60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (4) การทูต vs การทหาร | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (4)

การทูต vs การทหาร

 

“ถ้าเราทำตามที่พวกเขา [ผู้นำทหาร] ต้องการให้เราทำ จะไม่มีใครเหลือรอดชีวิต

เลยสักคนเดียว และจะมาเล่าไม่ได้ว่า พวกเขาทำผิดพลาดกันอย่างไร”

President John F. Kennedy (1962)

 

เราคงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาเป็น “วิกฤตนิวเคลียร์ชุดแรก” ที่โลกหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญ

ในภาวะเช่นนี้นอกจากไม่มีตัวแบบและบทเรียนที่จะทำให้ผู้นำรัฐมหาอำนาจทั้งสอง คือประธานาธิบดีเคนเนดีและประธานาธิบดีครุสชอฟ ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจแล้ว

การตัดสินใจของผู้นำในภาวะวิกฤตที่มีข้อจำกัดในตัวเองนี้ยังมีอัตราความเสี่ยงที่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่สภาวะของ “สงครามนิวเคลียร์” ได้ไม่ยาก

ในอีกด้านหนึ่ง การตัดสินใจครั้งนี้มีแรงกดดันอย่างมาก เพราะตัวแสดงที่อยู่ในแต่ละฝ่ายย่อมต้องการจัดการกับวิกฤตด้วยคำตอบและ/หรือแนวทางของฝ่ายตน บนพื้นฐานความเชื่อที่ยึดโยงกับอำนาจในทางทหาร

ซึ่งวิธีการจัดการอาจกลายเป็นการ “ยกระดับวิกฤต” ให้ทวีความตึงเครียดมากขึ้น (escalation of crisis) ซึ่งหากมองในส่วนของทำเนียบขาว ที่มีนัยของการเป็น “ผู้ถอดชนวนวิกฤต” แล้ว การคิดและการตัดสินใจของประธานาธิบดีเคนเนดีจึงเป็นประเด็นที่คนในยุคหลังควรจะเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยเราจะเห็นถึงการตัดสินใจภายใต้ข้อจำกัดของภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น

ในอีกด้าน วิกฤตชุดนี้เป็นสัญญาณถึงการทูตใหม่ของรัฐมหาอำนาจที่เป็น “การทูตนิวเคลียร์” (nuclear diplomacy) ของยุคสงครามเย็น

ถ้าต้องหลีกเลี่ยงสงคราม!

ในเช้าวันที่ 16 ตุลาคม 1962 ประธานาธิบดีเคนเนดีรับทราบจากฝ่ายความมั่นคงถึงการเตรียมก่อสร้างฐานยิงขีปนาวุธของรัสเซียในคิวบา ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินลาดตระเวนแบบยู-2 ซึ่งทำการบินในวันที่ 14 ตุลาคม อีกทั้งมีการตรวจสอบข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำอีก และการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณารายละเอียดของภาพ ก่อนที่ข้อมูลจะถูกนำเสนอแก่ทำเนียบขาว เนื่องจากในเบื้องต้นนั้น ภาพที่ได้ดูเหมือนการสร้างสนามกีฬามากกว่าจะเป็นฐานยิงขีปนาวุธ

แต่ “ข่าวกรองทางภาพ” (photint) ตอบคำถามนี้อย่างชัดเจนว่า สหภาพโซเวียตเปิดเกมรุกด้วยอาวุธนิวเคลียร์เข้า “หลังบ้าน” สหรัฐที่คิวบาอย่างคาดไม่ถึงแล้ว (สายลับอเมริกันในคิวบาส่งข้อมูลการสร้างฐานยิงจรวดของโซเวียตตั้งแต่เดือนกันยายน แต่ไม่ได้รับความสนใจ)

ดังนั้น วันที่ 16 ตุลาคม จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา ในขณะเดียวกัน วิกฤตนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสองมหาอำนาจใหญ่ของโลกเป็นครั้งแรก

แต่เดิมนั้นไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าผู้นำมอสโกจะกล้าตัดสินใจเล่น “เกมเสี่ยง” ที่มีสงครามนิวเคลียร์เป็นเดิมพัน

ในอีกด้านหนึ่งวิกฤตคิวบาเกิดในขณะที่กำลังมี “การเลือกตั้งกลางเทอม” (midterm election) ในการเมืองอเมริกัน อันทำให้ปัจจัยภายในของสหรัฐเข้ามาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องด้วย

การตัดสินใจของทำเนียบขาวเพื่อเลือกหนทางปฏิบัติในการจัดการกับวิกฤตจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แน่นอนว่าการจัดการที่ผิดพลาดอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้

ซึ่งในวิชายุทธศาสตร์ศึกษา เราจะมีข้อสรุปว่า ผู้นำที่มีเหตุผลจะไม่พาประเทศเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์อย่างแน่นอน (ทฤษฎียืนอยู่บนพื้นฐานว่า ผู้นำรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์เป็น “rational man”)

แต่ในประวัติศาสตร์การเมือง เรามักจะพบเสมอว่า การเข้าสู่สงครามไม่ได้เกิดจาก “กระบวนการที่มีเหตุผล” (rational process) แต่อย่างใด เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ความเชื่อว่า สงครามนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อาจจะไม่เป็นจริง

ในจุดเริ่มต้นของปัญหา ประธานาธิบดีเคนเนดีมีความรู้สึกอย่างมากว่า ผู้นำโซเวียตโกหก เพราะก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีครุสชอฟยืนยันมาโดยตลอดว่า “ขีปนาวุธจากพื้นสู่พื้น” ของโซเวียตจะไม่ถูกส่งไปยังคิวบาเป็นอันขาด แต่ภาพถ่ายทางอากาศยืนยันว่าโซเวียตโกหก… สหรัฐถูกครุสชอฟหลอก!

ขณะเดียวกันสหรัฐก็หลอกตัวเอง ไม่ว่าทำเนียบขวาจะถามเรื่องสถานการณ์คิวบากี่ครั้ง คำตอบที่ได้จากการประมาณการข่าวกรองของอเมริกันก็คือ โซเวียตจะไม่นำขีปนาวุธซึ่งเป็น “อาวุธเชิงรุก” (offensive weapon) มาติดตั้งที่คิวบา

และยังประมาณการอีกว่า โซเวียตไม่มีวัตถุประสงค์จะเปลี่ยนให้คิวบากลายเป็น “ฐานทัพทางยุทธศาสตร์” ของตนแต่อย่างใด

และยังประเมินว่าโซเวียตจะไม่ทำเช่นนั้น เนื่องจากกลัวการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกัน (nuclear retaliation) เพราะสมดุลของอำนาจนิวเคลียร์ยังอยู่กับฝ่ายสหรัฐมากกว่า

 

สงครามและทางเลือก?

ความพยายามในการติดตั้งขีปนาวุธของโซเวียตมีการถกเถียงกันอย่างมากระหว่างครุสชอฟกับคาสโตร ซึ่งในเบื้องต้นคาสโตรไม่เห็นด้วย แต่ยอมจำนนด้วยเหตุผลเพื่อสร้าง “ความเข้มแข็งของสังคมนิยม” แต่อยากให้โซเวียตประกาศอย่างเปิดเผยถึงการส่งขีปนาวุธมาคิวบา เพราะโซเวียตมีสิทธิ์ที่จะส่งจรวดให้คิวบา และคิวบาก็มีสิทธิ์ที่จะรับจรวดจากโซเวียต

เนื่องจากถ้าใช้วิธีการปิดลับ การค้นพบของฝ่ายตรงข้ามจะกลายเป็นวิกฤตอย่างแน่นอน และเกมอาจจะกลับไปตกอยู่ในมือของเคนเนดี

ฉะนั้น เมื่อเกมมาอยู่ในฝั่งอเมริกาแล้ว ผู้นำที่ทำเนียบขาวจะเปิดเกมกลับอย่างไร ดังที่กล่าวแล้วว่า เกมนี้ไม่ง่าย เพราะเป็นการเล่นที่มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นเดิมพัน

เกมนิวเคลียร์ในฝั่งของสหรัฐไม่ได้มีผู้เล่นฝ่ายเดียว ในฝั่งของโซเวียตก็อาจไม่แตกต่างกัน และผู้เล่นที่สำคัญในสถานการณ์เช่นนี้คือ ผู้นำทหารและพลเรือน “สายเหยี่ยว” (สายเหยี่ยวไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มผู้นำทหาร) ที่เชื่อว่าวิกฤตนี้จะเป็นโอกาสของการขจัดคาสโตรและล้มล้างระบอบการปกครองของคอมมิวนิสต์ให้หมดสิ้นไปจากคิวบา กำลังรบจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด

แต่ผลสืบเนื่องของการใช้กำลังหมายถึงการพารัฐคู่ขัดแย้งเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ ซึ่งมีนัยไม่เพียงการทำลายสังคมของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำลายล้างโลกทั้งหมดด้วย

ตัวอย่างของสถานการณ์จำลองสงครามคือ สหรัฐขีดเส้นตายให้โซเวียตถอนจรวดออกจากคิวบา แต่ผู้นำมอสโกกลับประกาศว่า การโจมตีขีปนาวุธและกำลังพลของโซเวียตในคิวบา หมายถึงการโจมตีโซเวียต และจะถูกตอบโต้เต็มรูปแบบ (full retaliation)

แต่สหรัฐตัดสินใจเปิดการโจมตีฐานยิงขีปนาวุธในคิวบา และโซเวียตเปิดการโจมตีตอบโต้ด้วยขีปนาวุธพิสัยกลางต่อฐานยิงขีปนาวุธของอเมริกันในตุรกี ทำให้สหรัฐอาศัยพันธะตามความตกลงของสนธิสัญญานาโต เปิดการโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยกลางต่อฐานทัพโซเวียตที่โจมตีตุรกี

การโจมตีคิวบาและตุรกีส่งผลให้สงครามยกระดับขึ้นทันที และนำไปสู่การตอบโต้กันด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปของทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา

อันส่งผลให้โลกเข้าสู่ “สงครามนิวเคลียร์เต็มรูป”

แต่ถ้าต้องหลีกออกจากเส้นทางสงครามแล้ว ทำเนียบขาวต้องไม่พาตัวเองไปติด “กับดักสงคราม” ซึ่งคำเตือนของลิดเดลล์ ฮาร์ต (Liddell Hart) นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ จากหนังสือเรื่อง “Deterrence or Defense” (1960) เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเคนเนดีนำมาใช้ใคร่ครวญอย่างมาก ดังที่กล่าวว่า “อย่ากดดันข้าศึกให้จนมุม และจะต้องช่วยเขารักษาหน้าไว้เสมอ” ซึ่งทำให้เขาตั้งคำถามกับคณะที่ปรึกษา (ExComm) ตลอดเวลาว่า “เราควรจะคิดว่า ทำไมโซเวียตจึงทำเช่นนั้น” ลิดเดลล์ ฮาร์ต ยังเตือนอีกประการว่า ให้ลองคิดว่าเราเป็นข้าศึก อันจะทำให้เราเห็นปัญหาในมุมมองของฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากหากมีการยกระดับการตอบโต้ไม่หยุดแล้ว จะไม่มีใครคาดได้เลยว่าสถานการณ์โลกจะไปสิ้นสุดที่จุดใด

ฉะนั้น แนวทางสองประการสำคัญของทำเนียบขาวที่จะหยุดวิกฤต คือ

1) หยุดการส่งขีปนาวุธจากโซเวียต ด้วยการกำหนดแนวสกัดกั้นทางทะเลก่อนถึงคิวบา

2) ผลักดันให้มีการถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาด้วยวิถีทางการทูต อันเป็นเข็มมุ่งที่เคนเนดีประกาศชัดในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้าจะไม่กดดันรัสเซียมากเกินความจำเป็น แม้แต่นิดเดียว” ขณะเดียวกันก็พยายามเปิดพื้นที่ให้ครุสชอฟไม่ถูกกดดันมากจนเกินไป

(หรือโดยนัยคือ ต้องพยายามที่จะรักษาหน้าผู้นำโซเวียตด้วย)

 

เตรียมกำลังทางอากาศ

น่าสนใจว่าผู้นำทำเนียบขาวด้านหนึ่งมีชุดความคิดที่ “ยืดหยุ่น” ที่จะคิดถึงมุมมองของอีกฝ่าย และยอมที่จะประนีประนอม ขณะเดียวกันเคนเนดีเองก็ไม่ค่อยเชื่อกับทางเลือกที่ผู้นำทหารเสนอมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องในปี 1961 จากความล้มเหลวที่เกิดจากการส่งกองกำลังติดอาวุธไปขึ้นบกที่อ่าวหมู (The Bay of Pigs) ตามที่ฝ่ายทหารเสนอ

อีกทั้งประเด็นสำคัญคือ เคนเนดียอมรับถึง “ความอันตรายของสงครามนิวเคลียร์” และกังวลอย่างมากกับอิทธิพลของ “สายเหยี่ยว” จนเขาถึงกับมีข้อสรุปว่า “สายเหยี่ยวในสหภาพโซเวียตและในสหรัฐต่างก็หล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน”

หรือประโยคคลาสสิคที่ถูกอ้างจากคำกล่าวของเคนเนดีผู้น้องว่า “ข้าพเจ้ารู้แล้วว่าโตโจรู้สึกอย่างไร เมื่อเขาวางแผนโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์” (โตโจเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีส่วนอย่างสำคัญในการทำแผนยุทธการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่ฮาวายในเดือนธันวาคม 1941)

สำหรับสายเหยี่ยวแล้ว พวกเขาชี้ให้เห็นถึงความอันตรายของขีปนาวุธโซเวียตในคิวบา และวิธีการที่จะทำให้โซเวียตถอนจรวดออกจากคิวบาคือ การใช้กำลังรบ และจำเป็นต้องจัดการก่อนที่ขีปนาวุธจะอยู่ในขั้นตอนของ “operational use” เพราะถ้าไม่ทำลายได้ก่อน ขีปนาวุธดังกล่าวย่อมใช้ในการโจมตีเป้าหมายในสหรัฐได้ การโจมตีทางอากาศอย่าง “ถอนรากถอนโคน” (surgical air-strike) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในมุมมองทางทหาร พร้อมกันนี้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์แบบบี-52 จากกองบัญชาการอากาศยุทธศาสตร์ (SAC) ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม

เครื่องบี-52 จำนวน 4 ฝูงบิน พร้อมระเบิดนิวเคลียร์ถูกส่งขึ้นลอยลำกลางอากาศ เตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ หากสหรัฐถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (เครื่องบินนี้ 1 ลำจะติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ 4 ลูก) ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทหาร ที่เครื่องบินทิ้งระเบิดทุกลำของ SAC ได้รับคำสั่งให้ติดอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากไม่สามารถคาดได้ว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธของโซเวียตจะเกิดขึ้นเมื่อใด จนเคนเนดีถึงกับเปรียบเทียบว่า เป็นเหมือน “เกมพนันใหญ่”

แต่คณะที่ปรึกษา (ExComm) เลือก “การปิดล้อมทางทะเล” (naval blockade) ซึ่งสหรัฐไม่จำเป็นต้องใช้การใช้กำลังทางอากาศ การปิดล้อมนี้ทำให้โซเวียตไม่สามารถขนย้ายขีปนาวุธมาเพิ่มเติมที่คิวบาได้ แต่จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายในโครงสร้างการตัดสินใจของสหรัฐ ยอมรับว่าการปิดล้อมนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าการโจมตีทางอากาศ และโซเวียตจะยอมถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา…

โจทย์นี้ท้าทายทำเนียบขาวอย่างยิ่ง!