60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (จบ) การกักบริเวณที่คิวบา! | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (จบ)

การกักบริเวณที่คิวบา!

 

“มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่เชื่อว่าอาวุธคือเครื่องมือหลักในชีวิตของสังคม… ถ้ามนุษย์ไม่แสดงให้เห็นถึงปัญญาแล้ว ในท้ายที่สุด เราจะปะทะกันเหมือนตัวตุ่นตาบอด และการสูญพันธุ์ไปด้วยกันก็จะเริ่มต้นขึ้น”

Robert F. Kennedy (1962)

 

วันที่ 16 ตุลาคม 1962 คือจุดเริ่มต้นของ “วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่คิวบา”…

วันที่ 18 ตุลาคม ช่วงเย็นๆ สถานการณ์ดูจะแย่ลงมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองยืนยันว่า ขีปนาวุธแบบเอสเอส-4 ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว และพร้อมใช้งานในทางยุทธการภายในอีก 18 ชั่วโมงข้างหน้า (ซึ่งหมายความว่าขีปนาวุธนี้พร้อมใช้สำหรับการโจมตีได้ในระยะเวลาดังกล่าว)

ส่วนขีปนาวุธแบบเอสเอส-5 ที่มีระยะยิงไกลกว่า คาดว่าอาจจะพร้อมใช้ในทางยุทธการราวเดือนธันวาคม (ขีปนาวุธทั้งสองชนิดเป็นแบบพิสัยกลาง)

รายงานข่าวกรองดังกล่าวเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาวะพร้อมใช้ในทางยุทธการของขีปนาวุธโซเวียตเป็นภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์โดยตรงต่อสหรัฐ

ทำเนียบขาวจึงต้องแสวงหาแนวทางในการบริหารจัดการวิกฤตให้ได้

ทางเลือกในการใช้การโจมตีทางอากาศที่คิดว่าจะทำลายฐานยิงขีปนาวุธ พร้อมกับโค่นล้มคาสโตรและระบอบคอมมิวนิสต์ไปได้ในเวลาเดียวกันนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วอาจจะไม่สำเร็จจริงดังที่ “สายเหยี่ยวอเมริกัน” หวัง

แต่อาจจบลงด้วยสงครามนิวเคลียร์ เพราะไม่มีหลักประกันในเบื้องต้นว่า การโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐจะสามารถทำลายขีปนาวุธได้ทั้งหมดจริง

การแสวงหาหนทางปฏิบัติใน “การบริหารจัดการวิกฤต” (crisis management) จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

 

ทางเลือก

ในช่วงต้นของวิกฤต ประธานาธิบดีเคนเนดีมีแนวคิดไปในทางที่สนับสนุนต่อ “การชิงโจมตีก่อน” (preemptive strike) เพราะมองในทางทหารว่า การใช้การโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ (all-out air offensive operations) จะทำลายเป้าหมายที่ต้องการได้ และการใช้กำลังนี้จะต้องโจมตีหลายร้อยเที่ยวบิน

แต่อาจจะมีขีปนาวุธราวร้อยละ 10 เหลือรอดจากการโจมตี และใช้โจมตีตอบโต้กับเป้าหมายที่เป็นเมืองของสหรัฐได้

ถ้าเลือกแนวทางเช่นนี้แล้ว ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งจะยกระดับขึ้นเท่านั้น หากจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตของประชาชนของทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมากด้วย

ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการใช้กำลังทางอากาศจึงพยายามเตือนเคนเนดีในประเด็นดังกล่าว และอาจทำให้สหรัฐกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในเวทีโลกได้ด้วย เพราะเป็นฝ่ายที่ใช้กำลัง “รังแก” ประเทศเล็ก

ในกรณีนี้ รัฐมนตรีสองกระทรวงหลัก คือต่างประเทศและกลาโหม มีความเห็นไปในทางเดียวกัน และมองว่าทางเลือกของผู้นำทหารไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงพยายามผลักดันทางเลือกใหม่ที่เป็น “การปิดล้อมทางทะเล” (naval blockade) เนื่องจากเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสหรัฐที่จะปิดกั้นการลำเลียงขีปนาวุธโซเวียตและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ มายังคิวบา

และจะเป็นโอกาสของการหลีกเลี่ยงเงื่อนไขสงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ 2 ฝ่ายอีกด้วย

อีกทั้งแนวทางเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแสดงออกอย่าง “แข็งกร้าว” จนทำให้สหรัฐเสียการสนับสนุนในเวทีโลก

ในที่สุดแล้ว คณะที่ปรึกษา (ExComm) ยอมรับต่อการสร้าง “แนวปิดล้อมทางทะเล” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปิดเส้นทางการขนส่ง และจะทำให้โซเวียตไม่สามารถส่งขีปนาวุธมายังคิวบาได้

กล่าวคือ เรือที่เดินทางเข้าสู่น่านน้ำคิวบาจะถูกสั่งให้หยุดและจะถูกตรวจค้นโดยกองทัพเรือสหรัฐ

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “อำนาจในยามสงคราม” ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทุกฝ่ายยอมรับว่า ทางเลือกนี้น่าจะไม่นำไปสู่การ “เผชิญหน้า” และอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐซื้อเวลา เพื่อให้ทำเนียบขาวพิจารณาถึงทางเลือกในการบริหารจัดการวิกฤต

อีกทั้งยังเป็นความหวังว่า ทางเลือกนี้จะช่วยลดเงื่อนไขสงคราม ด้วยการ “เปิดทางถอย” ให้แก่ประธานาธิบดีครุสชอฟ

เข็มมุ่งในการแก้ปัญหาวิกฤตของทำเนียบขาวมีความชัดเจนที่ต้องการให้ผู้นำโซเวียตแสวงหาทางออกอย่างสันติ อีกทั้งทางออกเช่นนี้จะต้องไม่ทำลายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของโซเวียต และยังจะต้องช่วย “รักษาหน้า” ของผู้นำโซเวียตด้วย โดยผลที่ออกมาจะต้องไม่ใช่การฉีกหน้าครุสชอฟ

ซึ่งน่าสนใจว่าแนวทางการแก้ปัญหาของเคนเนดีไม่ใช่การ “เอาชนะแบบแตกหัก” เหมือนดังที่เคนเนดีผู้พี่กล่าวกับน้องชายของเขาว่า

“นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั่งอยู่ที่บ้านกล่าวสุนทรพจน์อย่างเต็มที่ถึงหลักการและประเด็นต่างๆ พร้อมกับตัดสินใจนโยบาย แต่ขณะเดียวกันก็นั่งรับประทานอาหารเย็นกับภรรยาและครอบครัว ในขณะที่คนกล้าและคนหนุ่มต้องไปตาย… ชาวรัสเซียเองก็ไม่ต้องการเข้าสู่สงครามไม่แตกต่างจากพวกเรา [ชาวอเมริกัน] พวกเขาไม่ต้องการทำสงครามกับพวกเรา เช่นที่พวกเราก็ไม่ต้องการทำสงครามกับพวกเขา”

 

เขตกักกันที่คิวบา

การใช้คำว่า “การปิดล้อมทางทะเล” อาจดูเป็นประเด็นร้ายแรง เนื่องจากมีข้อกำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศถึงการใช้อำนาจของรัฐในยามสันติ ฉะนั้น ExComm จึงหลีกเลี่ยงคำว่า “Naval Blockade” ด้วยการใช้คำว่า “Quarantine” อันมีความหมายถึง “การกักบริเวณคิวบา”

หรือโดยนัยคือ การสร้าง “แนวสกัดกั้น” [ขอไม่ใช้คำว่า เขตกักกันเชื้อโรคที่คิวบา] อันมีความหมายอีกส่วนถึงการโดดเดี่ยวคิวบาออกจากการส่งขีปนาวุธของโซเวียต

แต่กระนั้นก็ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า การปิดล้อมนี้จะจบลงด้วยความสำเร็จที่ทำให้โซเวียตตัดสินใจถอนขีปนาวุธของตนออกไปจากคิวบา

การตัดสินใจในการแสวงหาทางเลือกไม่ได้มีความหมายกับการเมืองภายใน ซึ่งกำลังมีการเลือกตั้งกลางเทอมของอเมริกันเท่านั้น หากยังต้องเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นๆ ในเวทีโลกอีกด้วย

เพราะการตัดสินใจย่อมมีผลกระทบต่อพันธมิตรของสหรัฐ โดยเฉพาะโซเวียตจะตอบโต้การปิดล้อมคิวบาด้วยการกดดันปิดล้อมเบอร์ลินมากขึ้นหรือไม่

หรือในอีกด้านถ้าเกิดปัญหาขึ้น โซเวียตจะเปิดการโจมตีตุรกี ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานยิงขีปนาวุธของสหรัฐ ที่เล็งเป้าหมายไปยังรัสเซียโดยตรง (สถานะของตุรกีและคิวบาจึงไม่แตกต่างกันในการเป็นฐานยิงขีปนาวุธของรัฐมหาอำนาจแต่ละฝ่าย)

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐมหาอำนาจต้องตระหนักเสมอว่า สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ในการบริหารจัดการวิกฤตคือ “การคิดคำนวณที่ผิดพลาด” (miscalculation) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

และยังอาจมาพร้อมกับ “ความเข้าใจที่ผิดพลาด” (misunderstanding) ที่เกิดได้ตลอดในช่วงวิกฤต ซึ่งในภาวะที่เป็น “วิกฤตนิวเคลียร์” เช่นนี้ ปัจจัยทั้งสองดังกล่าวอาจนำไปสู่สงครามใหญ่ได้ไม่ยาก

หลักการของทำเนียบขาวในด้านหนึ่งจึงส่งสัญญาณว่า สหรัฐไม่ต้องการทำสงครามกับโซเวียต

ขณะเดียวกันก็ “พยายามทุกวิถีทางที่จะมีพื้นที่ให้กับฝ่ายตรงข้ามได้เดิน (อีกทั้ง) ไม่ต้องการผลักดันรัสเซียเกินความจำเป็น”

หรือที่โรเบิร์ต เคนเนดี กล่าวไว้ว่า การดำเนินการของสหรัฐจะต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกกับผู้นำโซเวียตว่า พวกเขาจำเป็นต้อง “ยกระดับการตอบโต้” อันจะทำให้การแก้ไขวิกฤตเป็นไปได้ยาก

การออกมาตรการปิดล้อมคิวบาเช่นนี้ ด้านหนึ่งจึงเป็นเสมือนกับ “การวัดใจ” ผู้นำทั้งสองฝ่ายในการที่จะต้องควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องให้ได้

เดิมการกำหนดแนวปิดล้อมนี้ไกลจากคิวบา 800 ไมล์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่กองทัพเรือสหรัฐกำหนดขึ้น เพื่อให้มีระยะไกลเกินกว่าที่เครื่องบินรบแบบมิกจะบินเข้าโจมตีเรือเหล่านี้ได้

แต่เคนเนดีให้ลดลงเหลือเพียง 500 ไมล์ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นว่าสหรัฐประกาศพื้นที่การปิดล้อมกว้างเกินไป

ปัญหาสำคัญยังคงเป็นว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้ากัปตันเรือขนส่งของโซเวียตไม่ยอมรับแนวปิดล้อม และพยายามข้ามเส้นนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังคิวบา

ความเครียดที่สุดในห้องของ ExComm คือการค้นพบว่าเรือโซเวียตกำลังเดินทางเข้าใกล้เส้นปิดล้อมที่ถูกกำหนดขึ้น อีกทั้งเครื่องบินลาดตระเวนได้ถ่ายภาพฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตจากทางอากาศ พบว่าฐานยิงดังกล่าวน่าจะใช้เวลาอีกไม่กี่วันก็น่าจะเสร็จ และขีปนาวุธจะใช้งานในทางยุทธการได้จริง เพราะถ้าผู้นำทำเนียบขาวไม่ทำอะไรเลย เขาอาจถูกเสนอให้ปลดออกจากตำแหน่งได้ (impeachment)

แล้วความท้าทายที่สำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อเรือสินค้ารัสเซีย 2 ลำ (เรือ Gagarin และ Komiles) เดินทางเข้าใกล้แนวปิดล้อมอย่างมาก และระหว่างกลางของเรือสองลำนี้ยังมีเรือดำน้ำโซเวียตดำอยู่ตรงกลางด้วย

ทำเนียบขาวจึงสั่งการให้เรือบรรทุกเครื่องบิน (USS Essex) เตรียมพร้อม และกองเรือบรรทุกเครื่องบินนี้มีเฮลิคอปเตอร์พร้อมระเบิดน้ำลึกติดตั้งอยู่เป็นเครื่องมือสนับสนุน…

นาทีนับจากนี้จึงมีนัยถึงความเป็นความตายของโลกที่อาจนำไปสู่การกำเนิดของสงครามนิวเคลียร์

ความยากที่สุดก็คือ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่านับจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะจะเกิดการปะทะระหว่างเรือรบอเมริกันกับเรือดำน้ำโซเวียตหรือไม่

หากเกิดการใช้อาวุธระหว่างเรือสองฝ่ายแล้ว ทำเนียบขาวประเมินว่าโซเวียตอาจตัดสินใจ “ปิด” เบอร์ลิน (เหมือนอย่างกรณีการปิดล้อมเบอร์ลินในปี 1948)

พร้อมกันนี้ได้สั่งให้เตรียมรับสถานการณ์ทางทหารในเบอร์ลิน ขณะเดียวกันก็หาทางติดต่อสื่อสารกับผู้นำโซเวียต เพื่อยืนยันถึงความต้องการของสหรัฐที่จะหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ให้ได้

ภาวะเช่นนี้ยืนยันให้เห็นว่า แม้ผู้นำสหรัฐจะเป็น “ผู้ริเริ่ม” เกมปิดล้อม แต่เมื่อเกมเดินแล้ว ใช่ว่าทำเนียบขาวจะควบคุมได้ทั้งหมด

เหตุการณ์นี้กำลังชี้ให้เห็นว่า ชะตากรรมของโลกกำลังแขวนไว้กับ “การตัดสินของผู้นำทั้งสอง” ที่เป็นผลของสถานการณ์ในพื้นที่อย่างมาก และก็ไม่มีใครกล้าเดาใจผู้นำโซเวียตอีกด้วย

 

จุดสิ้นสุด

ความตื่นเต้นสุดๆ เกิดในตอนสายราว 10:30 น. ของวันที่ 27 ตุลาคม รายงานข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐแจ้งว่า เรือโซเวียตบางลำได้จอดสนิทอยู่กลางทะเลแคริบเบียน ทำเนียบขาวตรวจสอบจนทราบชัดว่า เรือโซเวียต 20 ลำจอดสนิทนิ่งก่อนถึงแนวเส้นปิดล้อม

และกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันได้รับคำสั่งห้ามกระทำการใดๆ โดยเด็ดขาด และให้โอกาสเรือโซเวียตที่จะกลับลำ แล้ววิกฤตนิวเคลียร์คิวบาก็เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย

วิกฤตอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ เช่นนั้น การจัดการของทำเนียบขาวยังมีรายละเอียดของสถานการณ์จริงที่ท้าทาย…

เรือดำน้ำของโซเวียตจำนวน 6 ลำเดินทางจากแอตแลนติกมุ่งหน้าสู่คิวบา เรือขนส่งโซเวียตบางลำจอดรอที่แนวเส้นปิดล้อม

พร้อมกันนี้กองเรือรบอเมริกันเต็มพิกัดเตรียมพร้อมอยู่ในทะเลแคริบเบียน และเป็นการประกอบกำลังทางทะเลขนาดใหญ่ของสหรัฐ ได้แก่ เรือพิฆาต 25 ลำ เรือลาดตระเวน 2 ลำ เรือดำน้ำหลายลำ และเรือบรรทุกเครื่องบิน พร้อมเรือสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยการสื่อสารอย่างใกล้ชิดระหว่างสองผู้นำ ในที่สุดผู้นำมอสโกตัดสินใจยุติการสร้างฐานยิงขีปนาวุธที่คิวบา พร้อมกับคำรับรองของผู้นำวอชิงตันที่จะไม่เปิดการโจมตีหรือบุกคิวบา ในเวลาต่อมา สหรัฐก็ตัดสินใจปิดฐานยิงขีปนาวุธของตนในตุรกี

วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาจบลงแบบ “win-win” และเป็นข้อคิดอย่างดีให้แก่คนยุคหลังที่ต้องกลับมาเผชิญ “วิกฤตนิวเคลียร์” ในสงครามยูเครนปัจจุบัน!