หาร 100 เคลียร์ทางโล่ง การเมืองสู่โหมดเลือกตั้ง จับตา! เกมโหดยุบพรรค สกัดแลนด์สไลด์

แล้วการเมืองไทยก็กระโจนเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว เป็นทางเปิดโล่งครั้งแรก หลังการอึมครึมมาพักใหญ่ว่า จะมีการยื้อ ลากยาวการเลือกตั้งออกไป โดยการจับตัว 2 กฎหมายลูกเป็นตัวประกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองระบอบประยุทธ์

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ชี้ขาดว่า สูตรหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ข่าวดี ทำให้หุ้นของพรรคใหญ่พุ่งขึ้นอย่างน่าจับตามอง

ข่าวร้ายก็คือ หุ้นของพรรคเล็ก กำลังวายวอด หรืออาจสูญพันธุ์

นักวิเคราะห์เชื่อว่า จากนี้ไปจะเกิดปรากฏการณ์ควบรวมพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลาง เพื่อจัดทัพเป็นพรรคใหญ่ เข้าสู่สนามเลือกตั้ง

เพราะตามทฤษฎี หาร 100 พรรคใหญ่เท่านั้นที่ได้เปรียบ

แน่นอนว่า นักการเมืองมืออาชีพ ย่อมเลือกได้ ตัดสินใจถูกที่จะเข้าสังกัดพรรคใดและเดินออกจากพรรคการเมืองใดที่ไม่มีอนาคต จากกติกาหาร 100

พรรคที่ได้เปรียบตามทฤษฎีหาร 100 คือ พรรคเพื่อไทย นักรัฐศาสตร์หลายคนฟันธงว่า พรรคเพื่อไทยอาจเป็นพรรคเดียวที่ได้ ส.ส.เกินร้อยคนเพียงพรรคเดียว ขณะที่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติที่กำลังแยกกันเดิน อาจต้องทบทวนกลยุทธ์ใหม่ จากที่แยกกันเดิน อาจกลายเป็นแยกกันพัง ทั้งสองพรรค เพราะหายนะของกติกาหาร 100

การหารือรอบหน้าของ 3 ป. อาจต้องปิดห้องคุยกันละเอียดๆ ยาวๆ อีกรอบในประเด็นควรรวมพรรค หรือแยกพรรคดีกว่ากัน เพราะแยกพรรค พลังประชารัฐอาจเหลือต่ำกว่า 40 ขณะที่รวมไทยสร้างชาติอาจต่ำกว่า 25

ย้อนกลับไปดูที่มาของข่าวดีหาร 100 ผ่านฉลุย จนทำให้การเมืองไทยเปิดโล่งไปสู่โหมดเลือกตั้ง เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ 30 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า

ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 30 พฤศจิกายน ได้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง ให้วินิจฉัยว่า มาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ขัดกับบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญมาตราที่ 93 และ 94 หรือไม่

ประเด็นที่สอง คือกระบวนการตราร่างกฎหมาย ถูกต้องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ เพราะสภาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทัน ตามกรอบเวลา 180 วัน หลัง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พลิกแนวทางการสนับสนุนสูตรคำนวณ ส.ส. จากหาร 100 ไปหาร 500 สุดท้ายมาจบลงที่หาร 100 เพราะพิจารณาไม่ทัน ต้องกลับไปใช้ร่างที่ ครม.เสนอ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

เมื่อหาร 100 ผ่านฉลุย จะทำให้การเมืองมีความชัดเจน เป็นทางออกที่โล่งที่สุด จากนี้ไปการเมืองไทยจะเดินหน้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เพราะเมื่อกฎหมายลูก 2 ฉบับ ผ่านสภา เสนอทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การเมืองไทยที่มีความคลุมเครือ จะชัดเจนขึ้น มีความนิ่งของกติกามากขึ้น

พรรคใหญ่ พรรคที่จะได้ประโยชน์จากหาร 100 พรรคหนึ่งก็คือ พลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า พรรค พปชร.เป็นพรรครัฐบาลแน่นอน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. จะเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล

ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรง พรรคหนึ่งก็คือ พรรคพลังธรรมใหม่ การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคของหมอระวีได้คะแนนเพียง 35,099 ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้ กติกาหาร 100 พรรคหมอระวีจะได้ ส.ส.ต้องได้คะแนนอย่างต่ำ 350,000 คะแนน ถึงกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เชื่อว่า พรรคเล็กอาจจะมีบางส่วนที่มีการยุบพรรคเพื่อไปควบรวมกัน หรือบางพรรคอาจจะสู้ต่อ โดยเมื่อจบการเลือกตั้งในปีหน้าก็คงมีพรรคเล็กหลายพรรคที่สูญพันธุ์ ส่วนของพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย น่าจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ส.ส.น่าจะได้ 200 บวกลบ ทิ้งอันดับ 2 ไม่เห็นฝุ่น โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลก็สูงมาก ซึ่งอาจจะมีการดึงพรรครัฐบาลในครั้งนี้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ก็คงต้องติดตามหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง

สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่ นั้นอาจต้องควบรวมกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้เชิญชวนทุกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงเข้าร่วมงาน ทำเพื่อประชาชน หากไม่มีพรรคใดเข้าร่วม พลังธรรมใหม่ก็จะยืนหยัดสู้พรรคเดียวต่อไป

นักยุทธศาสตร์และอดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง สัมภาษณ์ในรายการ The Politics อย่างน่าสนใจว่า

ผลพวงหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

จะเป็นทางโล่งที่สุด การเมืองไทยจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพราะ กม.สำคัญ 2 ฉบับ คือ กม.พรรคการเมือง และ กม.เลือกตั้ง ส.ส. มีครบหมดแล้ว รอนายกฯ ทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจาฯ

อานิสงส์ของหาร 100 จะตกกับพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย หุ้นขึ้นพรวดๆ ทรัพยากรจะไหลมาเทมา ส.ส.พรรคอื่นจะแสดงท่าทีขอเข้าร่วมมากขึ้น หากถึงปลายเดือนมกราคม 2566 ยังไม่ยุบสภา เราจะเห็น ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรค ลาออกแบบเป็นกลุ่มก้อน

พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบจากหาร 100 เพราะจะได้ ส.ส.จากระบบเขตและบัญชีรายชื่อ แปะไว้ข้างฝาเลยว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ในระบบบัญชี อย่างน้อย 30 ที่นั่ง โอกาสสูงมากที่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.สองระบบ รวมกันเกิน 100 ที่นั่ง

อดีต กกต.เชื่อว่า จะเกิดการรวมตัวของพรรคขนาดเล็ก เพราะไม่มีเศษ 3-4 หมื่นแล้วได้บัญชีรายชื่อ โอกาสเข้าพรรคใหญ่ก็ยาก เพราะเขามีตัววางไว้แล้ว คงต้องควบรวมกันเอง แบบพรรคของหมอระวี

การยุบสภาจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรีต้องหาเวลาสร้างคะแนนนิยมในพรรคใหม่ และหาจังหวะที่อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

สิ่งที่ต้องจับตาในบทต่อไปคือ รูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. ว่าจะเป็นธรรม หรือเป็นไปเพื่อเอื้อพรรคใดหรือไม่

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การยุบพรรคในจังหวะการเลือกตั้ง ยังกะพริบตาไม่ได้ เพราะอาจเป็นอาวุธทางการเมืองที่สกัดแลนด์สไลด์เพื่อไทยได้อย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพสูงสุด

บทเรียนการยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 7 มีนาคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียงไม่กี่วัน คือเกมหักเหลี่ยมโหด คือนิติสงคราม ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว

การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ย่อมดีกว่าการเดินสู่ความไม่แน่นอน แต่ที่สุดแล้วความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน บางทีพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคที่แพ้การเลือกตั้ง อาจได้จัดตั้งรัฐบาล