จาก “วัดประชาธิปไตย” ถึง “วัดพระศรีมหาธาตุ” สร้างโดยคณะราษฎร

ปริญญา ตรีน้อยใส
สกานีวัดพระศรีมหาธาตุ : อาคารสถานีด้านทิศเหนือ มองจากสะพานลอยไปสถานีตำรวจนครบาลบางเขน

เริ่มมาจากโครงการตัดขยายถนนกรุงเทพฯ-ดอนเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งในตอนแรกนั้น มีประกาศให้นามถนนสายนี้ว่า ถนนประชาธิปไตย หรือ ถนนประชาธิปัตย์ ตามเจตจำนงของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ยังมีอีกสองแผนงานที่เกิดขึ้นพร้อมกัน คือ การสร้างพระอารามหลวง บนพื้นที่ต่อสู้ระหว่างทหารของคณะราษฎร กับทหารของฝ่ายกบฏ ที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม รวมกำลังกองทัพจากหัวเมือง เข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2476 ให้เป็นอนุสรณ์สถานแก่ทหารปราบกบฏที่เสียชีวิต

ในตอนแรกนั้นมีประกาศให้เรียกขานเหมือนชื่อถนนว่า วัดประชาธิปไตย บังเอิญระหว่างการดำเนินการ รัฐบาลอินเดียพบพระธาตุที่เมืองโครัขปูร์ จึงมอบให้ประเทศไทย ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาประดิษฐานที่พระอารามแห่งนี้

จึงทำให้ประกาศนามใหม่ว่า วัดพระศรีมหาธาตุ

ภาพถ่ายทางอากาศวัดประชาธิปไตย หรือ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

แม้ว่าพระพรหมพิจิตร ผู้เป็นสถาปนิก จะวางผังออกแบบวิหารคล้ายวัดเบญจมบพิตร และพระเจดีย์คล้ายวัดราชาธิวาส แต่เมื่อก่อสร้างเป็นแบบสมัยใหม่ ด้วยวัสดุและโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก รูปแบบจึงเรียบง่าย ปราศจากการปิดทองแต่งสี ทำให้แตกต่างไปจากวัดอื่น และตีความว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะภายในพระเจดีย์ออกแบบให้เป็นที่เก็บอัฐิของบรรดาผู้ก่อการและทหาร คล้ายกับสุสานของบุคคลที่มีชื่อเสียง ในมหาวิหารป็องเตอง (Pantheon) ในปารีส

เช่นเดียวกับตรงปลายถนนแจ้งวัฒนะ กำหนดให้เป็นลานกว้าง เพื่อสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ

ต่อมา เมื่อมีการเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะไปทางตะวันออก คือ ถนนรามอินทรา ลานอนุสาวรีย์จึงกลายร่างเป็นวงเวียนขนาดใหญ่ มีอนุสาวรีย์อยู่ตรงกลาง และเป็นที่มาของการเรียกขาน อนุสาวรีย์หลักสี่

 

ครั้นเมื่อปัญหาจราจรทวีความรุนแรง วงเวียนไม่สามารถรองรับปริมาณรถยนต์ได้ นอกจากการปรับปรุงขยายผิวจราจรหลายครั้ง ยังมีการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยก ซึ่งระหว่างการก่อสร้างมีการโยกย้ายอนุสาวรีย์ออกไป

รวมทั้งการก่อสร้างระบบขนส่งระบบรางลอยฟ้าพร้อมกันทั้งสายสีเขียว บนถนนพหลโยธิน และสายสีชมพู บนถนนรามอินทรา ทำให้เกิดความโกลาหลวุ่นวาย ทั้งบนดิน ใต้ดิน และเหนือดิน นอกจากถนนหลายช่องจราจรบนดิน และอุโมงค์ใต้ดินแล้ว ตอนนี้ยังมีรางรถไฟฟ้า สะพานลอย บาทวิถีลอยฟ้า สกายวอล์กหรือสกายลิงก์ รวมทั้งสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ที่มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับผู้โดยสารเปลี่ยนขบวนรถ

ทุกวันนี้ ผู้คนในย่านพหลโยธินและใกล้เคียงจึงต้องต่อสู้กับปัญหาจราจร มลพิษ และน้ำท่วมอย่างทรหด

คงต้องรอให้มหกรรมการก่อสร้างแล้วเสร็จ อภิมหาโครงสร้างทั้งหมดคงจะเป็นอนุสาวรีย์ปราบการจราจร ที่มาแทนที่อนุสาวรีย์ปราบการจลาจลในอดีต