองเมือง สะพานเหลือง หน้าถนนบรรทัดทอง ถนนที่เห็นคือ ถนนพระราม 4 ทางรถไฟสายปากน้ำขนานไปกับคลองหัวลำโพง ด้านบนของภาพเห็นอาคารสีขาว น่าจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ

ต่อมา “เฮียเม้ง” เล่าว่า ชุมชนสามย่านฝั่งติดสถานเสาวภาถูกไฟไหม้ไปราว 2499 จากนั้น ชุมชนคนจีนส่วนใหญ่ย้ายออกไปอยู่คลองเตยและออกไปยังชานเมือง พระโขนง แถวซอยอ่อนนุช คนจีนมักจะจับกลุ่มกัน ไปอยู่ด้วยกันก็ไปสร้างบ้านจับกลุ่มกันเพราะพึ่งพาอาศัยกัน ที่ดินมุมถนนจึงถูกสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แทนในเวลาต่อมา

จากความทรงจำของคูจุ๊กเอี้ยง เจ้าของโรงงานทอผ้าย่านสามย่านเล่าให้ลูกหลานฟังว่า หลัง 2490 ชุมชนชาวจีนเรือนไม้สามย่านเริ่มถูกไล่รื้อ บ้างก็เกิดเพลิงไหม้ เมื่อเกิดพื้นที่ว่างเปล่า ต่อมามีการสร้างอาคารพาณิชย์ และอาคารของหน่วยราชการต่างๆ ขึ้นในเวลาต่อมา

พลนิกรกิมหงวน ตอนวายร้ายปล้นแบงก์ ได้พรรณนาสภาพชุมชนแถบตลาดสามย่านในช่วง 2500 ว่า เป็นแหล่งพักอาศัยของแรงงาน และเหล่ามิจฉาชีพ ที่มีเรือนแถวไม้ปลูกติดๆ กันแบบที่ลูกไก่บินไม่ตกหลังคา ส่วนมากเป็นที่อยู่ของชาวจีน หากเป็นคนไทยก็เป็นคนจน ถนนนี้มีพวกนักเลงอันธพาลอาศัยอยู่มาก

ต่อมา ในหลัง 2500 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำเนินการปราบปรามอันธพาล และการปราบฝิ่นอย่างหนัก ทำให้อันธพาลและโรงยาฝิ่นหายไปจากสังคม สังคมไทยก้าวเข้าสู่สมัยแห่งการพัฒนาภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร มีการถมคลองหัวลำโพงเพื่อขยายถนนพระราม 4 การยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำลง มีผลทำให้เขตเมืองขยายออกจากย่านเยาวราช ถนนสี่พระยา มาแถบพระราม 4 มากขึ้น

เหล่าคนจีนละแวกนี้จึงอพยพออกไปยังเขตชานเมืองในครั้งนั้นต่อไป

ภาพแสดงเรือนแถวไม้หลังคากระเบื้องว่าว ริมถนนพระราม 4 แถบสะพานเหลือง เครดิต : สาระภิรมย์
ทหารญี่ปุ่นที่สวนลุม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
การรองน้ำประปาของชุมชนชาวจีน ห้องแถวชั้นเดียวแห่งหนึ่งในใจกลางพระนคร

ไม้ขีดไฟที่ผลิตในประเทศ เครดิตภาพ : สิ่งพิมพ์สยาม สนพ.ริเวอร์ บุ๊คส์
ชุมชนริมทางรถไฟสายปากน้ำ แถบถนนบรรทัดทอง รองเมือง
หลังสนามกีฬาแห่งชาติ ปี 2489 แถบตำบลวังใหม่ สวนหลวงมีชุมชนบ้านเรือนไม้ทั่วไป