เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์ / เหตุผลของพ่อ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เหตุผลของพ่อ

ในช่วงของวาระพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ คนไทยได้มีโอกาสชมเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่สถานีโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บเพจต่างๆ ได้จัดสรรมาให้ได้รำลึกกัน

ส่วนหนึ่งในนั้นก็คือบทเพลงที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ทั้งที่เคยประพันธ์ขึ้นมา หรือประพันธ์ใหม่ ซึ่งเราก็ได้ฟังกันหลายต่อหลายรอบในช่วงที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ในตอนที่เดินในห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่ต่างๆ

หนึ่งในนั้นมีบทเพลงที่ชื่อ “เหตุผลของพ่อ” รวมอยู่ด้วย เป็นบทเพลงที่แต่งคำร้องทำนองโดย กมลศักดิ์ สุนทานนท์ และ ปิติ ลิ้มเจริญ มีเนื้อเพลงที่ขึ้นต้นว่า

“ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน มีบางคนตะโกนบอกพ่อวันนั้น

ผ่านมาแล้วสองหมื่นห้าพันกว่าวัน นับจากวันนั้น ท่านไม่เคยทิ้งคนไทย”

ที่จะพูดถึงคือตรงท่อนฮุกที่ร้องว่า

“อยากรู้บ้างไหมว่าทำไม พ่อมีเหตุผลใดที่ต้องเหนื่อยขนาดนี้

ลองถามหัวใจดูสักที แล้วเราจะรู้ดีว่าคำตอบคืออะไร”

ในบทเพลงมีคำตอบให้แล้วล่ะครับว่า เหตุผลนั้นก็คือ “ในหลวงรักและห่วงประชาชน”

แต่หากมาย้อนคิดกันจริงๆ ว่า ทำไมนะ พระองค์ท่านจึงต้องเหนื่อยมากขนาดนี้และหากด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าพระองค์จะไม่ต้องทรงงานขนาดนี้ คำถามต่อมาถามว่า แล้วเป็นหน้าที่ใครจะต้องทำ?

เมื่อไล่เรียงมาก็เห็นสมควรว่า หน้าที่และบทบาทในการสร้างความอยู่ดีกินดี มีความสุขให้กับประชาชนนั้นก็จะต้องเป็นของผู้นำประเทศ ซึ่งก็คือ “รัฐบาล” ในฐานะฝ่ายบริหารนั่นเอง

ซึ่งตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ไทยเราก็มีรัฐบาลมาแล้ว 62 ชุดจากนายกรัฐมนตรีจำนวน 29 คน และหากนับเฉพาะในช่วงรัชสมัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประเทศไทยก็มีรัฐบาลถึง 41 ชุดทีเดียว

ก็ต้องถามต่อว่า แล้วคณะรัฐบาลเหล่านั้นไม่ได้ทำบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ดีพอหรือไร พระองค์ท่านจึงต้องทรงเหนื่อยจากการทรงงานเช่นนี้

และถ้าถามต่ออีกว่า หากคณะรัฐบาลเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ แล้วจะเป็นหน้าที่ผู้ใด

ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ของ “ประชาชนไทย” เอง ที่ต้องทำหน้าที่นั้นเสียเอง คือการกำกับดูแลชีวิตของตนและครอบครัวให้มีความอยู่ดีกินดี มีการพัฒนาในชีวิตอย่างยั่งยืน

คำถามคือ ที่พระองค์ท่านยังต้องทรงเหนื่อยขนาดนี้ ก็เพราะคนไทยเรายังไม่สามารถดูแลตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ดีเพียงพอใช่หรือไม่?

ลองคิดกลับดูว่า หากประชาชนไทยรู้จักการพึ่งพาตัวเอง รู้จักดิ้นรน อดทน ซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน เพื่อไม่ต้องเป็นภาระใคร รู้จักใฝ่หาความรู้ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาตนเอง เราทุกคนก็คงจะอยู่รอดได้ และอยู่อย่างเป็นสุขด้วย

เมื่อเราแข็งแรงดูแลตัวเองได้ หากรัฐบาลจะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เราก็ยังอยู่ได้ เพราะเราพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาช่วย พระองค์ท่านก็คงจะไม่ต้องทรงเหนื่อยขนาดที่เป็นมา

และจะยิ่งดีใหญ่หากประชาชนไทยก็แข็งแรง รัฐบาลของประเทศก็แข็งแรง

ผมว่าในหลวงของเราก็คงจะมีความสุข และไม่ต้องทรงงานจนถึงช่วงปลายของพระชนม์ชีพสุดท้ายเช่นนี้

วันนี้ ผ่านมาปีเศษๆ ไทยเราก็ไม่มีในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้วจริงๆ

รัฐบาลแบบถาวรก็จะมีมาแน่ๆ แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ อันนี้ต้องอาศัยว่าตามพี่โรดแม็ปเขา ที่ก็ไม่รู้จะเลื่อนไปอีกกี่มากน้อย

งั้นเราลุกขึ้นมาหาวิธีอยู่ได้แบบพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนดีไหม นั่นอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขได้ยามนี้

ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้พระราชทานแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เราได้ใช้เป็นวิธีที่จะดำเนินชีวิตไว้อย่างยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเสียเวลาคิดอะไรเอง ไม่ต้องพิสูจน์อะไร เพราะพระองค์ได้ทดลองและพิสูจน์จนเห็นจริงมาแล้ว นับว่าเป็นความโชคดีของพวกเราชาวไทยจริงๆ

ในช่วงที่ผ่านมา เราคนไทยได้ร่วมใจกันแสดงความอาลัยรักและเทิดทูนพระองค์ท่านกันอย่างยิ่งใหญ่และประทับใจไปแล้วทั่วโลก จากนั้นเราทุกคนก็จะต้องเดินหน้าต่อในบทบาทหน้าที่ของตนเอง ใครมีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไปให้ดีที่สุด เพื่อเราจะได้พึ่งพาตัวเองได้

พร้อมมีจิตสำนึกถึงส่วนรวม มีน้ำใจต่อคนอื่นๆ ไม่เลือกชั้นวรรณะเหมือนบรรยากาศอันแสนวิเศษที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

รู้จักอุทิศตนเองเพื่อผู้อื่น ด้วยความรักความเมตตาและปรารถนาดี เพราะนั่นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่จาก “การให้” ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแสดงเป็นตัวอย่างมาโดยตลอด

ยังจำความอดทนในการยืนรอในแถวเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง เพื่อเข้ากราบพระบรมศพได้ไหม

ยังจำความมุ่งมั่นตั้งใจในการถวายความอาลัยโดยที่ฝน แดด อากาศที่แปรผันตลอดเวลาทำอะไรเราไม่ได้ได้อยู่ใช่ไหม

ยังจำความมีน้ำใจของคนไทยที่มีต่อกันจนเราตื้นตันกันมาแล้วได้อยู่หรือมิใช่

ยังจำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้จักเมตตา และให้อภัยกันได้อยู่หรือเปล่า

วันนี้แม้ไม่มีในหลวง รัชกาลที่ 9 แล้ว เราก็จะยังช่วยกันให้ประเทศไทยของเราดำเนินต่อไปได้ด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น อดทน มีน้ำใจ สามัคคี และให้อภัยกันและกันเหมือนที่ผ่านมา ได้หรือไม่?

ถ้าได้ นั่นก็คือ “คำตอบ” ของ “เหตุผลของพ่อ” ดังที่ว่านั่นเอง