รัฐธรรมนูญไทย

วัชระ แวววุฒินันท์

เป็นที่รู้กันว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกมีขึ้นในปี 2475 ปีเดียวกับที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเข้ายึดครองบ้านเมืองด้วยประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระแสการเมืองการปกครองของโลกในยุคนั้นที่ประชาชนคือเจ้าของประเทศ ถัดจากนั้นอีก 6 เดือน ราชอาณาจักรไทยก็ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับจริงขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม 2475

ซึ่งอยู่ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันเป็นช่วงที่ลำบากและท้าทายอย่างมากสำหรับพระองค์ท่าน

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ ขอนำเกร็ดที่ได้จากการอ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สมัยพระปกเกล้าฯ” เขียนโดย รศ.ดร.สำราญ ผลดี ของสำนักพิมพ์ศรีปัญญามาเล่าให้ฟังกันนะครับ

 

จริงๆ แล้ว เค้าลางเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ยุคนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เมื่อชาติต่างๆ ในยุโรปได้ขยายอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก แนวคิดเรื่องรูปแบบการปกครอบแบบประชาธิปไตยก็ได้แพร่ขยายออกไปด้วย

รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักเรื่องนี้ดี และได้มีการปรับเปลี่ยนสยามให้เข้ากับโลกยุคใหม่ในขณะนั้นมากขึ้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานถึงสิ่งที่จะมีมา เช่น ทรงเลิกทาสให้ประชาชนรับรู้ถึงความเป็นอิสระแก่ตัว, ทรงพัฒนาด้านการศึกษา, ทรงส่งพระราชวงศ์และข้าราชการไปศึกษาถึงความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ในยุโรป และนำกลับมาพัฒนาประเทศ

ในรัชสมัยของพระองค์เมื่อตอน ปี 2427 หรือ ร.ศ.103 ได้มีคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชการที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ได้ถวายความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอย่างประเทศยุโรป พระองค์ก็ทรงเข้าพระทัยเรื่องนี้ดี หากแต่ทรงมีความเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาสำหรับเมืองไทยในขณะนั้น เพราะราษฎรยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ก็ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน จึงได้กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ดุสิตธานี” ขึ้น เพื่อเป็นสนามทดลองสำหรับข้าราชการไทยให้ได้เรียนรู้รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก่อนจะเผยแพร่ไปให้ประชาชนได้รับรู้ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก

และในปี 2454 ได้เกิดกรณี “กบฏ ร.ศ.130” ขึ้น หวังจะยึดอำนาจทางการเมืองจากรัชกาลที่ 6 จากนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองใหม่เป็นแบบ “ประชาธิปไตย” โดยคณะพรรคที่ก่อการ ตั้งใจว่าหากทำการสำเร็จก็จะเปลี่ยนเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แทนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ด้วย

แต่ได้เกิดความลับรั่วไหลเสียก่อน การก่อกบฏจึงทำไม่สำเร็จ

“ประวัติศาสตร์การเมืองไทย สมัยพระปกเกล้าฯ” เขียนโดย รศ.ดร.สำราญ ผลดี สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

ครั้นเมื่อมาถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าประชาธิปไตยนี้จึงเปรียบได้กับ “ไฟร้อน” ที่พร้อมจะเผาผลาญราชบัลลังก์ของพระองค์ลงได้ ความที่ไฟนี้ได้ก่อเชื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว

พระองค์เองก็ทรงเห็นว่าถึงคราวที่ประเทศไทยต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกอย่างแน่นอน จึงมีการเตรียมประเทศให้พร้อมเท่าที่จะทำได้ เช่น จัดให้มีการปกครองในรูปแบบ “เทศบาล” เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รู้จักการปกครองตนเองแบบเล็กๆ เป็นการซ้อมมือก่อนจะเจอกับพี่ใหญ่ตัวจริงเสียงจริง และวุ่นวายจริงที่ชื่อ “ประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ พระองค์เองทรงเห็นว่าเมื่อราษฎรมีความพร้อมแล้ว ก็จะพระราชทานรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนต่อไป ได้ตั้งพระทัยว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในวาระเฉลิมฉลองกรุงครบ 150 ปีในปี 2475 โดยได้มีการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีพระยาศรีวิสารวาจา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ รับดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ร่างนี้สำเร็จลงในวันที่ 9 มีนาคม 2475 โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “An Outline of Changes in the Form Government”

ถึงกระนั้น ทั้งสองได้มีความเห็นแนบท้ายด้วยว่ายังไม่น่าถึงเวลาที่จะประกาศใช้ ด้วยเหตุผลว่าประชาชนยังไม่มีการศึกษา และประสบการณ์ในการปกครองตนเองมากเพียงพอ จึงทำให้ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามที่เคยตั้งพระทัยไว้

 

และเมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” ขึ้นเสียก่อน ได้มีการออกประกาศถึงที่มาที่ไปของการกระทำนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการกระทำครั้งนี้ ซึ่งในประกาศนั้นได้มีการกล่าวโจมตีรัชกาลที่ 7 และพระราชวงศ์ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงในทำนองที่ว่า

รัฐบาลของพระองค์มิได้ใช้พระราชอำนาจในการปกครองประเทศเพื่อราษฎรเหมือนดังที่ประเทศอื่นทำกัน ปล่อยให้พระราชวงศ์และคนสอพลอมีอำนาจโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน เป็นการปกครองบ้านเมืองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร

คณะราษฎรได้กระทำการนี้มิได้มุ่งหวังจะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด แต่ต้องการเข้ามาเพื่อบริหารจัดการบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าอย่างมีหลักเกณฑ์หลักวิชา พร้อมเชิญชวนให้ราษฎรได้ให้ความร่วมมือ เพราะจะเป็นหนทางให้ราษฎรได้อยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างนานาอารยประเทศ

ซึ่งความในประกาศตอนหนึ่งนั้นได้สร้างความเสียพระทัยให้กับพระองค์อย่างมาก ความว่า “…ราษฎรทั้งหลาย พึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้กู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดเอาทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน…”

ต่อมาคณะราษฎรได้มีหนังสือถึงพระองค์ท่านเพื่อทูลให้ทรงทราบว่า ขณะนี้คณะราษฎรได้กุมตัวสมาชิกพระราชวงศ์หลายพระองค์ไว้เป็นตัวประกันเรียบร้อยแล้ว และขอเชิญพระองค์ได้เสด็จกลับพระนคร (ตอนนั้นรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชินีได้ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล หัวหิน) และทรงเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าพระองค์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วโมง ก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองนี้

โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์แทน

 

ในภาวการณ์เช่นนี้ พระองค์ได้ทรงเห็นว่า ไม่อยากให้ผู้ใดเดือดร้อน ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายจนถึงขั้นนองเลือดจากการที่คนไทยต้องมาฆ่าฟันกันเอง บ้านเมืองต้องล่มสลายด้วยต่างชาติเข้ามาแทรกแซง จึงได้ยอมเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ โดยมีหนังสือตอบกลับคณะราษฎรในวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ความตอนหนึ่งว่า

“…ความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เปลี่ยนรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งรัฐธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”

ภายหลังที่พระองค์ได้เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ต่อมาผู้แทนคณะราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ และทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่คณะราษฎร ทั้งนี้ ได้มีคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษตอนหนึ่งความว่า

“…การที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ประกาศกล่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคำอันรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ด้วยมุ่งถึงผลสำเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชในพระบรมวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ได้ทรงมีส่วนทำความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัย… ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบสองในถ้อยคำที่ได้ประกาศไป…”

ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงยินยอมพระราชทานอภัยโทษให้โดยดี และในพระราชดำรัสตอบได้ทรงกล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า

“…ข้อที่ข้าพเจ้าดีใจมากนั้น คือในคำขอขมานั้นท่านได้กล่าวถึงสมเด็จพระมหากษัตราธิราชและเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีว่า ได้ทรงมีส่วนในการนำความเจริญมาสู่ประเทศสยามด้วยหลายพระองค์ด้วยกัน ซึ่งเป็นความจริง ในคำประกาศวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ข้อความที่ทำให้ข้าพเจ้าเองและสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีรู้สึกโทมนัสอย่างยิ่งคือ ในข้อที่ทำให้เข้าใจว่าพระราชวงศ์จักรีไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศสยามอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ข้อนั้นทำให้สมาชิกในพระราชวงศ์ทั่วไปโทมนัสน้อยใจและแค้นเคืองมาก…”

“…ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทำพิธีขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้ร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดเลย การที่ท่านทำเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมะในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง คือ เมื่อท่านรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่เกินไปพลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผย การกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และต้องใจเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้…”

 

หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สามวัน คณะราษฎรได้นำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ร่างและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ก็ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย

จากนั้นก็ได้ใช้ประกาศเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เพื่อให้มีการยกร่างธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป

และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้ ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2475 นั่นเอง •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์