ผลนิด้าโพล ประยุทธ์-รวมไทยสร้างชาติ โอกาสได้เป็นรัฐบาล ‘น้อย’ ซูเปอร์โพลชู ‘อนุทิน’ มาแรง

การเมืองร้อนแรงขึ้นตามลำดับหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสูตรคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อยู่ระหว่างนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ระหว่างรอกฎหมายมีผลบังคับใช้ หลายพรรคการเมืองต่างเคลื่อนไหวเตรียมความพร้อมทั้งนโยบายหาเสียง และการจัดวางตัวผู้สมัคร

รวมถึงการขยับขยายย้ายพรรคของบรรดานักการเมือง ส.ส.และอดีต ส.ส. ที่มีทั้งย้ายตามกระแส ย้ายตามกระสุน ย้ายตามอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือไม่ก็ย้ายเพราะจำเป็น เนื่องจากพรรคเดิมไม่เหลือพื้นที่ให้ จึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาพื้นที่ให้ตัวเองด้วยการย้ายไปอยู่พรรคอื่น

ขณะที่พรรคการเมืองยังคงแบ่งออกเป็นสองขั้วใหญ่ คือ ขั้วอำนาจปัจจุบัน ได้แก่ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ ที่กำลังเป็นกระแสจับตาเนื่องจากมีการระบุว่าคือพรรคนั่งร้านใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการกลับคืนสู่อำนาจหลังเลือกตั้ง ส่วนอีกขั้วคือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย กับก้าวไกล

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ยังได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคที่ชนะอันดับ 1 อาจไม่ได้ตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ใช่พรรคที่ชนะ รวมถึงสูตรการเมืองที่ว่า พรรคใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจับมือกับพรรคใหญ่ฝ่ายอำนาจปัจจุบัน ก็ถูกนำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้เช่นกัน

ล่าสุดศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-9 ธันวาคม 2565 จากจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ 6 พรรคกับโอกาสได้เป็นรัฐบาล

จากการสำรวจเมื่อให้ประชาชนวิเคราะห์ถึงโอกาสที่พรรคการเมืองทั้ง 6 พรรค ซึ่งกำลังมีกระแสข่าวการไหลเข้า-ออกของนักการเมืองจะได้เป็นรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า

พรรคเพื่อไทย (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว/น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) ร้อยละ 40.38 ระบุ โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 32.44 ระบุ ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 16.88 ระบุ โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 8.24 ระบุ ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

พรรคก้าวไกล (นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ร้อยละ 31.45 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 30.23 ระบุ โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

พรรคพลังประชารัฐ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ตัวอย่างร้อยละ 33.51 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 32.60 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 20.38 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 10.76 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

พรรครวมไทยสร้างชาติ (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค/พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ร้อยละ 43.12 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 31.45 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย ร้อยละ 15.73 ระบุ โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 5.73 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

พรรคภูมิใจไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ร้อยละ 39.16 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 30.84 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 21.60 ระบุ โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 4.96 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ร้อยละ 40.69 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 38.93 ระบุว่า ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 13.20 ระบุว่า โอกาสได้เป็นรัฐบาลค่อนข้างมาก ร้อยละ 4.58 ระบุว่า ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

 

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นต่อกระแสข่าวข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบร้อยละ 45.65 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ โอกาสเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน

รองลงมา ร้อยละ 29.24 ไม่ค่อยเชื่อ เพราะทั้งสองพรรคต่างต้องการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของตนเองจึงไม่น่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้

ร้อยละ 16.64 ค่อนข้างเชื่อ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองพรรคจะตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

ร้อยละ 5.19 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยเคยมีความสัมพันธ์กันในอดีต จึงอาจมีการหารือเพื่อตกลงเรื่องผลประโยชน์หากได้เป็นรัฐบาลร่วมกัน

ช่วงเดียวกัน สำนักวิจัย “ซูเปอร์โพล” เสนอผลสำรวจเรื่อง “เปิดใจคนไทย อนาคตการเมือง” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,028 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเชื่อมั่นช่วยแก้ปัญหาปากท้อง รายได้ และปัญหาหนี้สินของประชาชนได้ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 50.7 เชื่อมั่นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

รองลงมา ร้อยละ 47.2 เชื่อมั่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 46.4 เชื่อมั่นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 19.8 เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และร้อยละ 17.6 เชื่อมั่น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

ที่น่าพิจารณาคือ อะไรที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.8 ระบุปัญหาเดือดร้อนที่กำลังเจอมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง

รองลงมา ร้อยละ 56.9 ระบุ พรรคการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง ร้อยละ 52.0 ระบุ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคการเมือง ร้อยละ 51.8 ระบุ นโยบายพรรคการเมืองที่บอกประชาชน และร้อยละ 46.7 ระบุ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงผู้นำพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล และทำได้จริงตามที่พูด ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 47.8 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล และทำได้จริงตามที่พูด

รองลงมา ร้อยละ 44.9 ระบุ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 44.4 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขณะที่ร้อยละ 17.2 ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และร้อยละ 14.5 ระบุเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนกำลังเจอ เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกตั้ง

โดยพบว่าปัญหาที่เดือดร้อนคือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพ ดังนั้น ปัญหาหนี้สิน พักหนี้ ปลดหนี้ จึงเป็นความต้องการสำคัญอันดับต้นๆ

ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อมั่นต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล สูงเป็นอันดับ 1 ไล่เรียงรองๆ ลงไปคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีสัดส่วนฐานสนับสนุนสูงทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้เมื่อถามถึงผู้นำพรรคการเมืองที่มีโอกาสจะเป็นรัฐบาล และทำได้จริงตามที่พูด พบว่า อันดับแรก ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองลงไปคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีสัดส่วนฐานสนับสนุนทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน

ย้อนดูสถานการณ์พรรคการเมือง 5+1 พรรคหลัก บวกหนึ่งหมายถึงรวมไทยสร้างชาติ พรรคตั้งใหม่ แต่นิด้าโพลนำมาใส่ไว้ในแบบสำรวจครั้งล่าสุด ผลเป็นอย่างที่เห็น มีทั้งแตกต่างและสอดคล้องกับซูเปอร์โพล โดยเฉพาะประเด็นคะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลดต่ำลง ประเด็นนี้สร้างความกังวลให้ฝ่ายอำนวจ เช่นเดียวกับการพบว่า พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลแน่นอน เพียงแค่ร้อยละ 5.73 สวนทางเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 43.12 เชื่อว่าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

เมื่อประกอบรวมเข้ากับความคลุมเครือไม่ชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้กลุ่ม ส.ส.และแกนนำนักการเมืองที่เคยประกาศ “ลุงตู่ไปไหน ไปด้วย” เริ่มรู้สึกหวั่นไหว มองหาทางออกใหม่

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐกำลังระส่ำหนัก ส.ส.หลักสิบคนทยอยยื่นลาออก ย้ายพรรคตามแรงดูดไปอยู่ภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล “ตัวตึง” แห่งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล

 

ผอ.ซูเปอร์โพลชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนนิยมลดลง ตกไปอยู่อันดับท้ายๆ ของตารางผลสำรวจ น่าจะมาจากปัจจัยสำคัญคือ ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนเรื่องปัญหาปากท้อง รายได้ ค่าครองชีพ อาชีพการงาน ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันอาจจะมีจุดอ่อนด้านทีมเศรษฐกิจ

และปัญหาขัดแย้งแยกทางกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้แฟนคลับผิดหวัง พลังสนับสนุนอ่อนลง

บวกกับภาพลักษณ์แกนนำพลังประชารัฐ และกระแสต่อต้านที่รุนแรงต่อทุนจีนสีเทา อดีตรัฐมนตรีที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ความไม่เข้มแข็งเพียงพอของ 3 ป. ปล่อยปละละเลยไม่สะสางปัญหาที่กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนในห้วงเวลายาวนาน

“ผลที่ตามมาคือ ประชาชนส่วนใหญ่กำลังมองหาผู้นำประเทศคนใหม่ ที่เป็นความหวังและเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาปากท้องและอื่นๆ ที่สำคัญต่อชีวิตของประชาชนแทนคนเดิมที่อยู่มาช้านาน”