ยิงจุดโทษ ยิงก่อน กับยิงทีหลัง อย่างไหนดีกว่ากัน? | พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ยิงจุดโทษ

ยิงก่อน กับยิงทีหลัง

อย่างไหนดีกว่ากัน?

 

แฟนฟุตบอลที่เชียร์ทีมชาติญี่ปุ่นในฟุตบอลโลก 2022 ที่การ์ตาใจสลายไปตามๆ กัน หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้โครเอเชียในการดวลจุดโทษ 1-3

นักเตะญี่ปุ่นชนะการโยนเหรียญเสี่ยงทายและเลือกยิงก่อน ซึ่งเป็นไปตามการศึกษาที่พบว่าทีมที่เตะจุดโทษก่อนมักได้เปรียบ

แต่ปรากฏว่า 2 คนแรกของญี่ปุ่นยิงไม่เข้า ในขณะที่โครเอเชียยิงเข้าทั้ง 2 คน

เมื่อปี 2011 มหาวิทยาลัยปุมเปว ฟาบรา (Pompeu Fabra University) นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ได้ศึกษาเรื่องความได้เปรียบในการดวลจุดโทษตัดสินแพ้ชนะ ว่าเตะก่อนกับเตะหลัง อย่างไหนได้เปรียบกว่ากัน พบว่าทีมที่เตะจุดโทษก่อนได้เปรียบ

โดยศึกษาการดวลจุดโทษตัดสินแพ้ชนะจำนวน 2,820 แมตช์ ทั้งการแข่งขันในสเปน และการแข่งขันลีกนานาชาติอื่นๆ ระหว่างปี 1970-2008 พบว่าทีมที่ยิงจุดโทษก่อน จำนวน 60% เป็นฝ่ายชนะ

การศึกษายังพบว่าในการโยนเหรียญเสี่ยงหัว-ก้อย ทีมที่ชนะการเสี่ยงทายแทบทุกทีม เลือกยิงจุดโทษก่อน

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์นักเตะอาชีพและสมัครเล่น และโค้ชรวม 240 คน พบว่าเกือบทุกคนเลือกที่จะเตะจุดโทษก่อน ให้เหตุผลว่าเพราะต้องการสร้างความกดดันให้กับทีมที่เตะทีหลัง

ทางคณะผู้ศึกษาแนะนำว่า การที่ทีมฟุตบอลที่ยิงจุดโทษก่อนมักได้เปรียบ

ดังนั้น เพื่อความยุติธรรม ควรจะเปลี่ยนลำดับการดวลจุดโทษเสียใหม่ให้เหมือนกับการเสิร์ฟไทเบรกเทนนิส คือนักเตะทีม A ยิงจุดโทษลูกแรก จากนั้นนักเตะทีม B ยิงจุดโทษติดต่อกัน 2 ลูก

ต่อไปทีม A ยิงจุดโทษติดต่อกัน 2 ลูก จนกระทั่งยิงกันครบฝ่ายละ 5 ลูก โดยเรียงลำดับการเตะ ABBAABBAAB หรือจนกว่าทีมใดทีมหนึ่งชนะ

 

ฟุตบอลโลก 2022 คราวนี้ แม้ทีมโครเอเชียจะยิงจุดโทษทีหลัง แต่ก็เป็นฝ่ายชนะ

หลายคนชื่นชม โดมินิก ลิวาโควิช (Dominik Livakovic) ผู้รักษาประตูของโครเอเชียที่เดาทางถูก ป้องกันลูกจุดโทษได้ถึง 3 ลูกจากการยิง 4 ลูก

การแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัด โดยเฉลี่ยจะทำประตูได้ 2.5 ประตู ดังนั้น การยิงจุดโทษจึงมีความสำคัญมาก

หากผู้รักษาประตูเดาทางเก่งก็เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทีมชนะ

 

เวลาโดนยิงจุดโทษ ผู้รักษาประตูส่วนใหญ่จะเลือกพุ่งซ้ายหรือไม่ก็พุ่งไปทางขวา ส่วนน้อยเลือกที่จะไม่พุ่ง

มีการศึกษาที่น่าสนใจโดยมหาวิทยาลัยเบ็น กูเรี่ยน (Ben-Gurion University) ของประเทศอิสราเอลในปี 2007 ศึกษาการเตะจุดโทษ 286 ครั้ง ของลีกในยุโรปและอเมริกาใต้ และฟุตบอลโลก ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจดังนี้

หากผู้รักษาประตูยืนอยู่ตรงกลาง ไม่พุ่งซ้าย ขวา โอกาสที่จะป้องกันประตูได้สำเร็จอยู่ที่ 33.3% ดีกว่าการเสี่ยงทายใจคนยิงแล้วพุ่งซ้าย หรือพุ่งขวา

โดยการเสี่ยงทายใจพุ่งไปทางซ้าย โอกาสป้องกันลูกได้สำเร็จอยู่ที่ 14.2% เสี่ยงทายใจพุ่งไปทางขวา โอกาสป้องกันประตูสำเร็จอยู่ที่ 12.6% หรือป้องกันสำเร็จเพียง 1 ครั้งจากการยิง 8 ครั้ง

 

แม้ว่าการที่ผู้รักษาประตูจะเลือกยืนอยู่ตรงกลางประตู ไม่พุ่งซ้ายหรือขวา จะมีโอกาสป้องกันประตูสำเร็จสูงสุด

แต่จากการสัมภาษณ์ผู้รักษาประตูพบว่า ส่วนใหญ่มักจะเสี่ยงพุ่งซ้ายหรือขวา เพราะเกรงว่าหากยืนอยู่เฉยๆ ตรงกลางประตู จะถูกคนมองว่าไม่พยายามรักษาประตู และหากป้องกันไม่ได้ ตัวเองก็จะรู้สึกแย่ว่าไม่ได้พยายามป้องกันเลย

การพุ่ง แม้ว่าจะหลงทาง พุ่งผิดทาง หรือทายใจผิด ก็ยังรู้สึกดีกว่ายืนตรงกลางเฉยๆ

94% ของผู้รักษาประตูที่ทายใจพุ่งซ้ายพุ่งขวาเวลารับลูกโทษ 40% ทายใจถูก แม้จะทายถูก แต่ป้องกันประตูสำเร็จเพียง 25-30%

แต่ถ้าหากยืนอยู่ตรงกลาง ไม่พุ่งซ้ายหรือพุ่งขวา โอกาสที่จะรักษาประตูสำเร็จอยู่ที่ 60%

การที่ผู้รักษาประตูพุ่งไปทางซ้ายหรือขวา หากแบ่งประตูออกเป็น 9 ส่วน เนื้อที่ที่ผู้รักษาประตูป้องกันประตูมีอยู่เพียง 1 ใน 9 (คือมุมล่างซ้ายหรือล่างขวาของประตู) ในขณะที่การยืนอยู่ตรงกลางประตู เนื้อที่ที่สามารถป้องกันได้มีถึง 3 ใน 9 ส่วน คือ ส่วนล่าง กลาง บน (ตรงกลางประตู)

การยิงจุดโทษ ถ้าไม่ยิงออกนอกกรอบ จำนวน 85% ยิงเข้า

การยิงจุดโทษที่ยิงไปทางซ้ายหรือขวา โอกาสยิงเข้า 85%

แต่ถ้ายิงตรงกลางประตู โอกาสเข้าอยู่ที่ 87% แต่ความจริงมีอยู่ว่า จำนวนนักเตะที่เลือกยิงตรงกลางประตูมีเพียง 30%

หากแบ่งประตูด้านความสูงออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนล่าง ส่วนกลาง และส่วนบน พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของจุดโทษ นักเตะยิงไปที่ส่วนล่างของประตู โดย 80% ยิงลูกเข้าประตูสำเร็จ

มีเพียง 13% ของการยิงจุดโทษที่นักเตะตั้งใจยิงไปที่ส่วนบนของประตู ซึ่งหากไม่ออกนอกกรอบ โอกาสเข้าประตูอยู่ที่ 100%

 

การยิงจุดโทษในการแข่งขันฟุตบอล เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1891 ในการแข่งขันระหว่างทีมวูล์ฟแฮมพ์ตัน วันเดอเรอร์ (Wolverhampton Wanderers) กับทีมแอ็คคริงตัน เอฟ ซี (Accrington FC) ประเทศอังกฤษ ซึ่งนักเตะทีมวูล์ฟถูกทำฟาวล์ ยิงจุดโทษลูกแรกในประวัติศาสตร์เข้าประตูสำเร็จ

ที่มาของการยิงจุดโทษเมื่อทำฟาวล์อย่างรุนแรง น่าเกลียดในเขตประตูนั้น เกิดจากการที่นักฟุตบอลในลีกของสหราชอาณาจักรทำฟาวล์อย่างน่าเกลียด ไร้จรรยาบรรณในการแข่งขันอยู่บ่อยๆ ทำให้ลดคุณค่า ลดความน่าเชื่อถือของเกมฟุตบอล

เหตุการณ์ทำฟาวล์หน้าประตูอย่างน่าเกลียดที่ทำให้ต่อมามีการออกกฎการเตะจุดโทษ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1891 ในการแข่งขัน FA Cup รอบควอเตอร์ ไฟนอล ระหว่างทีมสโตค ซิตี้ (Stoke City) กับน็อตส์ เคาน์ตี้ (Notts County) เมื่อนักเตะทีมน็อตส์ เคาน์ตี้ตั้งใจเอามือปัดลูกไม่ให้เข้าประตู (แบบเดียวกับที่หลุยส์ ซัวเรซ ทำในการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2010 รอบควอเตอร์ ไฟนอล กับทีมกานา)

ในวันที่ 2 มิถุนายน 1891 ทาง International Football Association Board ซึ่งเป็นคณะกรรมการออกกฎการแข่งขันฟุตบอลในสหราชอาณาจักร จึงได้ออกกฎการยิงจุดโทษขึ้นเมื่อมีการทำฟาวล์ในเขตประตู

ฟุตบอลโลก 2022 ที่การ์ตามาถึงรอบน็อกเอาต์แล้ว คงมีการดวลจุดโทษกันอีก

จับตาดูให้ดีว่าเป็นไปตามงานศึกษารึเปล่า