ธงทอง จันทรางศุ | ‘ไอโอ’ มีจริง และยังไม่สูญพันธุ์

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

‘ไอโอ’ มีจริง และยังไม่สูญพันธุ์

ใครก็ไม่ทราบสักคนหนึ่งเคยกล่าวไว้นานแล้วว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่”

ชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสิบปีแล้วอย่างผมไม่มีทางที่จะมีความคิดเป็นอื่นได้นอกจากเห็นด้วยกับคำกล่าวนั้น

เราลองมาดูตัวอย่างกันสักเรื่องหนึ่งไหมครับ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักพิมพ์มติชนใจดีเป็นพิเศษเชิญนักเขียนและผู้ที่อยู่ในแวดวงทั้งหลายไปกินข้าวเย็นกันมื้อหนึ่งที่มติชนอคาเดมี นอกจากความอิ่มท้องด้วยอาหารอร่อยนานาชนิดแล้ว ก่อนกินข้าวมื้อนั้นยังมีการให้อาหารทางปัญญาด้วย โดยมติชนได้จัดนิทรรศการเล็กๆ ขึ้น เป็นเรื่องของสิ่งพิมพ์และข้าวของต่างๆ ที่เกี่ยวกับคณะราษฎร หรือแม้แต่ย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งจะเรียกว่าเป็นรุ่นพี่ของคณะราษฎรก็เห็นจะได้ นอกจากสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกทั้งหลายแล้วยังมีวิทยากรอีกสามท่านมาอธิบายประกอบด้วย

ผมพบว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2475 แล้ว คณะราษฎรเองและบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายได้จัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ ในหลายวาระ เพื่อสร้างความเข้าใจและปลูกฝังความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการปกครองแบบใหม่ที่เพิ่งนำมาสู่สยามประเทศให้แพร่หลายไปในวงกว้าง

ข้อนี้เราต้องเข้าใจว่า ระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิมนั้นอยู่ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การพูดถึงประชาธิปไตยก็ดี การเลือกตั้งก็ดี สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ดี เป็นเรื่องเกินความรู้ความเข้าใจของคนหมู่มาก ชะดีชะร้ายจะผิดกฎหมายเอาเสียด้วย

เมื่ออยู่ดีๆ เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นของใกล้ตัวขึ้นมาในชีวิตประจำวัน จึงเป็นความจำเป็นอยู่เองที่คณะราษฎรต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น ว่าการปกครองระบบใหม่นี้คืออะไร เราจะอยู่กันอย่างไร

และจะเดินหน้ากันไปข้างไหน

ขณะที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้อยู่ ผมหยิบหนังสือเก่าสองเล่มที่มีอยู่ในบ้านขึ้นมาดู เล่มแรกที่ถืออยู่ในมือขณะนี้คือหนังสือเรื่อง บทเรียนรัฐธรรมนูญ เป็นหนังสือขนาดเล็กหนาเพียงแค่ 23 หน้า ผู้แต่งคือหลวงวิจิตรวาทการ หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะราษฎรและมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี พิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดดุสิตาราม เมื่อพุทธศักราช 2476

ลองดูข้อความจากหนังสือเล่มนี้สักหนึ่งย่อหน้าไหมครับ คุณหลวงวิจิตรฯ ท่านว่าไว้อย่างนี้

“…การปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลกับราษฎรเป็นคนละพวก รัฐบาลเป็นนาย ราษฎรเป็นบ่าว แต่การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลกับราษฎรเป็นพวกเดียวกัน ราษฎรจะต้องเชื่อฟังรัฐบาลและรัฐบาลก็ต้องถามความเห็นของราษฎร แปลว่าทางรัฐบาลและราษฎรต่างต้องเชื่อฟังซึ่งกันและกัน…”

อ่านย่อหน้าเดียวก็แซบอยู่นะครับ ส่วนจะเป็นจริงมากน้อยเพียงไรยกไว้อีกเรื่องหนึ่ง

หนังสือเล่มเล็กอีกเล่มหนึ่งที่วางอยู่คู่กันต่อหน้าผมเดี๋ยวนี้ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิมพ์แจกในงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2477

เล่มนี้ไม่มีอะไรมากครับ เป็นการพิมพ์ตัวบทรัฐธรรมนูญแจกกันเฉยๆ

สังเกตไหมครับว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสงานการอะไรก็แล้วแต่ ตั้งแต่งานกฐินพระราชทานไปจนถึงงานถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า สมาชิกคณะราษฎรต่างก็พิมพ์หนังสือแจกเป็นการใหญ่ จะเรียกว่าเป็นการโฆษณาให้คนรู้จักกับการปกครองระบบประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้นก็เห็นจะได้

เราจึงพบว่า เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือรัฐบาลคือผู้ปกครองบริหารราชการแผ่นดินในขณะใดขณะหนึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับคนหมู่มาก “หนังสือ” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานเรื่องนี้

เราต้องนึกนะครับว่า ครั้งนั้นยังไม่มีสื่ออะไรออนไลน์เลย เมื่อปี 2475 มีแค่วิทยุเกิดขึ้นก็บุญนักหนาแล้ว ยังไม่มีโทรทัศน์เกิดขึ้นในเมืองไทยหรือในโลกเลย หนังสือจึงเป็นสื่อสำคัญอย่างวิเศษในการส่งต่อความคิดจากรัฐบาลไปยังประชาชน

ถัดมาอีกหลายสิบปี เมื่อผมเรียนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำ ในปีพุทธศักราช 2519 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองขึ้นที่เรียกกันในเวลานี้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มีประชาชนและนิสิตนักศึกษาเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจำนวนไม่น้อย

ค่ำวันเดียวกันนั้นก็มีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะบุคคลที่เรียกชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไปไม่นาน คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็พิมพ์หนังสือภาษาไทยเล่มเล็กขึ้นเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ความหนาเพียงแค่ 12 หน้า

หนังสือเล่มนี้บรรยายเหตุการณ์เช้าวันที่ 6 ตุลาคมว่า

“…ขณะนั้นมีราษฎรขับรถโดยสาร 2 คัน พังประตูรั้วเข้าไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถเข้าไปภายในได้สะดวก ฝ่ายที่ยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดฉากการยิงขัดขวางอย่างดุเดือดด้วยอาวุธที่ใช้ในสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงโต้ตอบเขาไปบ้าง เป็นเหตุให้มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยกันทั้งสองฝ่าย ปรากฏด้วยว่า มีผู้ที่ได้เข้าร่วมชุมนุมยึดอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนไม่น้อยซึ่งได้ถูกฝ่ายเดียวกับเองยิงข้างหลังขณะที่พยายามหนีออกมาข้างนอก นักศึกษาและผู้ที่ทำการปลุกระดมอยู่ภายในได้หลบหนีออกไปได้บ้างพร้อมทั้งอาวุธบ้างก็เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายประชาชนผู้รักชาติ ซึ่งอยู่ท่ามกลางเสียงปืนได้เกิดอารมณ์คั่งแค้นจนกระทั่งนำเอาศพของผู้เสียชีวิตมาแขวนคอและนำเอาศพไปเผาที่บริเวณท้องสนามหลวงรวม 4 ศพ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นศพของผู้ใด…”

บรรยายถึงพริกถึงขิงมากนะครับ

หนังสือเล่มเดียวกันนี้ มีการพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วย ใช้ชื่อว่า Facts of The Incident on 6th October 1976 ผมลองอ่านเทียบเคียงดูแล้ว หนังสือฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ใช่การแปลแบบถอดความตัวต่อตัว แต่เป็นการเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับในแนวทางเดียวกัน

 

ข้างต้นที่เล่าสู่กันฟังนี้คือตัวอย่างจากเหตุการณ์สองเหตุการณ์ ในยุคสมัยที่หนังสือมีบทบาทมากในการสื่อความเข้าใจ ส่วนเนื้อหาที่สื่อออกไปจะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน และคนอ่านแล้วเขาจะเชื่อหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครบังคับหัวใจหรือบังคับสมองใครได้

เราอย่าเผลอนึกว่าสิ่งที่พิมพ์อยู่บนกระดาษจะต้องเป็นความจริงเสมอไป กระดาษบางแผ่นก็เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้น

ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการชั่งน้ำหนักข้อมูลที่ได้จากหนังสือด้วยความรอบคอบและด้วยสติปัญญา

ยิ่งมาถึงยุคสมัยนี้ อย่าว่าแต่หนังสือ หรือวิทยุหรือโทรทัศน์เลยครับ สื่อที่นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไปสู่ความรับรู้ของประชาชนมีมาก แม้ประชาชนด้วยกันเองก็สามารถสื่อสารหากันได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนสามารถเป็นทั้งผู้ส่งข่าวสารและเป็นผู้รับข่าวสารได้โดยไม่ยากเลย

แต่ข่าวสารที่มาในระบบออนไลน์แบบนี้ ก็ไม่ต่างไปจากข่าวสารที่มาจากหนังสือเป็นเล่ม คือมีทั้งที่เชื่อถือได้และเชื่อถือไม่ได้

ขนาดมาเป็นคลิปให้เห็นก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพราะของพรรณนี้เขาตัดต่อกันได้ทั้งนั้น

 

ไอโอ (IO) ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Information Operation หรือแปลเป็นไทยว่า ปฎิบัติการทางข่าวสาร ก็มีเรียนมีสอนอยู่ในหลายสถาบันของทางการและทำกันอย่างเอาจริงเอาจังด้วย

โดยใช้เงินภาษีอากรของเรา ทำข่าวปลอมมาหลอกเราเอง ฮา!

แต่ทั้งหมดทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากประโยคที่ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังมีอีกประโยคหนึ่งที่บอกด้วยว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย

ประโยคนี้มาจากพุทธภาษิตที่ว่า สัจจัง เว อมตา วาจา เสียด้วยซ้ำ

ความเท็จบางอย่างอาจจะมีคนหลงเชื่ออยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเข็มนาฬิกาเดินหน้าไปโดยไม่หยุดหย่อน ความจริงที่ถูกปิดบังครอบงำอยู่ ก็ต้องเผยโฉมขึ้นมาสักวันหนึ่ง แสงสว่างจะส่องเข้าไปสู่มุมมืดจนได้ ไม่ว่าเร็วหรือช้า ความจริงก็ชนะความเท็จเสมอ

ไม่เชื่อลองกลับไปอ่านหนังสือเรื่องหกตุลา ที่ผมยกตัวอย่างมาให้ดูหนึ่งย่อหน้านั่นปะไร

อ่านแล้วจะรู้ว่าไอโอมีจริงและยังไม่สูญพันธุ์