อุษาวิถี (6) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (6)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ความสามารถนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกอารยันสามารถครอบงำพวกทราวิฑ และเจ้าของพื้นที่เดิมในอินเดียได้ในที่สุด

แต่กระนั้นก็ตาม ข้อเด่นดังกล่าวในด้านหนึ่งก็สะท้อนวัฒนธรรมความคิดความเชื่อของพวกอารยันไปด้วยในตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่กระทำผ่านพิธีกรรม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่แตกต่างกับอารยธรรมหะรัปปาและโมหันโช-ทโฑ

คัมภีร์พระเวทที่ถูกรจนาขึ้นในราว 500 ปีก่อนพุทธกาล (1,000 ปีถึง 500 ปีก่อน ค.ศ.) ทำให้รู้ถึงระบบพิธีกรรมของพวกอารยันได้ไม่น้อย ในคัมภีร์นี้มีบทรำพึงรำพันสรรเสริญเทพเจ้าในความเชื่อของพวกอารยัน บทอรรถาธิบายพิธีกรรมและวัตรปฏิบัติทางศาสนา เป็นต้น

โดยรวมแล้ว วัฒนธรรมพิธีกรรมแต่เดิมของพวกอารยันนั้น จะผูกพันกับการบูชายัญเซ่นสรวงเทพเจ้าทางธรรมชาติ เช่น ไฟ พระอาทิตย์ และแสงจากสายฟ้าแลบ เป็นต้น

และเมื่อเข้ามามีอำนาจในอินเดีย พวกอารยันก็ยอมรับเอาวัฒนธรรมเดียวกันนี้ของอารยธรรมหะรัปปาและโมหันโช-ทโฑมาผสมผสานกับของตน ดังนั้น พวกอารยันจึงเชื่อในเรื่องของพระศิวะ และการปฏิบัติตนตามลัทธิโยคะดังชนผู้อยู่ในอารยธรรมทั้งสองแต่เดิมไปด้วย

ความโดดเด่นที่แตกต่างไปจากอารยธรรมทั้งสอง ภายหลังการผสมผสานพิธีกรรมเข้าด้วยกันของพวกอารยันก็คือ ความนิยมทำพิธีกรรมอย่างกว้างขวางของพวกอารยันด้วยกันเอง โดยพิธีกรรมที่ว่านี้ต่างล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางไสยศาสตร์และการพลีกรรม

ทั้งระบบวรรณะและระบบพิธีกรรมที่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมหลังจากที่อำนาจของพวกอารยันในอินเดียเริ่มมีเสถียรภาพแล้วนั้น ไม่ได้ก่อปัญหามากนัก แต่จนถึงราว 500 ปีก่อนพุทธกาล (1,000 ปีก่อน ค.ศ.) ความยุ่งยากจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

กล่าวคือ ผู้ที่อยู่ในวรรณะสูงเริ่มกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนมากกว่าที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามวรรณะของตนอย่างเป็นธรรม เช่น พวกพราหมณ์เริ่มมีอำนาจและความมั่งคั่งในทางโลก และไม่ได้มีความรู้อย่างแท้จริง เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อหน้าที่ของแต่ละวรรณะสลับซับซ้อนมากขึ้น อาชีพใหม่ๆ ก็เกิดเพิ่มมากขึ้น กระทั่งทำให้เกิดการแบ่งช่วงชั้นขึ้นในแต่ละวรรณะตามมา

วรรณะย่อยๆ ที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้การใช้อภิสิทธิ์ อำนาจ ตลอดจนการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีฐานะเหนือกว่าต่อผู้มีฐานะด้อยกว่า เกิดตามกันมาเป็นชั้นๆ การณ์จึงกลายเป็นว่า จากแรกเริ่มเดิมทีที่ระบบวรรณะมีความยืดหยุ่น ไม่กีดกันความสัมพันธ์ที่ข้ามวรรณะอย่างเข้มงวด

ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นว่า แต่ละวรรณะต่างพยายามรักษาสถานะของวรรณะตนอย่างเข้มงวดกวดขันขึ้น

และความเข้มงวดกวดขันเช่นนี้ยังได้เกิดแม้แต่กับวรรณะย่อยๆ ที่ถูกแบ่งขึ้นใหม่ในแต่ละวรรณะอีกด้วย แน่นอนว่า สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ที่อยู่ในวรรณะสูงอย่างเช่น พราหมณ์และกษัตริย์ หรือผู้ที่มีลำดับชั้นของตนสูงกว่าผู้ที่อยู่ในวรรณะเดียวกันให้มีความได้เปรียบ เหนือผู้ที่มีวรรณะต่ำกว่าหรือลำดับชั้นในวรรณะเดียวกันที่ต่ำกว่า

สถานการณ์ของการกีดกันกดขี่ขูดรีดกันเองเช่นนี้ จึงทำให้ความยุ่งยากเกิดขึ้นทั่วสังคมอินเดียในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ควรพิจารณาควบคู่กันไปในประการต่อมาก็คือ ความยุ่งยากที่ว่าได้เกิดขึ้นพร้อมกับระบบพิธีกรรมที่ทวีความซับซ้อน และแพร่ขยายอย่างกว้างขวาง พิธีกรรมของชนวรรณะสูงจะมีขนาดใหญ่ ส่วนชนในวรรณะที่ต่ำลงมาจะมีขนาดเล็ก

แต่ต่างตั้งอยู่บนความเชื่อและความหวังต่อชีวิตที่ดีกว่าในเชิงไสยศาสตร์ทั้งสิ้น และเมื่อความยุ่งยากขยายกว้างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น พิธีกรรมก็ยิ่งถูกตอกย้ำถึงความกว้างขวางมากขึ้น

ถึงเวลานั้น ยุคแห่งปรัชญะปัญญาที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่เรื่อยมานับแต่ราว 500 ปีก่อนพุทธกาล (ราว ก.ค.ศ.500) ก็ยังคงไม่อาจนำมาซึ่งสัจธรรมเพื่อเป็นทางออกให้กับกลียุคของสังคมอินเดียได้

วิกฤตการณ์ทางการเมืองแผ่คลุมไปทั่ว การรบพุ่งระหว่างรัฐยังคงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไป โดยแฝงเอาไว้ซึ่งวิกฤตของระบบวรรณะและพิธีกรรมแทบทั่วแผ่นดินอินเดีย วิกฤตการณ์นี้ดำเนินเรื่อยมากระทั่งราว 100 ปีก่อนพุทธกาล (ราว ก.ค.ศ.600) การเปลี่ยนแปลงของอินเดียวิถีครั้งสำคัญจึงบังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ข.อินเดียวิถีในสมัยพุทธกาล

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำรงมาตลอดช่วง ก.ค.ศ.1000 ภายใต้สงครามระหว่างรัฐต่างๆ จนถึงช่วง ก.ค.ศ.600 ได้ค่อยๆ ทอนอำนาจของรัฐที่มีอยู่นับสิบรัฐให้เหลือเพียงไม่กี่รัฐ รัฐที่สำคัญคือ มคธ โกศล วัชชี วังสะ และอวันตี

ส่วนรัฐที่มีอำนาจด้อยลงมาแต่ยังคงมีฐานะสำคัญก็คือ ภัคคะ ภูลิ โมริยะ มัลละ โกลิยะ และศากยะ เวลานั้นรัฐในส่วนหลังนี้มีการรวมตัวของประชากรที่ไม่ใหญ่มาก คือเป็นชนเผ่าหรือชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญพอสมควร

การที่เหลือรัฐที่ทรงอิทธิพลเพียงไม่กี่รัฐนี้ เป็นไปตามธรรมชาติของสงคราม นั่นคือ เมื่อสงครามดำเนินไปถึงเวลาหนึ่งแล้ว ก็ย่อมต้องเกิดรัฐที่มีความสามารถในด้านต่างๆ เหนือรัฐอื่นเป็นธรรมดา แล้วรัฐที่มากความสามารถนั้นก็ย่อมมีอิทธิพลเหนือรัฐที่ด้อยกว่า

สิ่งที่เป็นความโดดเด่นของวิกฤตการณ์ในช่วงนี้ก็คือ หนึ่ง รัฐใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทำศึกในระหว่างกันเพื่อรวมอินเดียเป็นแผ่นดินเดียวกัน ในแง่นี้แต่ละรัฐจึงย่อมต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้นำ สอง เวลานั้นรัฐเล็กๆ ที่มีอำนาจด้อยกว่ามักขึ้นต่อรัฐใหญ่เพื่อความปลอดภัยของตน

ภายใต้วิกฤตการณ์นี้ ศากยะ คือดินแดนที่จะนำไปสู่กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญต่อไป

 

ศากยะเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์สืบเนื่องมายาวนาน ก่อนการเข้ามาของพวกอารยัน มีพวกมองโกลเข้ามาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ครั้นเวลาผ่านไปชนชาติทั้งสองก็ผสมผสานจนยากจะแยกออก

จากหลักฐานบันทึกที่ปรากฏในคัมภีร์โบราณต่างๆ ทำให้รู้ว่า ต้นวงศ์กษัตริย์ของศากยะนั้นคือ โอกกากราช (บางที่เรียก อิกษวากุ ซึ่งแปลว่า อ้อย) ผู้ครองดินแดนหนึ่งที่ไม่ระบุนาม

แต่เนื่องจากได้เกิดปัญหาการสืบทอดราชสมบัติที่จำต้องมอบให้แก่โอรสของมเหสีองค์ที่สอง โอกกากราชจึงให้โอรสสี่องค์และธิดาห้าองค์ พร้อมผู้คนและสมบัติจำนวนหนึ่งออกไปหาดินแดนเพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่

จนเมื่อหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ทั้งเก้าได้เดินทางมาถึงป่าแห่งหนึ่งที่เป็นดงไม้สักกะ ก็ได้รับคำแนะนำจากเจ้าของที่คือ กบิลดาบส ว่าให้สร้างเมือง ณ บริเวณดงไม้สักกะนั้นเอง