“ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ” สุดยอดนักประดิษฐ์แห่งแดนอาทิตย์อุทัย | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ญี่ปุ่นมีนักคิด-นักประดิษฐ์ที่โดดเด่นมานับแต่อดีต และหนึ่งในคนที่น่ารู้จักคือ ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ (Tanaka Hisashige)

ชื่อ ‘ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ’ เป็นการเรียกแบบญี่ปุ่น คือ เรียกนามสกุลตามด้วยชื่อตัว (ในเว็บหลายแห่ง เรียกเขาว่า Hisashige Tanaka ซึ่งเป็นการเรียกแบบฝรั่งคือเอาชื่อตัวขึ้นตามด้วยนามสกุล)

เขาเกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1799 ที่เมืองคุรุเมะ แคว้นชิกุโงะ ในวัยเด็กชื่อ กิเอะมง เขาเป็นลูกชายคนโตของทะนะกะ ยะเอะมง ช่างเบ็กโกสะอิกุ หรือช่างทำหวีหรือปิ่นปักผมด้วยกระดองเต่าทะเล

กิเอะมงฉายแววนักประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก เพราะตอน 9 ขวบ ได้ประดิษฐ์กล่องแป้นหมึกซึ่งมีกลไกล็อกฝาปิดกล่องด้วยเชือกซึ่งต้องถูกบิดไปเป็นรูปแบบหนึ่งจึงจะเปิดออกได้

เชื่อกันว่าเขาเรียนรู้จากการอ่าน “คะระกุริ-ซูอิ” ซึ่งเป็นหนังสือพร้อมภาพประกอบแสดงเทคนิคเชิงกลสำหรับสร้างนาฬิกาสไตล์ญี่ปุ่น รวมทั้งตุ๊กตาและของเล่นคะระกุริ คำว่า ‘คะระกุริ’ แปลว่า กลไก หนังสือเล่มนี้เขียนโดย โฮโซกะวะ ฮันโซ โยรินะโอะ (Hosokawa Hanzo Yorinao) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1796 คือก่อนกิเอะมงเกิดราว 3 ปี

เมื่ออายุได้ 15 ปี มีคนมาขอคำปรึกษาว่าจะทอผ้าให้มีลายดอกได้อย่างไร เขาจึงประดิษฐ์พิมพ์ไม้แกะลาย นำมากดเส้นด้าย จากนั้นนำเส้นด้ายมาย้อมลายแล้วนำไปทอ ผ้าทอที่ได้เรียกว่า “คุรุเมะกะซุริ” แบบมีลวดลาย

ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต ตามธรรมเนียมแล้วเขาควรเป็นผู้สืบทอดงานของพ่อ แต่เขาได้ขออนุญาตจากพ่อว่าให้น้องชายรับหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งพ่อก็ยินยอมตามคำขอ กิเอะมงจึงมีอิสระในการเป็นนักประดิษฐ์ที่เขารัก พ่อของเขาจากไปเมื่อเขาอายุได้ 19 ปี

ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ (ค.ศ.1799-1881)

เมื่ออายุได้ 21 ปี กิเอะมงโด่งดังในวงกว้างขึ้นเมื่อเขานำตุ๊กตาหุ่นยนต์คะระกุริออกแสดงในงานเทศกาลของศาลเจ้าโกะโกะกุ มีทั้งตุ๊กตายกน้ำชาและตุ๊กตายิงธนูซึ่งยิงได้เข้าเป้าราวกับมีชีวิต ชาวบ้านตื่นเต้นมาก

ราว 1 ปีถัดมา เมื่อเขาอายุได้ 22 ปี ก็ประดิษฐ์ปืนลมสำเร็จ (ปืนลมเป็นปืนที่ไม่ได้ใช้ดินปืน) แต่ทว่า เมืองคุรุเมะเกรงใจรัฐบาลทหารจึงสั่งยกเลิกการผลิต

เนื่องจากการประดิษฐ์ต้องใช้เงินทุนมาก เขาจึงตระเวนไปเปิดการแสดงตุ๊กตาหุ่นยนต์เพื่อหารายได้ เมื่ออายุ 26 ปี เขาเปิดการแสดงในเกียวโต โอซากา และเอโดะ (ชื่อเดิมของโตเกียว) นานนับ 10 ปี การแสดงของเขาได้รับความนิยมสูงยิ่ง เขายังประดิษฐ์ตุ๊กตาที่สามารถเขียนตัวหนังสือได้

นับแต่นั้นเขาจึงได้รับฉายาว่า “กิเอะมงยอดหุ่นยนต์”!

ตุ๊กตายิงธนู
ที่มา : https://www.researchgate.net/figure/Karakuriyumiiridoji-bow-shooting-boy-by-Hisashige-Tanaka-10_fig1_346963937

เมื่ออายุได้ 36 ปี ขณะอยู่ที่โอซากา เขาประดิษฐ์เชิงเทียนแบบพับได้ ทำให้พกพาสะดวก เช่น เก็บไว้ในอกเสื้อ อีก 3 ปีต่อมา บ้านของเขาถูกไฟไหม้ เขาจึงย้ายจากโอซากาไปอยู่เกียวโต ที่เกียวโตเขาประดิษฐ์คบไฟแบบไม่ดับและเชิงตะเกียงตัวหนูซึ่งใช้ปั๊มลมสูบน้ำมัน สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองชิ้นนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

กิเอะมงไม่หยุดเรียนรู้ เมื่ออายุ 49 ปี เขาฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์โทะดะ คิวซะเอะมง ผู้อยู่ในตระกูลสึชิมิกะโดะ ตระกูลนี้เชี่ยวชาญด้านปฏิทินดาราศาสตร์ เขาใช้เวลาเรียนติดต่อกันราว 2 เดือนเศษ โดยเดินไปเรียนทุกวันตอนเย็น ระยะทาง 8 กิโลเมตร

ในปีเดียวกันนั้นเอง เขาประดิษฐ์อุปกรณ์ดับเพลิงซึ่งปั๊มสามารถสูบน้ำได้สูงกว่า 10 เมตร

เมื่อกิเอะมงอายุได้ 51 ปี เขาได้รับพระราชทานยศ “โอมิทะอิโจ” จากสมเด็จพระจักรพรรดิ เนื่องจากเป็นนักดาราศาสตร์ชั้นหนึ่ง จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ฮิซะชิเงะ”

ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ ประดิษฐ์ “มันเน็นโดะเก” ซึ่งเป็นนาฬิกาสูง 63 เซนติเมตร มีหน้าปัด 6 อัน แสดงเวลาทั้งแบบตะวันตกและแบบญี่ปุ่น แสดงวันที่ได้ แถมมีแบบจำลองการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นาฬิกานี้ใช้ระบบไขลาน เมื่อไขลานครั้งหนึ่งจะทำงานได้ 225 วัน

มันเน็นโดะเก
ที่มา > https://wadokei.org/wadokei-types/mannen-dokei/

ปี ค.ศ.1853 ชาวญี่ปุ่นในยุคโชกุนครองเมืองก็พบกับสิ่งที่น่าตระหนก เมื่อมี “เรือดำ” จำนวน 4 ลำแล่นเข้ามาในอ่าวโตเกียว คำว่า “เรือดำ” เป็นชื่อที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกเรือกลไฟของสหรัฐอเมริกา ทั้งจากการที่ตัวเรือมีสีดำและควันสีดำที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินซึ่งลอยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหม่ที่กำลังแผ่อิทธิพลทางการเมือง เมื่อต้องการค้าขายกับญี่ปุ่น จึงส่งแมตธิว เพอร์รี (Matthew C. Perry) นำกองเรือรบเข้ามาเจรจาเพื่อให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ทั้งนี้ กองเรือรบยังได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธได้หากผู้ปกครองญี่ปุ่นขัดขืน

เรื่องนี้ส่งผลต่องานของทะนะกะ ฮิซะชิเงะ ด้วย งานประดิษฐ์ของเขาจึงมุ่งสู่เทคโนโลยีการทหารเพื่อป้องกันบ้านเกิดเมืองนอน เช่น ประดิษฐ์ปืนใหญ่ให้แคว้นคุรุเมะ ประดิษฐ์เรือกลไฟตามคำร้องขอของแคว้นซะงะ และออกแบบเตาสะท้อนความร้อน (reverberatory furnace) สำหรับหลอมโลหะ

ฮิซะชิเงะเคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักรบ เขาพกดาบติดตัวเป็นประจำ ฝักดาบของเขาใส่เครื่องมือช่างได้ด้วย

 

ปีค.ศ.1873 คือ 6 ปี หลังการฟื้นฟูพระราชอำนาจสมัยเมจิ (Meiji Restoration) ขณะนั้นทะนะกะ ฮิซะซิเงะ อายุได้ 74 ปี แต่ยังคงมีไฟในการทำงาน เขาได้รับเชิญจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ไปยังโตเกียวเพื่อสร้างโทรเลขที่โรงงานขนาดเล็กของกระทรวง

เขาย้ายไปอยู่ย่านกินซ่าใน ค.ศ.1875 ต่อมาได้เช่าพื้นที่ชั้นสองของวัดเพื่อใช้เป็นเวิร์กช็อปเพื่อทำงาน เวิร์กช็อปนี้ต่อมากลายเป็นบริษัทชื่อ Tanaka Seisakusho (Tanaka Engineering Works) เป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์โทรเลขแห่งแรกของญี่ปุ่น

เมื่อทะนะกะ ฮิซะชิเงะ ถึงแก่กรรมใน ค.ศ.1881 ในวัย 83 ปี ลูกชายบุญธรรมของเขาได้รับช่วงดูแลโรงงานต่อ อย่างไรก็ดี ต่อมาบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน ธนาคารมิตซุยซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้จึงเข้ายึดและเปลี่ยนชื่อเป็น Shibaura Seisakusho (Shibaura Engineering Works) ในปี ค.ศ.1893

ปี ค.ศ.1939 บริษัท Shibaura Seisakusho ได้ควบรวมกับบริษัท Tokyo Denki กลายเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Tokyo Shibaura Denki (Tokyo Shibaura Electric) ช่วงแรกเรียกชื่อย่อแบบไม่เป็นทางการว่า Toshiba แต่พอถึงปี ค.ศ.1978 บริษัทจึงเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเรียกว่า Toshiba Corporation ที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในปัจจุบัน

ทะนะกะ ฮิซะชิเงะ จึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานและมีคุณูปการต่อความเจริญทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมของดินแดนอาทิตย์อุทัยนั่นเองครับ