จาก สวายอันแดต ถึง พิเชษฐ กลั่นชื่น ว่าด้วย ‘รามเกียรติ์-เรียมเกร์’

อภิญญา ตะวันออก

“คือ ผกา-กลั่นชื่น อันรื่นรมย์”

ถ้อยวลีนี้กระมังที่ฉันพบพานประสบและจบด้วยการค้นหาวิจัยความหมายที่อยู่ในนามสกุล 2 นักโขนไทย-เขมรมาเป็นกรณีศึกษา

ก็ดูสิ ฉันเอาแต่พึมพำวลีนี้ ราวกับโศลกบทหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการถอดรหัสในที่มาและความหมายเชิงนัยยะของที่มาที่ไปใน “รามเกียรติ์-เรียมเกร์” หรือระหว่างสายพันธุ์ไทย-เขมรว่าด้วย “โขน-โขล” ในวันที่นาฏศิลป์สายนี้กำลังตกเป็นเครื่องมือทำลายล้างต่อการสำแดง “อัตลักษณ์” แห่งความเป็นชนชาติที่หมายถึงความเป็นอารยะต่อการครอบครองและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอ่อนละมุนแขนงนี้

พลัน ข้ออ้างแห่งการนำไปสู่การแย่งชิงใดๆ ในความเป็น “หนึ่งเดียว” ของนาฏศิลป์แขนงนี้ ก็ถูกยกระดับสูงค่าจนเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและความเป็นชาติอย่างไม่อาจแยกได้

ทั้งไทยและเขมร

เครดิตภาพ/พิเชษฐ : @ChangChui Bangkok

1นักรำโขนไทยนามว่า “พิเชษฐ กลั่นชื่น” กับอีก 1 นักโขลเขมรหรือ “เรียมเกร์-กัมปูเจีย” นามว่า “ผกา สอย” คือคนที่ทำให้ฉันตื่น ทั้งสองได้กลายเป็นที่มาแห่งการค้นหารหัสนัย ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การชำระสะสางแห่งความคับข้องใจของฉันเอง

เมื่อโลก (คำยกย่องผู้อาวุโส หมายถึงท่าน) ทั้งสองต่างมี “โขน/โขล” ที่ไม่แค่นักรำโขน บุคคลที่เศียรถูกครอบปิดบังไว้ด้วยเครื่องทรงอลังการ จะหน้ากาก-เทริดหรือใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่โลก (คำเขมรที่แปลว่าท่าน) ปล่อยวางและทิ้งไว้ คือนัยยะของความ “ร่วมสมัย” ในโขนไทย-แขมร์ที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ว่าโดยทีแล้ว ความร่วมสมัยนั้นต่างหากที่เป็นเหมือน “มรรค” อันเปิดเผย และเราควรได้เรียนรู้ แทนอารมณ์อันพลุ่งพล่านปนความอหังการ์แห่งการแย่งชิง

“แต่นักโขน/โขล 2 ที่มา 2 สัญชาติ คนหนึ่งคือนักรำ, แล คนหนึ่งนักพากษ์

และ ณ ประเทศตน คนหนึ่งนั้นเรียกกันว่า-โขน, ส่วน ณ ประเทศตน คนหนึ่งเล่าเรียกกันว่า-โปล

โปล/พากย์ละครโขลพื้นบ้านฉบับกัมปูเจีย ในรามเกียรติ์ หรือเรียมเกร์!”

แต่อะไรกันที่ทำให้ฉันตื่น? ตื่นจากภวังค์แห่งความเชื่ออันรกรุงรังไปด้วยความยิ่งใหญ่อลังการแห่งความเป็น “รามเกียรติ์-เรียมเกร์” ในอดีต ฉะนั้น?

หรือผงะตกตื่นจาก “ขอบเขต” เก่าอันจำกัดนิยามต่อคำว่ารามเกียรติ์-เรียมเกร์ ที่ถูกขยายความและปลดแอกออกไปอย่างมีมิติโดยครูโขน 2 นามและ 2 สัญชาตินั้น!

เครดิตภาพ/พิเชษฐ : @ChangChui Bangkok

ระหว่างบรรทัดแห่งการเดินทางในความเป็นรามเกียรติ์-เรียมเกร์, ไทย-เขมรนั่น โดยคนหนุ่มไทยและผู้เฒ่ากัมพูชา ต่อการกระทำของโลกทั้ง 2 พวกเขาต่างอยู่บนความโดดเดี่ยวอย่างสูงสุด แลด้วยภาวะนั้นเล่าที่ทำให้เราได้เข้าถึงหลืบเงาแห่งความลึกเร้นของความเป็นมนุษย์โขนอีกด้านหนึ่ง

ในวันที่นักโขนหนุ่มเหน้าชาวไทยพิเชษฐได้ชันสูตรตัวเอง บนขื่อคาแห่งชื่อเสียงที่ตามมา และความสำเร็จนั้น ได้กลายเป็นโขนวิทยาที่ทิ้งให้แก่สาธารณะและเป็นตรรกะใหม่ในเชิงวิทยาศาสตร์ต่อนาฏศิลป์ไทย

พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้ทำให้นาฏลักษณ์สายนี้ได้รับการกล่าวขานอย่างขจรขจายในชื่อเสียงและรางวัลไปยังประเทศนานา แต่แลกมาด้วยการถูกต่อต้านจากประเทศของตนต่อความเป็นคนทรยศในขนบจารีต

อีกด้านหนึ่ง โลกตาผกา สอย นักโปลโขลเขมรที่ทิ้งภารกิจสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจ นั่นคือ บทพากย์เรียมเกร์ฉบับปฏิพานจากความจำของตนจนเป็นเรียมเกร์ ฉบับสวายอันแดก ที่ยูเนสโกยกย่องว่าเป็นมรดกวัฒนธรรม (อันจับต้องไม่ได้) นั้น โดยพึงตระหนักว่า ละครโขลฉบับนี้ มีที่มาจากศิลปินพื้นบ้าน

ทว่า ช่างน่าใจหาย เมื่อหลายปีผ่านไป เรียมเกร์ฉบับตาสอย กลับถูกเล่นแร่แปรธาตุต่างไปจากละครโขลเก่าที่เคยเป็นการแสดงพื้นบ้าน สู่ความเป็นโขลแห่งรัฐที่ถูกยกระดับอันเกริกเกียรติไปด้วยการปรุงแต่ง และละทิ้งลักษณะดั้งเดิมความเป็นท้องถิ่นไว้เบื้องหลัง

เครดิตภาพ/พิเชษฐ : @ChangChui Bangkok

ตามประวัติโลกตาผกา สอย เป็นชาวจังหวัดกันดาล อำเภอละว้างอม

7 ขวบเข้าบวชเรียนที่วัดมวดกรอสะ (วัดปากน้ำ) ตำบลคุ้มสาริกาแก้ว

ครั้นต่อมา มารดาให้สึกออกมาเลี้ยงสุกรตามอาชีพของครอบครัวจนอายุ 12 ปี จึงริเริ่มไปเรียนหัดกบัจ/ท่ารำโขลในบทลิงยักษ์ จนครูโขลเห็นแววว่าจำบทพากย์เก่งกว่าท่ารำกบัจ ซ้ำมีสุ้มเสียงไพเราะ จึงเริ่มสอนให้พากย์โขลเมื่ออายุเพียง 14 ปี

ครูโขลบทพากย์เรียมเกร์คนแรกของสอยนั้นมีชื่อว่าโลกครูเฌง แต่การพากย์ละครโขลเรียมเกร์สมัยนั้นไม่มีการจดจารหรือเขียนให้ร้องแทรกสอดกับดนตรีปี่พาทย์/พิณเพียตย์แต่อย่างไร สอยจึงต้องจดจำบทร้องนั้นให้ได้และเป็นการพากย์สด ต้องฝึกฝนและมีพรสวรรค์ปฏิพานในการจดจำและต่อบทให้ลื่นไหล ไม่ต่างจากนักแสดงการละครหรือศิลปินนั่นเอง

ตาสอยเล่าว่า เมื่อครูเฌงใกล้ถึงมรณกรรมนั้น แกขอให้ศิษย์รักคนนี้โดยกล่าวว่า “อย่าละทิ้งละครโขลเรียมเกร์เป็นอันขาด” ครูเฌงรักโขลมากและปรารถนาให้ศิษย์รักช่วยรักษาคณะละครของตนต่อไป

กาลต่อมา ครั้นเมื่อสอยเข้าสู่วัยชราเยี่ยงเดียวกับครูเฌง เขาได้พบกับพิ บุนนีน นักวิจัยผู้ช่วยซึ่งมาขอให้ตาสอยเล่าเรื่องราวบทพากย์เรียมเกร์ของตนโดยที่บุนนีนได้ทำการจดบันทึกไว้ จนกลายเป็น “บทพากย์เรียมเกร์โดยตาสอย” จำนวน 291 หน้า ในปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2444/ปีพุทธเขมร) ที่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์

และหลังจากตาผกา สอย มรณกรรมไปแล้วราวปีเศษ

เครดิตภาพ @You2PlayChannel

ในความคิดของฉัน เรียมเกร์ฉบับนี้จึงเป็นฉบับพิสดาร เช่นเดียวกับหนังสือบันทึกของคณะบารังอันเป็นเรียมเกร์อีกฉบับที่ฉันพยายามจะตามหา

แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับที่เราจะรู้จักกันในภาค “รามเกียรติ์-เรียมเกร์” โขน/โขลไทย-เขมรอันมีต้นแบบของตาผกา สอย และพิเชษฐ กลั่นชื่น และท่วงท่า/กบัจทั้งแบบพิสดารและสามัญออกมาชันสูตรให้เราได้มองเข้าไป และพลัน ความเป็นศิลปะร่วมสมัยในแขนงนาฏศิลป์ก็ถูกนำมาคลี่คลายในเชิงศาสตร์องค์รวมแห่งความรู้ของวิถีโขน

ทั้งสองบรมครูยังนำพาเราไปสู่มิติความเป็นโขนรามเกียรติ์-เรียมเกร์ที่เป็นฉบับชาวบ้านหรือคนสามัญ อันสอดคล้องกับวิธีคิดและพฤติการณ์ของคนในยุคสหัสวรรษ

อันทำให้เราได้ตระหนักถึงความเป็นโขนร่วมสมัยระหว่างไทย-เขมรที่เดิมทีนั้น ยังมีครรลองของความเป็นการละเล่นพื้นบ้าน (สำหรับในฉบับเขมร) หาได้มีถูกครอบไว้ด้วยขนบอันสูงส่งของระบอบจารีตแห่งความเป็นราชสำนักอย่างรามเกียรติ์ของไทยที่ผูกมาแต่เดิมไม่

อีกยืนยงยาวนานขนานคู่กันมากับอำนาจรัฐจนถูกกำกับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สูงส่งและเคร่งครัดหาได้ละมุนเยี่ยงคำนิยามว่าซอฟต์เพาเวอร์ เช่นที่คนยุคนี้เรียกกันไม่?

และนั่นเองที่ “ขนบ” ใหม่ๆ ในปัจจุบันได้แปรมาเป็นกระแสเสียดทานของระบอบจารีต รวมทั้งรามเกียรติ์ในปัจจุบัน

แต่สำหรับเรียมเกร์ฉบับตาสอยฉบับชาวบ้านที่ถูกประดิษฐ์ไฉนเปลี่ยนไปนั้น ใครเล่าเป็นผู้กระทำ?

พลัน การคลี่คลายในความเป็นรามเกียรติ์ขนบไทยที่สืบทอดอย่างแข็งแรงและเป็นเหมือนฉบับหลวงหาใช่ฉบับราษฎร์เช่นเขมรนั้นก็ถูกนักโขนแหวกขนบคนหนึ่งซึ่งมีนามว่าพิเชษฐ กลั่นชื่น ได้ลุกขึ้นมาชันสูตร

ฉันขอใช้คำนี้ ในมิติทันทีที่ได้ยินเสียงกระทืบเจิง/เท้าของเขาลงบนพื้นและมันยังก้องอยู่ในโสตประสาทตามท่วงท่ากบัจที่ออกรสออกชาติอย่างจับใจเช่นนั้น มิต่างเสียงพากย์/โปลโขลในเรียมเกร์ของตาสอย คนหนึ่งนั้นในท่ารำกบัจอันนุ่มนวลและแข็งแรง แลคนหนึ่งนั้น คือการร้องต่อบทและเอื้อนเอ่ยอย่างรุ่มรวยในเรื่องเล่าที่ราวกับปฏิพาน

และนี่คือโขน/โขล ฉบับบ้านๆ แบบปัจเจกของฉัน

เครดิตภาพโดย พิ บุนนีน