ชีวิต ‘จีนจน’ : เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“คิดถึงผู้ อยู่ห้องเช่า ที่ต่ำเตี้ย
ดูละเหี่ย ต้องแช่น้ำ จำอยู่ได้
เพราะไม่รู้ หลีกพ้น ไปหนใด
ต้องจำใจ แช่น้ำ ทุกค่ำคืน”

(พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 37)
“จีนจน” ในน้ำท่วมพระนคร

 

การศึกษาเรื่องน้ำท่วมพระนคร 2485 ถูกบันทึกไว้ในข่าวหนังสือพิมพ์ เอกสารราชการ ประวัติบุคคลร่วมสมัยหลายคน แต่หลักฐานเท่าที่พบมักเป็นบันทึกจากคนเมือง และยังไม่พบบันทึกจากเกษตรกรในเขตชนบท หรือแม้กระทั่งคนจนในพระนคร อาจด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทว่า แม้นจะพบภาพชีวิตคนยากจนในภาพยนตร์ของแท้ ประกาศวุฒิสาร และมีบันทึกประปรายถึงความทุกข์ยากของคนชั้นล่างในนิราศอยู่บ้างก็ตาม

ชะตากรรมของชีวิตสามัญชนในเมือง ผู้ต้องเดินทางทำมาหากินเมื่อครั้งน้ำท่วมนั้น เป็นเช่นไรยังสืบค้นข้อมูลได้ยาก แม้นเราอาจพบร่องรอยบ้างว่า ในช่วงน้ำท่วมต้นๆ บางช่วงกระแสน้ำไหลไหลแรงมาก จนเดินทวนน้ำไม่ไหว มีข่าวว่า มีชาวบ้านตกท่อระบายน้ำตายก็มี (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 474)

ไม่แต่เพียงศึกษาคนจนเมืองจะยากลำบากเท่านั้น แต่การค้นคว้าชาวต่างด้าวผู้ยากไร้ ผู้ใช้แรงงาน เป็นจีนอพยพแล้ว ยิ่งพบหาข้อมูลยากเข้าไปอีก แม้นอาจมีการบอกเล่าในครอบครัว แต่ความทรงจำนั้นอาจเลือนหายไปตามกาลเวลาได้

ดังนั้น บทความนี้พยายามให้ปะติดปะต่อภาพชีวิตจีนจนในพระนครยามน้ำท่วมนั้น

ชุมชนจีนริมทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำระแวกสามย่านเป็นแหล่งพำนักสำคัญของจีนจนแห่งหนึ่งในครั้งนั้น เราพอมีข้อมูลในย่านนั้นความทรงจำของ “ใหญ่ นภายน” และ “เฮียเม้ง ป.ปลา” ผู้เคยใช้ชีวิตวัยเด็กในละแวกนั้น ที่ให้ภาพสภาพแวดล้อมชุมชนย่านริมคลองหัวลำโพง ริมทางรถไฟในช่วงปลายทศวรรษ 2470-ทศวรรษ 2480

ชุมชนละแวกสามย่าน เมื่อ 2489 ถ่ายโดยวิลเลียมส์-ฮันท์ เครดิตภาพ เรือนไทย

ชุมชนจีนจนริมทางรถไฟสายปากน้ำ

ทางรถไฟสายปากน้ำเป็นของบริษัทรถไฟปากน้ำ ที่มีชาวเดนมาร์กเป็นเจ้าของ เริ่มก่อสร้างเมื่อ 2434 รถไฟสายนี้วิ่งจนถึงปากน้ำ สมุทรปราการ โดยมีสถานีต้นทางที่ตั้งกลางถนนพระราม 4 แต่ยกเลิกไปเมื่อ 2503 ปัจจุบันเหลือเพียงป้ายระบุ สถานีรถไฟปากน้ำเป็นอนุสรณ์เท่านั้น

ด้วยเหตุที่แหล่งจ้างงานแบกหาม ลากรถ ช่างฝีมือ หรือลูกจ้างห้างร้าน อยู่แถบท่าเรือราชวงศ์ ย่านการค้าแถวเยาวราช หรือท่าเรือคลองเตยนั้น ดังนั้น ชาวจีนอพยพและเหล่าจีนจนจึงสะดวกพักอาศัยตามชุมชนบ้านไม้ เรือนแถวที่มีค่าเช่าราคาถูกอันตั้งเรียงรายตลอดริมทางรถไฟสายปากน้ำตามความยาวของถนนพระราม 4 ต่อเนื่องกันตั้งแต่ย่านหัวลำโพง สะพานเหลือง สวนหลวง วังใหม่ สามย่าน

หากพิจารณาภาพถ่ายถ่ายทางอากาศภายหลังสงครามครั้งที่ 2 (2489) ของฮันท์ (Peter Williams-Hunt) ชาวอังกฤษ ช่างภาพฝ่ายสัมพันธมิตรที่บินถ่ายภาพพระนครจากทางอากาศเพื่อเรียกค่าเสียหายจากปฏิกรรมสงครามนั้น จะเห็นเรือนแถวไม้ตรงหัวมุมสามย่านต่อถนนพญาไท และชุมชนเรือนไม้ที่ปลูกติดต่อกันอย่างแออัดในละแวกนั้น

จากความทรงจำของ “ใหญ่ นภายน” หรือ จ.ส.อ.สมาน นภายน (2468-2553) นักดนตรีและแต่งเพลง บรรยายถึงสภาพถนนและชุมชนริมทางรถไฟสายปากน้ำช่วงปลายทศวรรษ 2470 ไว้ ด้วยใหญ่พักอยู่แถววัดแก้วแจ่มฟ้า บนถนนสี่พระยา เขาจึงมักไปวิ่งเล่น ทำทโมนไปตามละแวกถนนสี่พระยาและพระรามสี่ซึ่งเป็นถนนที่อยู่ใกล้กันเสมอ

เขาเล่าว่า ย่านสะพานเหลืองเป็นแหล่งชุมชนคนจีนและมีโรงงานขนาดเล็กหลายแห่ง มีโรงงานเป่าแก้ว 2 โรง อู่ต่อเรือเอี้ยมจุ๊น และมีโรงภาพยนตร์ชื่อตงก๊ก มีคนมาอุดหนุนกันมาก ที่ฉายเป็นภาพยนตร์จีน ก่อนฉายจะนำฉายรูปซุนยัตเซน เมื่อฉายจบแล้วจะฉายภาพในหลวงไทย (ใหญ่ นภายน, 2547, 89-91)

สภาพชุมชนจากภาพและความทรงจำสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนละแวกนั้นเป็นชุมชนคนจีนที่มีชีวิตไม่สุขสบาย พวกเขาเป็นกรรมกรแบกหาม เป็นช่างฝีมือตามโรงงานขนาดเล็กที่ไม่ห่างไกลไปจากที่พักนัก เช่น ย่านหัวลำโพง เยาวราช ราชวงศ์ ตลาดน้อย และท่าเรือคลองเตย เป็นต้น

ภาพถ่ายอาคารสถานีรถไฟสายปากน้ำที่ถนนพระราม 4 หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เครดิต สาระภิรมย์

ชุมชนจีนสามย่านยามสงคราม

ครั้นเมื่อกองทัพญี่ปุ่นคลื่อนทัพเข้าสู่ไทยเมื่อปลายปี 2484 ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่งเพื่อตั้งกองทหาร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนช่างกลปทุมวัน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสวนลุมพินี ทั้งนี้ เพื่อให้ใกล้กับศูนย์บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่ถนนสาทร (ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, 2563)

ในระหว่างอุทกภัยครั้งใหญ่ โชคดีที่ไม่มีเครื่องบินสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดพระนคร เพราะหากมีการโจมตีทางอากาศแล้วประชาชนจะลำบากมาก เนื่องจาก ประชาชนไม่รู้จะไปหลบภัยในหลุมหลบภัยที่ใดได้ เนื่องจากน้ำท่วมหลุมหลบภัยไปหมดแล้ว (รอง ศยามานนท์, 179)

ระดับน้ำท่วมละแวกสามย่านเป็นอย่างไรนั้น มีผู้บันทึกว่า “ในปี พ.ศ.2485 นั้นตรงถนนราชดำเนินตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ไปพายเรือเล่นได้สบาย ยิ่งแถวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยแล้วมองดูเจิ่งเป็นทะเลสาบไปเลยทีเดียว” (ส.พลายน้อย, 2520, 377)

สภาพพระนครยามน้ำท่วมพบเห็นขยะต่างๆ ลอยกระจายเกลื่อนไปบนท้องน้ำ ดังมีผู้บันทึกว่า “ขี้ขยะ แลสวะ ไหลมาเรื่อย พอน้ำเอื่อย เฮเข้าไป ในบ้านฉัน ต้องช้อนกวาด สาดออกไป ทุกวี่วัน อีกปลิงนั้น มีมา ดูน่ากลัว” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 36)

ไม่แต่เพียงขยะเท่านั้นที่เกลื่อนเมือง แต่การขับถ่ายของคนเมืองก็ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นกัน แม้นเทศบาลสร้างส้วมลอยน้ำให้บริการตามแหล่งชุมชนแล้วก็ตาม แต่หากชุมชนนั้นอยู่ห่างไกลส้วมชั่วคราวของเทศบาลแล้วไซร้ จะพบเห็นโดยทั่วไปว่า ตามที่กระแสน้ำไม่ไหลผ่านจะมีขยะและมูลคนลอยเกลื่อนไป (เหม เวชกร, 161-162)

ดังนั้น ชีวิตคนยากจนที่พักอาศัยในห้องแถวชั้นเดียวครั้งน้ำท่วมสูงนั้น เป็นช่วงเวลาที่หาพื้นที่แห้งยาก เพราะหากผู้ใดไม่มีเงินซื้อไม้กระดานสร้างพื้นเรือนอีกขั้นขึ้นแล้ว คนยากจนคงต้องแช่น้ำทั้งวัน เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย

ภายหลังจากน้ำท่วมจวบปลายสงครามในยามพระนครถูกโจมตีนั้น ชาวพระนครที่มีฐานะร่ำรวยหรือปานกลางมีกำลังทรัพย์ในการอพยพไปอยู่นอกเมืองเพื่อหลบระเบิดให้ชีวิตปลอดภัยได้ โดยหนังสือพิมพ์ครั้งนั้นรายงานว่า

การอพยพไปนอกเมืองมีต้นทุนสูง แต่พื้นที่เหล่านั้นขาดแคลนน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ไข้ชุกชุม โจรผู้ร้ายมาก และที่สำคัญค่าเช่าบ้านมีราคาแพง (ศรีกรุง, 24 กุมภาพันธ์ 2487) ดังนั้น คนยากจนในพระนครจึงไม่สามารถอพยพไปหาที่ปลอดภัยอยู่ได้ ด้วยพวกเขาขาดเงินและอยู่ไม่ได้โดยไม่มีงานทำได้

ดังนั้น คนจนผู้ยากไร้ทั้งหมดจึงต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังมีผู้บันทึกว่า “คนมีทรัพย์ ความยาก ลำบากน้อย เพราะมีทรัพย์ ใช้สอย ไม่ค่อยหวง แต่คนจน อัดใจ เพราะไส้กลวง” (พระยาอรรถศาตร์ฯ, 38)

อาคารสถานีรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปากน้ำ ตั้งอยู่กลางถนนพระราม 4
ทางรถไฟสายปากน้ำ เครดิตภาพ thailandphotomap
“ใหญ่ นภายน” และ “เฮียเม้ง ป.ปลา” สองผู้อาวุโสที่เล่าชีวิตละแวกชุมชนริมทางรถไฟปากน้ำ
ทหารญี่ปุ่นในพระนคร ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เครดิตภาพ : ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์
กุลีจีนแบกกล้วยใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง