นอนไม่หลับ เพราะโทรศัพท์บนที่นอน | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ฉันเคยเห็นมีมบนโซเชียลมีเดียอันหนึ่งที่บอกว่าคนเราเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ บทสนทนาระหว่างกินข้าวก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป

จากเดิมที่อาจจะคุยเรื่องความรัก ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือการวางแผนเที่ยวให้สนุกสุดเหวี่ยง ก็จะกลายเป็นหัวข้อเกี่ยวกับการแลกชื่อหมอและสถานทำกายภาพบำบัดแทน เพราะเมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งแล้วอาการปวดหลังก็จะมาเยือนพวกเราครบแทบทุกคน

อีกหนึ่งหัวข้อสนทนาที่มีมนั้นไม่ได้พูดถึงแต่ฉันก็รู้สึกว่าจริงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือเมื่ออายุมากขึ้น เราจะนอนหลับยากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อนบางกลุ่มเวลานัดเจอกันและอัพเดตกันว่าจะมีใครสักคนในกลุ่มเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งที่จะรีบร้อนฝากให้ช่วยซื้อติดมือกลับมาด้วยไม่ใช่กระเป๋าแบรนด์เนมหรือเครื่องสำอาง สกินแคร์อีกต่อไป แต่เป็นบรรดาตัวช่วยต่างๆ ที่จะทำให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมลาโทนิน ยาเม็ด หรือยาน้ำ

ตัวฉันเองก็เข้าข่ายนอนยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน พอปิดไฟเข้านอนก็หลับได้อยู่หรอก แต่ปัญหาก็คือฉันมักจะตื่นขึ้นมากลางดึก คืนไหนแย่หน่อยตื่นขึ้นมาแล้วกลับไปหลับไม่ได้อีกเลยจนถึงเช้า

หรือคืนที่แย่สุดๆ ก็คือนอนไม่หลับตั้งแต่แรก แบบนี้ก็การันตีได้เลยว่าวันถัดไปจะพังยับเยินชนิดที่กาแฟกี่แก้วก็กอบกู้สังขารไม่ไหว

Young beautiful woman using smart phone at night in bed

เว็บไซต์ Android Authority ทำโพลสำรวจกลุ่มผู้อ่านและพบว่ามากกว่าครึ่งของคนที่เข้ามาตอบแบบสอบถามยอมรับว่าเข้านอนพร้อมกับโทรศัพท์มือถือบนที่นอนด้วย ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คนยุคนี้นอนหลับยากขึ้น

คนที่ตอบว่า ‘ไม่’ อันที่จริงแล้วก็ไม่ได้แตกต่างมากขนาดนั้น เพราะต่อให้ไม่ได้วางโทรศัพท์บนที่นอน แต่ก็วางไว้ใกล้ๆ ในระยะที่เอื้อมมือก็หยิบถึงอยู่ดี บางคนวางไว้บนโต๊ะข้างหัวเตียง หรือบางคนก็วางไว้ข้างๆ เตียงนั่นแหละ

ไม่ว่าจะวางไว้บนเตียงหรือข้างเตียง ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพและคุณภาพการนอนก็มีมากพอๆ กัน เพราะผลการศึกษาหลายชิ้นบอกว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพและปริมาณการนอนที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มระดับความง่วงในช่วงระหว่างวันไปด้วยในตัว (ก็แน่สิ)

สรุปความง่ายๆ ก็คือถ้าหากว่าโทรศัพท์อยู่ในระยะที่เราเอื้อมแขนไปหยิบจากบนเตียงได้ก็มีแนวโน้มที่เราจะนอนหลับลึกได้น้อยลง และนอนได้สั้นลง

 

แต่ไหนแต่ไรมา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำได้สารพัดอย่างและมีกิจกรรมนับไม่ถ้วนให้เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้แบบไม่รู้จบก็ไม่เคยเป็นสิ่งที่เข้ากันได้กับการนอนอย่างมีคุณภาพอยู่แล้ว ไม่ต้องถามก็รู้ว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะวางโทรศัพท์มือถือก็ต่อเมื่อจะเข้านอน และคว้ามันกลับขึ้นมาทันทีที่ลืมตาตื่นใช่ไหมคะ วัฏจักรแบบนี้ลองได้เริ่มแล้วก็แทบจะตัดให้ขาดไม่ได้เพราะต้องอาศัยแรงใจมากมายเหลือเกิน

นิสัยการใช้โทรศัพท์มือถือทั้งก่อนนอนและตอนตื่นนั้นส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพกายและใจของผู้ใหญ่ แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กหรือวัยรุ่นซึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ร่างกายต้องการการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ

สมัยที่ฉันอายุน้อยกว่านี้ นอกจากอาการอกหักช้ำรักแล้วสิ่งที่จะทำให้ฉันไม่ยอมเข้านอนสักทีก็อาจจะเป็นการเช็กหน้าฟีดโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ สักพักจะเริ่มเบื่อและวางไปเองเพราะมันก็จะวนกลับมาที่เนื้อหาเดิมซ้ำๆ แต่วัยรุ่นทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียให้สลับไปสลับมามากมาย อัลกอริธึ่มที่จะหยิบโพสต์มาแสดงให้แบบรีเฟรชกี่ครั้งก็ไม่ซ้ำ และคลิปวิดีโอสั้นที่ดูถึงเช้าก็ไม่อิ่ม

โซเชียลมีเดียได้ย้ายสังคมของเด็กและวัยรุ่นออกจากภายในรั้วโรงเรียนแล้วเข้าไปอยู่ในห้องนอนแทน แถมสังคมนี้ยังเปิด 24 ชั่วโมงแบบไม่มีพักผ่อนด้วย

ในอดีตที่ผ่านมา เวลาฉันเจอปัญหาหนักๆ ที่สลัดออกจากหัวไม่ได้ ทางออกเดียวที่ฉัน ‘คิดว่า’ ช่วยได้ในตอนนั้นก็คือการเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดียเยอะๆ จะได้ไม่เหลือพื้นที่สมองให้คิดถึงปัญหาที่ยังแก้ไขไม่สำเร็จ

ทำไปสักพักถึงได้รู้ว่าการฝังตัวเองเอาไว้บนอินเตอร์เน็ตนอกจากจะไม่ช่วยให้หายเครียดแล้ว ก็ยังทำให้เครียดกว่าเดิมจนเกือบข้ามเส้นแบ่งระหว่างความเครียดกับอาการซึมเศร้าไปเลย

เรื่องนอนหลับไม่ต้องพูดถึง ขนาดจะพูดว่า ‘นอนน้อยแต่นอนนะ’ ก็ยังพูดไม่ได้ เพราะไม่ได้นอนเลย

สาเหตุที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ตโฟนส่งผลต่อสุขภาพของเรามีหลายอย่าง ที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คือแสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอ ค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือก็พยายามช่วยในระดับหนึ่งด้วยการออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะช่วยปรับและตัดแสงสีฟ้าออกสำหรับการใช้งานในช่วงเวลากลางคืน และยังมีอุปกรณ์เสริมอีกมากมายที่มาพร้อมคำสัญญาว่าจะทำให้เราใช้แก็ดเจ็ตได้แบบไม่ต้องกังวลภัยจากแสงสีฟ้า

การเก็บข้อมูลของหลายสำนักบอกว่าแสงสีฟ้าอาจจะส่งผลเสียก็จริงแต่ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมด

เราอาจจะไม่ทันได้หยุดคิดว่าแอพพลิเคชั่นแต่ละอย่างที่เราใช้บนโทรศัพท์ของเราล้วนได้รับการออกแบบมาให้ผู้ใช้อย่างเราจดจ่ออยู่กับมันให้มากที่สุด ทุกแอพพ์ ทุกซอฟต์แวร์ ผ่านการคิดมาแล้วว่าทำอย่างไรให้กระตุ้นจิตใจและความสนใจของเราเพื่อให้เราไม่ปิดหนีไปแอพพ์อื่น

ต่อให้เราวางโทรศัพท์ลงได้ แต่เสียง การสั่น การแจ้งเตือนต่างๆ ก็จะดึงเรากลับมาที่เดิม

ข่าวดีก็คือเมื่อไหร่ที่เราพร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อทำให้คุณภาพการนอนของเรากลับมาดีเหมือนเดิม ผลการวิจัยที่ทางเว็บไซต์อ้างถึงก็ระบุว่าใช้เวลาเพียงแค่ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนเท่านั้น เราก็จะสามารถกำจัดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นทั้งหมดทิ้งไปและปรับปรุงคุณภาพการนอนของเราให้ดีขึ้น

สิ่งที่ต้องทำภายในหนึ่งเดือนมีอยู่แค่อย่างเดียวก็คือลดการใช้งานมือถือก่อนนอนให้เหลือน้อยที่สุด วางโทรศัพท์ก่อนเข้านอนอย่างน้อยสองชั่วโมง ดีที่สุดก็คือไม่วางโทรศัพท์ไว้บนที่นอน หรือดียิ่งกว่านั้นสำหรับใครที่ไม่ได้กังวลเรื่องเหตุการณ์ฉุกเฉินและสามารถวางโทรศัพท์ไว้นอกห้องนอนได้ก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดขึ้น

เทคโนโลยีควรทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่คนสร้างมันขึ้นมาก็คือทำให้มนุษย์ที่เป็นผู้ใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าหากเราได้ผลลัพธ์ที่กลับกันก็น่าจะต้องถึงเวลาทบทวนว่าเราทำอะไรผิดพลาดไปตรงไหน

ตัวฉันเองก็ตั้งใจว่าจะทบทวนตัวเองด้วยเหมือนกัน แม้ว่านี่อาจจะเป็นการทบทวนตัวเองครั้งที่ร้อยก็ตาม แต่สำหรับฉันตอนนี้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่และเฉพาะหน้ากว่านั้นไม่ใช่การนอนไม่หลับเพราะใช้เทคโนโลยีมากเกินไป

แต่เป็นนกกาเหว่าเสียงแหลมปรี๊ดที่แหกปากร้องหาคู่ตั้งแต่ดึกดื่นจนถึงเช้าตรู่แบบไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย ใครพอจะรู้วิธีแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การเอาปืนอัดลมยิงมันให้ตายตกไป หรือบอกให้ฉันต้องใช้ที่อุดหูนอนทุกคืนจนพ้นฤดูผสมพันธุ์ของมัน

ก็ช่วยบอกกันเอาบุญหน่อยเถอะค่ะ