วุฒิภาวะคน กทม. “แข็งแกร่ง” | นายดาต้า

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

แม้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จะได้รับเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือที่เรียกว่า “แลนด์สไลด์” ด้วยคะแนนมากกว่าผู้สมัครทุกคนรวมกัน แต่ในช่วงที่ฝนตกหนักใน กทม. และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ คนกลุ่มหนึ่งออกมาโจมตีหนักหน่วง ทำนองเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่เอาแต่สร้างภาพ

“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” มาถูกซ้ำอีกทีเรื่องที่ “กรุงเทพมหานคร” ติดค้างชำระหนี้ ที่ BTSC เรียกชำระ ถึง 40,000 ล้านบาท มีการถามโดยขึ้นป้าย และทำคลิป “ติดหนี้ต้องจ่าย” โจมตีว่า “ผู้มีอำนาจโยนกันไปโยนกันมาไร้การตัดสินใจ”

อันทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า “ผู้ว่าฯ กทม.” หนีปัญหา

หลายดอกที่ “ชัชชาติ” ถูกไล่ขยี้ ทำให้เริ่มมีการจับตาว่า “คน กทม.คิดอย่างไร” แยกแยะความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับการมองเห็นความทุ่มเทของคนทำงานหรือไม่

ช่วงนั้นไม่มีคำตอบอะไร

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “6 เดือนผู้ว่าฯ ชัชชาติ” แล้วผลออกมาว่า “ความพึงพอใจของคนกรุงเทพมหานครต่อการทำงานใรรอบ 6 เดือนแรกของผู้ว่าฯ ชัชชาติ” นั้น ร้อยละ 42.60 ค่อนข้างพอใจ, ร้อยละ 38.93 พอใจมาก, มีแค่ร้อยละ 10.54 ที่ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 7.93 ไม่พอใจเลย

นั่นหมายความว่า ที่ผ่านมาเสียงโจมตีที่ค่อนข้างรุนแรงต่อ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” นั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่เป็นเสียงที่ดังอยู่บ้าง เพราะเป็นคนพอมีชื่อเสียงที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ

ยิ่งลงไปในรายละเอียดของผลงานยิ่งชัดเจนยิ่ง เพราะจากการสำรวจ 17 เรื่อง มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ความพอใจต่อผู้ว่าฯ ได้ไม่เกินครึ่ง นั่นคือ “การแก้ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ที่ร้อยละ 32.26 บอกไม่ค่อยดี และร้อยละ 20.40 ตอบว่าไม่ดีเลย

ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ, การส่งเสริมการท่องเที่ยวใน กทม., การสนับสนุนการกีฬา, การแก้ไขปัญหาความสะอาด ฝุ่นละออง น้ำเสีย, การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม, การปรับปรุงการให้บริการในหน่วยงานของ กทม., การปรับปรุงและจัดระเบียบทางเท้า เช่น หาบเร่แผงลอย การจอดยานพาหนะหรือตั้งร้านบนทางเท้า, การปรับปรุงทัศนียภาพ ถนน ตรอก ซอก ซอย, การแก้ปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข, การจัดระเบียบชุมชน, การป้องกันอาชญากรรม และการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การติดไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด ระบบรักษาความปลอดภัย, การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชั่นในหน่วยงานของ กทม., การพัฒนาการศึกษาและการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน, การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า เรือ, การแก้ปัญหาจรจรและรถติด, การจัดระเบียบคนเร่ร่อน คนจรจัด ขอทาน

ความพอใจของคน กทม.ล้วนผ่านฉลุยในทุกเรื่อง

นั่นหมายถึงใครที่คิดว่าคนมีชื่อเสียงจะออกมาสร้างกระแสให้คน กทม.คล้อยตามได้ เป็นเรื่องที่คิดผิด

คน กทม.ในยุคสมัยเช่นนี้ มีวุฒิภาวะพอที่จะชัดเจนในความคิดความอ่านที่เป็นตัวของตัวเอง

และความเป็นไปเช่นนี้ย่อมน่าสนใจยิ่ง ด้วยอีกไม่นานการเลือกตั้งทั่วไปที่จะชี้ชะตาว่าประเทศมีความหวังจะพัฒนาไปตามศักยภาพที่มีอยู่ หรือถอยหลังเข้าคลองด้วยเจตนาของคนบางกลุ่มบางพวก

คน กทม.จะแสดงออก หรือตัดสินอย่างไร

จากวุฒิภาวะที่รู้จักแยกแยะ ความเป็นจริงต่อการสร้างกระแสชี้นำหวังครอบงำ ย่อมเป็นเรื่องน่าอุ่นใจว่า อย่างน้อยคนเมืองหลวงของประเทศ จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ “อำนาจของประชาชน”