ไม่เคยมี พรรคทหารที่ ‘สร้างชาติ’ | เหยี่ยวถลาลม

แค่คำว่า “พรรคทหาร” ก็ต้องนับว่าวิปริตพิสดารในทางการเมือง

ทหารในฐานะปัจเจกบุคคลสามารถที่จะฝักใฝ่สนใจศึกษาค้นคว้าและมีอุดมการณ์ทางการเมืองได้ตามที่รักตามที่ชอบ

แต่ทหารไม่อาจเล่นการเมือง และทหารก็ไม่อาจมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในวันกองทัพบก 25 มกราคม 2499 ตอนหนึ่งว่า “…ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ ทหารจึงต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่ไม่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเที่ยวเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น…”

ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กินเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงจากรัฐ เป็นลูกจ้างในบังคับบัญชาของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลทุกรัฐบาล

พรรคทหารจึงไม่อาจมี

แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังรัฐประหารผ่านไปสักพักก็มักจะมี “พรรคทหาร” ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้คณะนายทหารที่ก่อรัฐประหารใช้เป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจว่าผ่านการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้ปล้นชิงใครมา

จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนักเรียนนอกซึ่งได้ประสบพบพานอารยธรรมประเทศที่เจริญก้าวหน้าในยุโรป ครั้นเมื่อเล็งเห็นว่าเส้นทางอำนาจจากรัฐประหารเริ่มเสื่อมถอย “ป.พิบูลสงคราม” ก็สร้าง “พรรคการเมือง” ของตัวเองขึ้นมาใช้ชื่อว่า “เสรีมนังคศิลา” ตั้งตัวเป็นหัวหน้าพรรค แล้วขนเอาพรรคพวกลูกน้องข้าราชการที่เป็นมือขวามือซ้าย ขาซ้ายขาขวาเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง

พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค ถนอม ประพาส ร้อยเรียงกันมาเป็นพวง ท่วงท่าไม่มีเงื่อนงำสลับซับซ้อนอะไร ก็แค่ผัดหน้าทาแป้งแต่งตัวแปลงโฉมใหม่ จากการใช้ปืนจี้บังคับมาเป็นฉ้อฉลด้วยกลเกมเลือกตั้งเพื่อที่จะได้มีอำนาจสืบไป

สมัยนั้นไม่ต้องใช้คำสัญญา ไม่มีคำว่า อีกไม่นาน ว่ากันดื้อๆ ด้านๆ!

แต่ลูกน้องอย่าง “สฤษดิ์” หัวไวจับกระแสที่คุกรุ่นตั้งแต่ฟ้าจรดดินได้ จึงลงมือหักหลังนาย

เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ล่วงผ่านไปได้แค่ครึ่งปี “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ก็รัฐประหาร ทำให้ “ป.พิบูลสงคราม” ต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้ากัมพูชาแล้วลี้ภัยไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นอย่างถาวร

พรรคทหาร “เสรีมนังคศิลา” ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งและเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลจึงเคว้งคว้าง ที่สุดก็ถูกดูดไปรวมกับ “พรรคชาติสังคม” ของจอมพลสฤษดิ์ นายใหม่ของการเมืองไทย

ถึงยุคที่จอมพลถนอม กิตติขจร รุ่งเรืองสุดขีดก็ตั้งพรรคการเมือง ใช้ชื่อว่า “สหประชาไทย” แต่นายทหารผู้ทรงอำนาจมักจะไม่คุ้นชินกับท่วงทำนองแมลงหวี่ของนักการเมือง “ถนอม” เลือกที่จะคิดและทำตามใจที่ชอบมากกว่า จึงลงมือทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง แล้วครองอำนาจล่วงมา

จนกระทั่งถึงวันรูดม่าน 3 ทรราช “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ใน 14 ตุลาคม 2516

ทหารที่ก่อรัฐประหารในยุคหลังๆ พยายามหลอกประชาชนให้แยบยลแนบเนียนยิ่งขึ้น

รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 “รสช.” จึงสลับฉากด้วยการเชิญ “อานันท์ ปันยารชุน” มาเป็นนายกรัฐมนตรี

“สุนทร-สุจินดา” สงวนท่าที – ไม่เอาๆ ไม่เป็นๆ ขณะที่ “หลังฉาก” สมคบคิดให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งแก้เกมทางสภาและจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเตรียม “อุ้ม” นายทหารที่เป็นผู้นำรัฐประหารขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี”

พอ “สุจินดา” เปล่งคำว่า “ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ” พร้อมกับหย่อนก้นนั่งลงบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง นักการเมืองอีกฝั่งก็สุมฟืนจุดไฟจนกลายเป็น “พฤษภาทมิฬ 2535”

พรรค “นอมินี” ทหารก็พบกับจุดจบ!

ทหารกลับสู่กรมกอง

แต่ไม่ได้หมายความว่า มีสำนึก มีวินัย มีบทเรียนว่าทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

หากเป็นท่วงทำนอง ซุ่มซ่อนยาวนาน รอคอยจังหวะโอกาส

พรรคทหารไม่เคยตาย แต่ก็ไม่เคยทำอะไรให้ประเทศพัฒนาเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

เดือนกันยายน 2549 ทหารทำรัฐประหารอีก

คราวนี้ไม่รู้ว่าเป็นลูกไม้ “เขินอาย” ของหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือเป็นเพราะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน “บารมีไม่ถึง” จึงไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

(Photo by MIKE CLARKE / AFP)

ต่างกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถูกที่ถูกเวลา

“คสช.” ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 เสร็จ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” เสียเอง แต่เกรงจะซ้ำรอย “เสียสัตย์เพื่อชาติ” จึงเล่นมุขใหม่ ปล่อยเพลง “…ขอเวลาอีกไม่นาน”

เขียนกติกากับไล่ล่าจับกุมคุมขังคนเห็นต่างอยู่ 5 ปี ได้สิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ซึ่งหัวหน้า คสช.เป็นคนแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนใส่เอาไว้ในสภา ให้นั่งรอยกมือ “โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” หลังเลือกตั้ง ในขณะที่ “รัฐมนตรี 4 กุมาร” ของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็ตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ “พลังประชารัฐ”

มีภารกิจชัดๆ ว่าเป็น “นั่งร้าน” ให้ “หัวหน้า คสช.” เป็นนายกรัฐมนตรี

เลือกตั้ง 2562 เสร็จสิ้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

“ประยุทธ์” หัวหน้า คสช.ผู้นำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พ้นจาก “นายกรัฐมนตรีคนเก่า” ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ได้ด้วย “มือ” ของนักการเมืองจากพรรคจัดตั้งของทหารที่รวมกับ “มือ” ของ “250 ส.ว.”

4 กุมารนั่งร้านทหารถูกรื้อทิ้ง!

“พลังประชารัฐ” เบ็ดเสร็จอยู่กับ “ป้อม”

ในเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 “พรรคทหาร” เตรียมแตกแบงก์พัน

แต่ไม่ว่า “ประยุทธ์” จะไปรวมไทยรวมแขกหรือรวมใครพวกไหนจัดตั้งพรรคการเมือง ประวัติศาสตร์ก็ชี้ชัดว่า ไม่เคยมี “พรรคทหาร” ที่สร้างชาติ

มีแต่คำคุยโม้โฆษณาหาประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีเจตจำนงที่มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาให้ประชาชน ไม่มีแนวคิดพลิกโฉมชีวิตความเป็นอยู่ ไม่มีแนวทางสร้างอาชีพที่มั่นคง ปลอดหนี้ มีรายได้มั่งคั่ง ไม่มีนโยบายอากาศ สิ่งแวดล้อม ไม่มีเมืองในฝัน เมืองศิลปะ เมืองวัฒนธรรม เมืองแห่งป่า ขุนเขา แม่น้ำ ไม่มีแผนสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้แก่ลูกหลาน

ไม่มีอุดมการณ์และความเสียสละ

เกือบ 70 ปีแล้วที่พรรคทหารพูดและทำเหมือนกัน

ทุกอย่างรวมศูนย์และเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคง” ของพวกพ้องน้องพี่ที่เป็น “เสาค้ำ”!?!!