‘ไม่ต้องสนแม่ง!’ สารจาก ‘อภิชาติพงศ์’ ถึง ‘คนทำหนัง’ และ ‘ผู้เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม’

คนมองหนัง

หมายเหตุ นี่คือคำกล่าวของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ หลังเขาได้รับ “รางวัลเกรียงศักดิ์ ศิลากอง” จากเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผลงานเรื่อง “สัตว์ประหลาด” ของอภิชาติพงศ์เพิ่งติดอยู่ในทำเนียบ 1 ใน 100 “ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” จากการสำรวจความเห็นของบุคลากรในแวดวงภาพยนตร์ทั่วโลก โดยนิตยสาร “ไซท์ แอนด์ ซาวด์”

เอ่อ ขอไม่เล็กน้อยได้ไหม? (ก่อนหน้านั้น ผู้ดำเนินรายการเรียนเชิญให้อภิชาติพงศ์กล่าวอะไรสักเล็กน้อย หลังรับมอบรางวัล) มาจากเชียงใหม่เพื่องานนี้ ก็ขอบคุณมากครับ ยินดีมากครับ ที่มาอยู่ในโรงหนังอีกครั้งหนึ่ง

แล้วก็ขอบคุณดร (“ดรสะรณ โกวิทวณิชชา” ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพคนปัจจุบัน) และคณะกรรมการทุกท่านที่ให้เกียรติผมในการมอบรางวัลครั้งนี้ ผมขอเรียกว่าเป็น “รางวัลวิคเตอร์” (ชื่อเล่นของ “เกรียงศักดิ์ ศิลากอง” อดีตผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพผู้ล่วงลับ)

เพราะตั้งแต่ได้รับการติดต่อจากทางเทศกาลมา ผมก็คิดเลยว่าไม่ใช่รางวัลของผม แต่ว่าผมมาเพื่อที่จะเป็นตัวแทนของพี่วิคเตอร์เพื่อมารับรางวัลนี้ เพราะฉะนั้น การมารับแทนพี่นี่เป็นเกียรติมากๆ

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในที่นี้น่าจะรู้จักพี่วิคเตอร์ คนที่ทำให้เทศกาลนี้เกิดขึ้น พี่วิคเตอร์หลงใหลในทุกอย่าง ภาพยนตร์ ละคร การเดินทาง ศิลปะ เซ็กซ์ เซ็กซ์นี่สำคัญมาก อาหาร และหลายๆ อย่างนะครับ แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไปที่ผสมปนเปกันออกมา

และในที่แห่งนี้ ในโรงหนัง น่าจะเป็นที่ที่พี่เขาชอบมากระดับต้นๆ เลย โดยเฉพาะจุดนี้ (ด้านหน้าโรงภาพยนตร์) เพราะเขาชอบแสง เขาชอบเวที ผมอยากจะรบกวนทุกท่าน ใช้เวลานิดหนึ่ง เงี่ยหูฟังเสียงของพี่วิคเตอร์ หรือว่ามองภาพเขาในความทรงจำเรา ในความเงียบนี้ (จากนั้นทุกคนในโรงภาพยนตร์พร้อมใจกันสงบนิ่ง)

ไม่รู้ใครได้ยินเสียงพี่วิคเตอร์เหมือนเราหรือเปล่า? เพราะผมรู้สึกว่า “ความเงียบนี้” มันไม่ใช่ “ความเงียบ” เพราะเสียงของพี่วิคเตอร์ยังดังอยู่เสมอ เป็นเสียงที่เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา ให้ผม แล้วก็ได้ยินเสียงเขาเลย

บอกว่าให้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ก็คือไม่ต้องต่อต้านอะไร ก็คือใช้ชีวิต

สําหรับตัวผม ผมทำหนังมา 25 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเวลาแค่เสี้ยวเดียวของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของไทยหรือว่าของโลกก็ตาม แต่ว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่เข้าใจเลยว่าผมทำหนังไปเพื่ออะไร? ผมอยากจะบอกหรือถามคำถามคนทำหนังในที่นี้ว่า คุณทำหนังไปเพื่ออะไร?

ที่แน่นอนสำหรับผม ผมทำหนังไม่ได้ต้องการที่จะเล่าเรื่องราวอะไร หรือว่าจริงๆ อาจจะเป็นการ… ภาพยนตร์เป็นตัวเชื่อมที่ตัวเรากับคน (อื่นๆ)… หรือว่าอาจจะเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อการใช้ชีวิต หรือว่าเป็นตัวแทนของอิสรภาพหรือว่าอำนาจก็แล้วแต่

แต่ว่าผมคิดว่ารางวัลนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ผมได้ต่อยอดคำถามนี้ต่อไป แล้วก็ได้ชื่นชมกับความลึกลับของอาชีพนี้ ของการเดินทางนี้ต่อไป

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม มีศูนย์นี้จริงๆ กระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการบอกนักข่าว ว่าไม่มีใครอยากดูหนังของผมหรอก ไม่มีใครอยากดูหนังของอภิชาติพงศ์หรอก แล้วการที่ผมยืนอยู่ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ในสิ่งที่ผมอยากจะบอกคนทำหนังทุกคนว่า ไม่ต้องสนแม่ง! หรือภาษาอังกฤษก็คือ don’t give a damn!

คือนี่ไม่ได้พูดจากความเกลียดชัง แต่อยากจะบอกว่าเราไม่ควรจะตกเป็นทาสของสิ่งที่เกิดจากความกลัว หรือจากเผด็จการของความคิด

ผมคิดว่าพวกเราทุกคนมีส่วนร่วมในการต่อยอดบทสนทนานี้ แล้วสิ่งที่คนทำหนังจะทำได้ดี ทำต่อไป ก็คือ บันทึก บันทึกต่อไป keep recording แล้วก็รักต่อไป keep loving

 

สุดท้ายนี้นะครับ พูดถึงความรัก ผมอยากจะแสดงความขอบคุณคุณโดม (“โดม สุขวงศ์” อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ผู้มอบรางวัลเกรียงศักดิ์ ศิลากอง) แล้วก็ทุกๆ ท่าน ที่เป็นเพื่อนกันมาตลอด ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ทำให้ผมมายืนแล้วก็หายใจอยู่ที่นี่

แล้วก็ขอบคุณผู้ชมทุกคนที่รักและสนับสนุนภาพยนตร์เสมอมา เพราะว่ามันเป็นสื่อที่เป็นกระจกสะท้อนพวกเรา แล้วก็เชื่อมพวกเรา

ผมคิดว่ารางวัลนี้ก็คือรางวัลแห่งความรักของพี่วิคเตอร์ ผมก็เลยขอให้เสียงของพี่ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา แล้วก็ขับเคลื่อนเทศกาลนี้ให้อยู่ไปอีกนานเท่านาน ขอบคุณครับ •

ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก World Film Festival of Bangkok Official

 

ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน | คนมองหนัง