แซงก์ชั่นรัสเซีย ไม่ได้ผลจริงหรือ?

9 เดือนของการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้การส่งกำลังทหารบุกเข้ายูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่เพียงไม่ได้ทำให้วลาดิมีร์ ปูติน ยอมยุติการสู้รบแล้วถอนกำลังออกจากยูเครน หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้กุมอำนาจในรัสเซียเท่านั้น ยังก่อให้เกิด “ผลข้างเคียง” สะเทือนออกไปทั่วโลก

นักการเมืองในยุโรปบางส่วน โดยเฉพาะฝ่ายซ้ายสุดโต่งกับกลุ่มขวาจัดถึงกับระบุว่า การแซงก์ชั่นดังกล่าวไม่มีประโยชน์ รังแต่จะทำร้าย ทำลายอียูเท่านั้นเอง

แน่นอนว่า แซงก์ชั่นที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศใช้เพื่อลงโทษรัสเซียนั้นไม่ได้ทำให้สงครามยุติ แล้วก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแกนนำกุมอำนาจในรัสเซียเหมือนๆ กับที่เคยพิสูจน์กันมาแล้วว่า การใช้การแซงก์ชั่นเพื่อการนี้ไม่เคยได้ผล ไม่ว่าจะต่อซีเรีย, คิวบา, เวเนซุเอลา หรือเกาหลีเหนือ

แต่ถ้าหากหันมาพิจารณาว่า สิ่งเหล่านั้นไม่เคยเป็นเป้าหมาย หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เป้าหมาย “เร่งด่วน” ลำดับต้นๆ ของการแซงก์ชั่น ก็ต้องถามต่อเช่นกันว่า แล้วเป้าหมายคืออะไร ได้ผลหรือไม่ได้ผล

(Photo by Sergei SAVOSTYANOV / POOL / AFP)

ความสับสนในเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเมื่อประกาศการแซงก์ชั่นนั้น ชาติตะวันตกไม่ได้เน้นย้ำออกมาอย่างชัดเจนว่า เป้าหมายถึงที่สุดของมาตรการต่างๆ เหล่านั้นคืออะไร

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ในถึงขณะนี้การแซงก์ชั่นกำลังส่งผลตามที่ต้องการ และยิ่งนานวันเข้าประสิทธิภาพก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งตรวจสอบชุดมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกา กับสหภาพยุโรปและพันธมิตรนำมาใช้ตอบโต้รัสเซียอย่างถี่ถ้วนและชี้ว่า การแซงก์ชั่นเท่าที่ผ่านมา จำกัดเป้าหมายสำคัญอยู่เพียงแค่ 3 ประการเท่านั้น คือ การ “ส่งสัญญาณ” ให้เห็นกระจ่างชัดและมั่นคงว่า ชาติตะวันตกจะยืนเคียงข้างยูเครน ไม่เพียงไม่ทอดทิ้งแต่จะยังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในการต่อต้านกับกองทัพรัสเซีย

ถัดมาก็คือการตัดกำลัง ลดทอนขีดความสามารถในการก่อสงครามของรัสเซียลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

และสุดท้ายก็คือการสร้างแรงกดดัน บีบคั้นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อสถานการณ์ในยูเครนเท่านั้น แต่จะยังเป็นการป้องปรามในอนาคตอีกด้วย

 

การส่งสัญญาณทางการทูตของชาติตะวันตกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

เพราะ 9 เดือนที่ผ่านมา ความร่วมมือกันต่อต้านรัสเซียยังคงแข็งแกร่งและแน่วแน่ สร้างความสับสนให้กับปูติน ที่คาดหมายว่า พันธมิตรตะวันตกอ่อนแอและแตกแยกซึ่งกันและกันได้ไม่น้อย

ทั้งยัง “เซอร์ไพรส์” รัสเซียมากขึ้นไปอีกจากการใช้เวลาเพียงไม่ช้าไม่นานออกมาตรการแซงก์ชั่นต่อบริษัทและเอกชนรัสเซียหลายพันราย, ตัดขาดธนาคารหลายแห่งของรัสเซียออกจากระบบถ่ายโอนเงินระหว่างประเทศอย่างสวิฟต์ และสามารถ “อายัด” ทุนสำรองธนาคารกลางรัสเซียได้กว่าครึ่ง ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

เป้าหมายในการแซงก์ชั่นลำดับที่สองก็ยังคงส่งผลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียเองยืนกรานไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม การแซงก์ชั่นส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียถดถอยลงอย่างหนักและต่อเนื่อง จนถึงขนาดทำให้รัสเซียจำเป็นต้อง “อำพราง” ด้วยการไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจเหมือนปกติที่ผ่านมา

กระนั้นตัวเลขที่ยังคงเผยแพร่อยู่ก็สะท้อนให้เห็นผลพวงรุนแรงจากการแซงก์ชั่น

ในเดือนตุลาคม จีดีพีของรัสเซียหดตัวลงถึง 4.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2021

ผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมลดลงเกือบ 3 เปอร์เซ็นต์, ค้าปลีกหายไปมากเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างเห็นได้ชัด

อุตสาหกรรมรถยนต์ของรัสเซียหั่นการผลิตทั้งอุตสาหกรรมลงมากถึง 64 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากไม่มีดีมานด์เข้ามาและขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบสำคัญซึ่งจำเป็นต้องนำเข้า

ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ย่ำแย่เฉพาะในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เป็นอย่างนี้เรื่อยมานับตั้งแต่เดือนเมษายนต้นปีนี้ และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่อาจแย่ลงมากยิ่งขึ้นเมื่อตัวเลขเดือนกันยายนเผยแพร่ออกมา

เพราะจะสะท้อนให้เห็นสภาพโดยรวมเมื่อมีการเกณฑ์ทหารเข้าไปเสริมกำลังในยูเครนแล้วนั่นเอง

 

ปูตินและพวกในคณะรัฐบาลรู้ดีว่า สถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นภายในประเทศได้มากพอๆ กับการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลซึ่งขาดดุลอย่างรุนแรง

กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับชาติผู้ส่งออกน้ำมันอย่างรัสเซียในภาวะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมหาศาลเช่นนี้ และแม้ว่ารัสเซียยังคงมีเงินทุนสำรองอยู่ในกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐ ให้ได้พึ่งพา แต่เม็ดเงินดังกล่าวก็จะงวดและหมดลงในไม่ช้าไม่นาน

มาตรการแซงก์ชั่นทางด้านเทคโนโลยี ยังก่อให้เกิดปัญหาเร่งด่วนขึ้นกับรัสเซียเมื่อระบบอาวุธและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าจากสหรัฐอเมริกาเพราะรัสเซียไม่ได้มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญได้ด้วยตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญบางรายระบุว่า ระบบมิสไซล์ของรัสเซีย ใช้ไมโครชิพที่ผลิตในโลกตะวันตก และในช่วงที่ผ่านมา การนำเข้าไมโครชิพหดหายไปมาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในสมรภูมิที่ยูเครน โดยเฉพาะถ้าหากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไปในอีกหลายเดือนข้างหน้า

เป้าหมายประการสุดท้ายของชุดมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการแซงก์ชั่นหนนี้ ก็คือการบีบให้ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าตาจน โดยการพุ่งเป้าเข้าโจมตีภาคการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ ก็กำลังจะได้ผล

รัสเซียรู้ดีว่าแหล่งพลังงานที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้กำลังจะงวดลง การเพิ่มปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำเป็นต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี และเม็ดเงินลงทุนใหม่มหาศาล

ในขณะที่หลายฝ่ายคาดกันว่า ราคาน้ำมันและก๊าซจะเริ่มลดลงไปอีกในปีหน้า เมื่อบวกกับการแซงก์ชั่นน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียของอียู ที่จะเริ่มต้นในปีหน้า ก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาหนัก ทั้งในทางด้านการเงินและการคลังของประเทศ

และจะยิ่งเลวร้ายลงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับนับแต่นี้เป็นต้นไป