‘ชัชชาติ’ เดินหน้าเข้าโหมดท้าทาย ลุยรีดภาษีคนกรุง 5 รายการ หวังดึงเม็ดเงิน 1.4 พันล้าน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / various sources / AFP)

‘ชัชชาติ’ เดินหน้าเข้าโหมดท้าทาย ลุยรีดภาษีคนกรุง 5 รายการ ‘น้ำมัน-โรงแรม-บุหรี่-ที่จอดรถ-ก่อมลพิษ’ หวังดึงเม็ดเงิน 1.4 พันล้านเข้า กทม.

 

6 ธันวาคม 2565 มีการจัดประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งที่ 26/2565 โดยมีผู้ว่าราชการ กทม.คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นั่งตำแหน่งประธานหัวโต๊ะ

ดูเหมือนเป็นการประชุมตามปกติ 2 สัปดาห์/ครั้ง แต่หนนี้มีวาระแซบเว่อร์เกี่ยวกับ “การจัดเก็บรายได้ของ กทม.” ซึ่งมีทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ที่เกี่ยวกับการขยายฐานภาษี และขยายฐานสร้างรายได้ให้กับ กทม.

ดังนั้น แมตช์ประชุมครั้งที่ 26/2565 จึงมีความไม่ปกติเกิดขึ้น เพราะเกี่ยวพันถึงฐานะงบประมาณ กทม.ที่มีก้อนเงินอยู่ที่ปีละ 80,000 ล้านบาทบวกลบ โดยบางปีเคยขึ้นไปอยู่ที่ 82,000 ล้านบาท บางปีก็ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท

ล่าสุด ปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2566 มีก้อนเงินอยู่ที่ 79,000 ล้านบาท

 

กล่าวสำหรับ “ชัชชาติโมเดล” ทางนิด้าโพลเพิ่งสรุปผลงาน 6 เดือนแบบจัดเต็มเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 โดยทำหัวข้อผลงาน 17 ด้านแล้วให้กลุ่มตัวอย่าง 1,500 รายโหวตให้คะแนน

ในที่นี้ หากขมวดปมเป็นท็อป 5 ไม่ดีเลย กับท็อป 5 ดีมาก มีดังนี้

5 อันดับแรกที่คะแนนผลงาน “ไม่ดีเลย” ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง 20.40% 2.การจัดระเบียบการชุมนุม 17.33% 3.การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงาน กทม. 16.06% 4.การแก้ไขปัญหาจราจรและรถติด 14.13% 5.การจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนจรจัด ขอทาน 14.07%

ขณะที่ 5 อันดับแรกที่ผลงาน “ดีมาก” ได้แก่ 1.การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 39.07% 2.การส่งเสริมการท่องเที่ยวใน กทม. 38.13% 3.การสนับสนุนการกีฬา 34.87% 4.การแก้ไขปัญหาความสะอาด ขยะ ฝุ่นละออง น้ำเสีย 33.13%

5.การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 31.80%

 

ถ้าจับสังเกตเล็กๆ จะเห็นร่องรอยว่า ประเภท “ผลงานไม่ดีเลย” คนกรุงเพิ่งจะฟ้องผู้ว่าฯ ชัชชาติเป็นอันดับ 1 ในเรื่องการแก้ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ด้วยคะแนน 20.40%

เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะวาระประชุมครั้งที่ 26/2565 มีการหยิบยกเรื่อง “แนวทางจัดเก็บรายได้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน” มาเป็นหนึ่งในหัวข้อหลัก

นั่นหมายความว่า ปีงบประมาณ 2566 ที่มีก้อนเงิน 79,000 ล้านบาท ทางผู้บริหาร กทม.กำลังจะมีการรื้อ-จัด-ปัดฝุ่นทุกวิถีทาง เพื่อเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในปีงบประมาณ 2567

ถึงแม้จะฝืนความรู้สึกคนกรุงที่ยังเดือดร้อนอัตคัดขัดสนอยู่กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนานจากสถานการณ์โควิดก็ตาม ปฏิบัติการเรียกเก็บภาษี-ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมครั้งนี้ จึงถือเป็นโหมดที่ท้าทายเป็นอย่างที่สุดสำหรับ “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคะแนนเสียงหนุนหลัง 1.38 ล้านเสียง

“เรื่องโพลเกี่ยวกับ กทม. ซึ่งมีทั้งจุดที่ดีและไม่ดี จุดที่ไม่ดีก็ต้องปรับปรุง โดยเรื่องหลักๆ คือ ค่าครองชีพ คนเร่ร่อน และปัญหาจราจร…” และ

“แนวทางการเพิ่มรายได้ให้ กทม.พยายามไม่ให้กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่” คือคำกล่าวของผู้ว่าฯ ชัชชาติ

 

สรุปสาระสำคัญจากที่ประชุม 26/2565 ทาง “สำนักการคลัง” นำเสนอโมเดลการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับ กทม. ผ่านการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียม อธิบายให้เข้าใจง่ายเป็นสูตร “3 เก่า+2 ใหม่” ดังนี้

“สูตร 3 เรื่องเก่า” มาจากการย้อนกลับไปเอ็กซเรย์รายได้ตกหล่นของ กทม. ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอะไรบ้าง

สิ่งที่สแกนเจอก็คือภาษีและค่าธรรมเนียม 3 รายการ ประกอบด้วย

1. “ภาษียาสูบ” จากเดิม กทม.ยังไม่มีการจัดเก็บ แต่มีตัวแบบจากองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศได้อำนาจจัดเก็บตั้งแต่ปี 2546 ในอัตราไม่เกินมวนละ 10 สตางค์ หรือซองละ 2 บาท

2. ภาษีน้ำมัน ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 5 สตางค์/ลิตร ตัวแบบจากท้องถิ่นทั่วประเทศเก็บที่เพดาน 10 สตางค์/ลิตร ดังนั้น กทม.จึงจะขอปรับเพิ่มเป็นอัตราไม่เกิน 10 สตางค์/ลิตร

3. “ค่าธรรมเนียมโรงแรม” จากเดิม กทม.ยังไม่มีการจัดเก็บ และอีกเช่นกันที่ท้องถิ่นทั่วประเทศมีอำนาจจัดเก็บที่อัตรา 2% ของค่าเช่าห้อง

 

“สูตร 2 เรื่องใหม่” คือ 4. “ภาษีก่อมลพิษ” หรือ PPP (Polluter Pay Principle) ภาษีรายการนี้เป็นเรื่องใหม่แน่นอนเพราะยังไม่เคยมีการจัดเก็บมาก่อนในประเทศไทย ปัจจุบันทางกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพศึกษาแนวทางจัดเก็บอยู่ ตัวแบบมาจากเมืองทั่วโลกมีการจัดเก็บเพื่อชดเชยความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษ

และ 5. “ค่าธรรมเนียมจอดรถริมถนน” รายการนี้ก็นับเป็นเรื่องใหม่เช่นกัน เพราะยังไม่ปรากฏตัวแบบการจัดเก็บในท้องถิ่นทั่วประเทศแต่อย่างใด

สภาพปัญหาในปัจจุบัน มีบางคนใช้ถนนเป็นที่จอดรถระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรและไม่เกิดการหมุนเวียนที่จอดรถ ทำให้ร้านค้าบริเวณนั้นได้รับผลกระทบจากการไม่มีที่จอดรถ จึงต้องมีการจัดเก็บส่วนนี้

โดยค่าจอดรถริมถนน ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ศึกษาลงลึกรายละเอียด

 

ปฏิบัติการเปิดหน้าไพ่เตรียมขยายฐานรายได้เพิ่ม 5 รายการในครั้งนี้ วางเป้าเพิ่มก้อนเงินเข้าสู่ระบบงบประมาณ กทม. อย่างน้อยปีละ 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณมาจาก 3 รายการที่เป็นเรื่องเก่า

ได้แก่ ภาษียาสูบ คำนวณจัดเก็บซองละ 2 บาท คาดว่ามีรายได้ปีละ 200 ล้านบาท, ภาษีน้ำมัน ขยับจาก 5 สตางค์เป็น 10 สตางค์/ลิตร ประเมินว่าทำรายได้เพิ่มปีละ 200 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมโรงแรม 2% ของค่าเช่าห้อง คาดหวังรายได้เป็นกอบเป็นกำที่ปีละ 1,000 ล้านบาท

โดย กทม.ไม่ได้ปริปากว่าอีก 2 รายการในเรื่องค่าจอดรถริมถนน กับภาษีก่อมลพิษ วางเป้าเพิ่มรายได้ให้ กทม.อีกกี่มากน้อย

คำถามคือ “ภาษียาสูบ-ภาษีน้ำมัน-ค่าธรรมเนียมโรงแรม” ทำไมจึงเป็นเรื่องเก่าที่ทำให้รายได้ กทม.ตกหล่น ในขณะที่ท้องถิ่นทั่วประเทศมีการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2546 หรือ 20 ปีที่แล้ว

หากคำนวณเล่นๆ ถ้า กทม.จัดเก็บตั้งแต่ปี 2546 มีรายได้อยู่ที่ปีละ 1,400 ล้านบาท ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสามารถคำนวณเป็นเม็ดเงินรายได้รวมกัน 28,000 ล้านบาท แต่สถานะปัจจุบันเป็นรายได้ทิพย์ เพราะอะไร?

คำตอบที่ค้นพบอยู่ที่โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน โดยอำนาจที่ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดเก็บ 3 รายการนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542

อีกฟากหนึ่ง การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีรูปแบบพิเศษอยู่ 2 เมืองคือ “กรุงเทพมหานคร” กับ “เมืองพัทยา” ที่ใช้กฎหมายเฉพาะของตัวเอง ในที่นี้ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ จึงไม่ครอบคลุมเขตอำนาจ กทม.

 

ดังนั้น หากต้องการจัดเก็บรายได้ 3 รายการนี้ ทาง กทม.จำเป็นจะต้องขอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร 2528 ซึ่งหมายความว่าต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ๆ เพราะขั้นตอนมีอีกยาวไกล โดยต้องนำเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งต่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร

การเปิดหน้าไพ่จัดเก็บรายได้เพิ่มจาก 5 รายการดังกล่าว จึงถือเป็นช่วงโหมโรงสร้างการรับรู้ให้กับคนกรุง ส่วนจะเห็นด้วยหรือคัดค้าน ชอบหรือไม่ชอบ การผลักดันน่าจะไม่ทันรัฐบาลประยุทธ์ 2

ตามไทม์ไลน์คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา อย่างเร็วที่สุดก็คือในช่วงหลังเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 โน่นเลย