วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (7)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรรณกรรม : ลักษณะและข้อสังเกต (ต่อ)

เหตุฉะนั้น นอกจากบันทึกที่เป็นทางการแล้ว จีนก็ยังมีข้อมูลที่ไม่เป็นทางการอยู่อีกไม่น้อย แต่ทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการนี้ล้วนถูกบันทึกผ่านภาษาจีนหลวง (เหวินเอี๋ยน) อันเป็นภาษาจีนโบราณ ภาษานี้ถือเป็นภาษาราชการในสมัยก่อน ผู้ใช้ภาษานี้ได้จึงต้องเป็นผู้มีความรู้สูงพอควร

แต่ในปัจจุบันนี้ภาษาจีนหลวงมิใช่ภาษาที่เป็นทางการแล้ว ภาษาที่เป็นทางการเป็นภาษาจีนราษฎร์ (ไป๋ฮว๋า) ภาษานี้มีใช้มาแต่อดีตกาลนานแล้ว แต่ใช้กันในหมู่ราษฎรโดยทั่วไปในวงกว้าง ภาษานี้จึงเป็นภาษามวลชนที่เข้าใจง่าย

สังคมจีนเริ่มเปลี่ยนมาใช้ภาษาจีนราษฎร์ในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 1910 ถึง 1920 และนับแต่ ค.ศ.1949 หรือในยุคคอมมิวนิสต์เป็นต้นมา จีนจึงได้เปลี่ยนมาใช้ภาษาจีนราษฎร์อย่างเป็นทางการจนทุกวันนี้ เวลาที่ผ่านไปหลายสิบปีนี้ส่งผลให้ภาษาจีนหลวงถูกใช้ในวงแคบ คือเฉพาะในวงอักษรศาสตร์หรือประวัติศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้น ใครที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลจากบันทึกโบราณดังกล่าวโดยที่ไม่รู้ภาษาจีนหลวงก็ย่อมเข้าถึงข้อมูลได้ยาก โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ

จากเหตุนี้ ในแวดวงประวัติศาสตร์และโบราณคดีปัจจุบันจึงมีงานศึกษาที่ใช้ภาษาจีนราษฎร์อยู่มากมาย

 

งานประวัติศาสตร์ที่ใช้ภาษาจีนราษฎร์จะมีอยู่ 2 แบบ

แบบหนึ่ง เป็นงานศึกษาที่อ้างข้อมูลจากบันทึกทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการ งานแบบนี้จึงเป็นงานใหม่เฉพาะของผู้ศึกษาแต่ละคนไป ซึ่งก็ไม่ต่างจากงานประวัติศาสตร์ของไทยหรือชาติอื่นๆ ที่ผลิตขึ้นโดยอ้างจากพงศาวดารหรือเอกสารอื่นที่ไม่เป็นทางการ งานแบบนี้จึงมีอยู่โดยทั่วไป

อีกแบบหนึ่ง เป็นงานปริวรรตที่ไม่สู้จะได้พบเห็นมากนักนอกจากในจีน งานแบบนี้คืองานที่นำบันทึกที่เป็นและไม่เป็นทางการมา “แปล” ใหม่ โดยแปลจากภาษาจีนหลวงมาเป็นภาษาจีนราษฎร์อีกชั้นหนึ่ง

กล่าวโดยง่ายคือ แปลจีนเป็นจีน เพื่อให้คนในปัจจุบันที่ยากจะเข้าถึงภาษาจีนหลวงสามารถเข้าถึงข้อมูลในอดีตได้

ที่สำคัญ งานทั้งสองแบบนี้มีอยู่มากมายในจีน ไม่เว้นแม้แต่งานในแบบที่สองที่มีการปริวรรตอยู่หลายสำนวน

การที่งานทางประวัติศาสตร์ของจีนเป็นเช่นที่กล่าวมาข้างต้น จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในที่นี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะงานในแบบแรกที่ผู้ศึกษาผลิตขึ้นมาเป็นงานของตน ที่อาจเหมือนหรือต่างไปจากผู้ศึกษาคนอื่นนั้น มีประโยชน์ในแง่ที่ทำให้เราได้เห็นถึงลักษณะการใช้ข้อมูล การตีความ การวิเคราะห์ และการนำเสนอได้อย่างพิสดารแตกต่างกันไป

ความพิสดารที่แตกต่างกันนี้มีนัยสำคัญตรงที่ว่า ในอีกด้านหนึ่ง มันยังขึ้นอยู่กับกาลเวลาด้วย ว่างานชิ้นใดศึกษาก่อนหรือหลังยาวนานเพียงใดอย่างไร

ดังนั้น งานศึกษาในเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคลที่ศึกษา งานชิ้นหนึ่งอาจมีอายุห่างจากงานอีกชิ้นหนึ่งหลายสิบปีก็ได้ เช่นนี้แล้วทำให้เราสามารถเปรียบเทียบงานที่ต่างกันในเรื่องเวลานี้ได้ว่า งานทั้งสองชิ้นนั้นมีความพิสดารในตัวเองอย่างไร

ทั้งนี้ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า งานที่มาทีหลังอาจได้เปรียบในแง่ข้อมูลที่มีการค้นพบเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเห็นศักยภาพเชิงปัจเจกในชิ้นงานที่มาก่อนได้เช่นกันว่า ผู้ศึกษามีความวิริยะอุตสาหะเพียงใดทั้งที่มีข้อจำกัดทางด้านข้อมูล โดยเฉพาะในทางโบราณคดี

ในที่นี้จะขอยกงานศึกษาของ หลี่ว์ซือเหมี่ยน (ค.ศ.1884-1957) มาเป็นตัวอย่างในฐานะงานในอดีต

 

หลี่ว์เกิดที่เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู เมื่ออายุได้ 12 ปีก็เข้าเรียนประวัติศาสตร์จีนกับครูที่เป็นมิตรกับบิดามารดาของตน พออายุได้ 16 ก็เรียนปกรณ์โบราณ และนับตั้งแต่ ค.ศ.1905 จึงเข้าสอนที่มหาวิทยาลัยซูโจวตงอู๋

และตั้งแต่ ค.ศ.1926 จนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ.1957 หลี่ว์ได้เป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

เฉพาะประวัติการศึกษาที่มิได้อยู่ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ของเขาดังกล่าวมานี้ สิ่งที่ชวนประทับใจก็คือ หลี่ว์ได้สร้างผลงานประวัติศาสตร์จีนขึ้นมามากมาย

ผลงานเหล่านี้มีทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์โดยรวมและที่เป็นเฉพาะราชวงศ์หรือยุคสมัย หรือประวัติศาสตร์ชนชาติที่มิใช่ฮั่น

ที่สำคัญก็คือว่า หลี่ว์นับเป็นนักประวัติศาสตร์คนแรกที่ผลิตงานโดยใช้ภาษาจีนราษฎร์

งานชิ้นแรกในภาษานี้คือ จงกว๋อทงสื่อ (ประมวลประวัติศาสตร์จีน) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1923

จากคุณูปการที่ว่าทำให้นักวิชาการรุ่นหลังต่อมาได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า ชมรมนักอ่านประวัติศาสตร์หลี่ว์ซือเหมี่ยน (หลี่ว์ซือเหมี่ยนตู๋สื่อจ๋าจี้) ขึ้น และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “สี่สำนักใหญ่ทางประวัติศาสตร์” ของจีน

อีกสามสำนักคือ สำนักของเฉินหยวน เฉินอิ๋นเค่อ และเฉียนมู่ปิง

กรณีหลี่ว์ซือเหมี่ยนนี้จัดเป็นตัวอย่างงานศึกษาที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ และส่วนหนึ่งยังอยู่ในรูปของภาษาจีนราษฎร์ที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป งานของหลี่ว์ซือเหมี่ยนและของคนอื่นในแนวเดียวกันนี้จึงมีประโยชน์ต่องานศึกษานี้ไม่น้อย

 

พ้นไปจากงานศึกษาที่เป็นภาษาจีนแล้ว งานที่หลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คืองานในภาษาอังกฤษ

แน่นอนว่า งานศึกษาที่เป็นเสมือนชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่และเป็นที่อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางก็คือ The Cambridge History of China ที่มี เดนนิส ทวิตเชตต์ (Denis Twitchett) และ จอห์น เค. แฟร์แบงก์ (John K. Fairbank) เป็นบรรณาธิการใหญ่

ผลงานชุดนี้สร้างสรรค์ขึ้นโดยนักวิชาการทั้งฝ่ายตะวันตกและตะวันออก (จีนและญี่ปุ่น) โดยเริ่มจากราชวงศ์ฉินกับฮั่นแล้วไล่ลำดับราชวงศ์และยุคสมัยต่างๆ แต่ก็มิได้ละเลยบทบาทของชนชาติที่มิใช่ฮั่นเช่นกัน จากนั้นจึงมาจบลงตรงเมื่อจีนเข้าสู่ยุคที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตามแผนที่วางเอาไว้ของโครงการนี้จะได้หนังสือ 15 เล่ม แต่ปรากฏว่าเล่มที่ 2 ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ ค.ศ.220 ถึง ค.ศ.587 ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์โดยไม่ทราบสาเหตุมาจนทุกวันนี้

แต่เท่าที่ได้รับการตีพิมพ์ 14 เล่มก็นับว่ามีประโยชน์ต่องานศึกษานี้อยู่ไม่น้อย

 

ที่มาภาพ : http://www.chinadaily.com.cn

จะอย่างไรก็ตาม งานศึกษาจากที่กล่าวมาแต่เพียงสังเขปทั้งของฝ่ายจีนและตะวันตกนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า หากไม่นับเนื้อหาที่เป็นไปตามหลักวิชาการแล้ว เฉพาะเรื่องของภาษาหรือคำที่ใช้นั้น พบว่า หากกล่าวถึงในยุคที่จีนมีราชวงศ์ปกครองแล้ว ฝ่ายตะวันตกมักใช้คำว่าจักรวรรดิ หรือตี้กว๋อ กับจีนอยู่เสมอ โดยในระหว่างบรรทัดจะอธิบายบทบาทของราชวงศ์นั้นๆ เพื่อให้ภาพจักรวรรดิชัดเจน

แต่ถ้าหากเป็นของฝ่ายจีนแล้วแทบจะไม่ปรากฏว่าจะใช้คำว่าจักรวรรดิเลยก็ว่าได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในยุคสมัยใหม่ที่จีนถูกคุกคามจากตะวันตกเรื่อยมานั้น ทำให้จีนเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะมีก็แต่ชาติที่เป็นจักรวรรดิเท่านั้นที่กระทำ ทำให้จีนมีทัศนคติที่ไม่สู้ดีกับคำว่าจักรวรรดิ จีนจึงไม่ใช้คำนี้กับตนเพื่อให้เห็นว่าตนไม่ใช่และไม่เคยเป็นจักรวรรดิ

จากข้อสังเกตดังกล่าวทำให้งานศึกษาของตะวันตกมีความชัดเจนกว่าของจีนในแง่หลักคิดเกี่ยวกับจักรวรรดิ เพราะเป็นงานที่อธิบายความเป็นจักรวรรดิของจีนอย่างตรงไปตรงมา ในแง่นี้จึงทำให้งานของฝ่ายจีนกลายเป็นงานที่อธิบายโดยอ้อมค้อมไปโดยปริยาย

พ้นไปจากที่กล่าวมาแล้ว งานศึกษาที่เหลือนอกนั้นก็คืองานที่เป็นภาษาไทย ที่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ออกมาพอสมควร แต่หากกล่าวเฉพาะงานวิชาการแล้วยังนับว่าน้อยมาก งานที่ถูกใช้อ้างอิงอยู่เสมอจึงมีไม่มาก โดยหลักแล้วมักจะเป็นประวัติศาสตร์จีน ของ ทวีป วรดิลก และ วิวัฒนาการการปกครองของจีน ของ เขียน ธีระวิทย์

โดยงานชิ้นหลังนี้จะมีความเป็นวิชาการสูงกว่างานชิ้นแรก ในขณะที่งานชิ้นแรกมีความหนามากกว่างานชิ้นหลังหลายเท่า

 

แต่ท่ามกลางงานวิชาการที่มีน้อยชิ้นนี้ยังไม่นับงานที่เป็นบทความวิจัยหรือบทความทางวิชาการ ที่ในปัจจุบันมีเผยแพร่ออกมาอยู่เป็นระยะและจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จนมีความหวังว่าผู้ศึกษางานเหล่านี้จะมีชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่เผยแพร่ตามมา

หากไม่นับงานวิชาการแล้ว ที่เหลือโดยส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นงานกึ่งวิชาการก็จะออกไปในเชิงสารคดี งานประเภทนี้มีมากกว่าประเภทวิชาการหลายเท่า แต่ก็ต้องแยกด้วยอีกเช่นกันว่าเป็นงานที่แปลจากภาษาจีนหรือฝ่ายไทยเขียนขึ้นเอง แน่นอนว่า ทั้งงานที่แปลและเขียนขึ้นเองนี้หากกล่าวเฉพาะเนื้อหาแล้วนับว่ามีคุณค่าอยู่ในตัว

แม้โดยรวมแล้วจะไม่มีงานชิ้นใดที่ศึกษาจีนในแง่จักรวรรดิโดยตรงเลยก็ตาม