‘บิ๊กป้อม’ แก้เกม ‘พปชร.’ เลือดไหลออก งัดยุทธศาสตร์ ตรึง ‘บ้านใหญ่’ สู้ศึก

สถานการณ์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวหน้าพรรค นำสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

โดยแยกกันเดินกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เตรียมพร้อมจะไปนั่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. ตั้งแท่นไว้คอยท่าแล้ว

แม้จากสัญญาณล่าสุด ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปต่อกับพรรค รทสช.หรือไม่ ส่งผลให้ ส.ส.และองคาพยพที่ประกาศจะติดตาม “พล.อ.ประยุทธ์” ไปยังพรรคดังกล่าวเกิดอาการ “เคว้ง” เพราะต่างรอความชัดเจนในตัวหัวขบวนว่าจะตัดสินใจอย่างไร

แต่ก็มี ส.ส.พรรค พปชร.ในกลุ่มภาคใต้และ กทม.ยังคงเดินหน้าย้ายออกตาม พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป เพื่อพึ่งพากระแส “บิ๊กตู่” ช่วยส่งให้ถึงฝั่งฝันได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกครั้ง ทำให้สถานการณ์ของพรรค พปชร.ตอนนี้ดูเหมือนจะมีแต่ ส.ส.ไหลออก

ไล่ตั้งแต่ 12 กทม. ชัดเจนแล้วว่าทั้ง 12 คน ไม่มีใครอยู่กับพรรค พปชร.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยได้แยกย้ายไปหาพรรคใหม่สังกัด

อาทิ ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 4 คน ได้แก่ 1.นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา 2.น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ 3.น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ และ 4.นายประสิทธิ์ มะหะหมัด

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 3 คน โดย 2 คนแรกได้รับการทาบทามจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) คือ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร และนายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ขณะที่ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ไปในสายของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี รองหัวหน้าพรรค ภท.

พรรคเพื่อไทย (พท.) จำนวน 1 คน คือ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ โดยมีการประสานเข้าพบนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่ กทม. พรรค พท.เรียบร้อยแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 คน คือ นายศิริพงษ์ รัสมี ขณะที่นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. อาจจะขอเว้นวรรคทางการเมืองไม่ลงเลือกตั้งในครั้งหน้า

ส่วนอีก 11 ส.ส.เขต ประกาศชัดเจนว่าจะย้ายไปสังกัดพรรค ภท. ได้แก่ 1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 2.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 3.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 4.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 5.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 6.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 7.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 8.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี 9.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 10.นายอัฎฐพล โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี และ 11.พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี

แต่กระนั้นก็ใช่ว่าพรรค พปชร.จะมีแต่สถานการณ์ที่ ส.ส.ไหลออก

เพราะในทางกลับกันมี ส.ส.และอดีต ส.ส. ที่ไม่ลงรอยกับพรรคเดิม รวมทั้งหนีตายสูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ หารด้วย 100 ที่กระทบกับพรรคใหม่ พรรคกลาง พรรคเล็ก ที่มีแต่ขุนพลแต่ไร้กระแสและฐานเสียงสนับสนุน เหมือนกับพรรคใหญ่ จึงต้องหาพรรคสังกัดเพื่อให้ตัวเองได้ไปต่อในทางการเมือง

โดยหลายคนตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรค พปชร. แม้เรตติ้งอาจจะไม่ดีเหมือนกับในช่วงที่มี “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่เรื่องกระสุน และทรัพยากรที่จะใช้สู้ศึกเลือกตั้ง พรรค พปชร.เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่เป็นรองใคร ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับอดีต ส.ส. รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.ไหลเข้ามาสังกัดพรรค พปชร.ไม่น้อยเหมือนกัน

เริ่มตั้งแต่ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ที่วางตัวมานั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ตามมาด้วย “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีตรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำทีมผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย จ.สงขลา ได้แก่ นายณรงค์พร ณ พัทลุง เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช ได้แก่ นางสุภาพ ขุนศรี เขต 2 และนายสุธรรม จริตงาม เขต 4 มาร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้การดูแลของ “เสี่ยยักษ์” วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. มาร่วมงานด้วย

ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ได้แก่ นายประพิศ นวมโคกสูง เขต 3 นางอรทัย พลวิเศษ เขต 6 นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ เขต 8 น.ส.อรัชมน รัตนเศรษฐ เขต 9 นายวิรัตน์ วาริชอลังการ เขต 14 นายพจน์ เจริญสันเทียะ เขต 16 และ จ.ชัยภูมิ ได้แก่ น.ส.จิตราภรณ์ กล้าแท้ เขต 1 น.ส.กาญจนา จังหวะ เขต 2 และนายสนั่น พัชรเตชโสภณ เขต 4

ส่วน ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ภายใต้การนำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เตรียมกลับมาร่วมงานกับพรรค พปชร.ในเร็วๆ นี้เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรยังเดินหน้าเตรียมพร้อมเลือกตั้ง ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เพื่อกำหนดนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรค พปชร. นั่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว

รวมทั้งวางตัวนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค เป็นผู้คุมสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม. และขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดตัวบรรดาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พร้อมร่างนโยบาย ยุทธศาสตร์ของพรรคสำหรับชาว กทม.

โดยยุทธศาสตร์การเมืองที่ “พล.อ.ประวิตร” ใช้สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าคือ การตรึง ส.ส.กลุ่มบ้านใหญ่ ทั้งกลุ่มปากน้ำของ “ตระกูลอัศวเหม” กลุ่มมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ ที่มี “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค กลุ่มภาคกลางมี “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองห้วัน้าพรรค พปชร. กลุ่มกำแพงเพชรสามัคคี มี “วราเทพ รัตนากร” เป็นแกนนำ กลุ่มสระแก้ว ที่มี “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดูแล

อีกทั้งยังมีเครือข่ายของผู้บริหารท้องถิ่น ระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 48 จังหวัด ที่เป็นอีกฐานเสียงสำคัญช่วยสนับสนุนพรรค พปชร.

ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า “พรรค พปชร.” จำนวนเสียง ส.ส.ย่อมจะลดลงไปตามปัจจัยการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่เป้าหมายใหญ่ที่แกนนำพรรค พปชร.วางไว้คือ นั่งเป็นรัฐบาล บริหารอำนาจรัฐและงบประมาณต่อไป