ศัลยา ประชาชาติ : เปิดแผนกรมชลฯ “เอาอยู่” “หน่วงน้ำ-ตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง” มั่นใจกรุงเทพฯ “รอด”

แม้ว่าตัวเลขจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส-เซินกา-ทกซูรี และพายุดีเปรสชั่นที่ทยอยผ่านเข้ามาหลายๆ ลูกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้จะสูงถึง 23 จังหวัด 78 อำเภอ 473 ตำบล 2,785 หมู่บ้าน

แต่ข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบเพียง 125,372 ครัวเรือน รวม 325,212 คนเท่านั้น

โดยกรมชลประทานได้รายงานตัวเลขปริมาณน้ำฝนรวมสะสม ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่สุดของประเทศ ปรากฏมีปริมาณน้ำฝนสะสม 1,771 มิลลิเมตร ใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ 1,798 มิลลิเมตรหรือมีฝนตกมาก

แต่ความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมปีนี้ก็ไม่ได้ขยายวงกว้างอย่างปี 2554

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงศ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปีนี้กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ล่วงหน้า ทั้งก่อนที่น้ำจะมาและระหว่างที่น้ำมาด้วยมาตรการดังนี้

1) เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ นอกเหนือไปจากอ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลักของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงกับทุ่งรับน้ำ ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ เพื่อรอรับการระบายน้ำ

โดยการบริหารจัดการดังกล่าวต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรฯ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ หรือแก้มลิง เลื่อนรอบการเพาะปลูกหรือปลูกพืชที่เหมาะสม การเร่งเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร (ข้าว) ให้ทันกับช่วงที่จะต้องระบายน้ำลงมา

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตรียมจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ ประกอบไปด้วย พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนบน ได้ที่ทุ่งบางระกำ ทำแก้มลิงรองรับน้ำระบายจากแม่น้ำยมได้ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ฝั่งตะวันออก) ประกอบไปด้วย ทุ่งเชียงราก, ทุ่งท่าวุ้ง, ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก, ทุ่งบางกุ่ม, ทุ่งบางกุ้ง, โครงการรังสิตฝั่งใต้ที่จะถูกใช้เป็นทุ่งสำรอง

และพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ฝั่งตะวันตก) ประกอบไปด้วย ทุ่งบางบาล-บ้านแพน, ทุ่งป่าโมก, ทุ่งเจ้าเจ็ด, โครงการโพธิ์พระยา และโครงการพระยาบรรลือ ประมาณการว่า พื้นที่ทุ่ง 2 ฝั่งเจ้าพระยาทั้งตะวันออก-ตกสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อรวมกับทุ่งบางระกำ กับทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะรับน้ำรวมกันได้ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม.

2) ในระหว่างที่น้ำเหนือไหลหลากลงมา กรมชลประทานได้เตรียมการใช้อ่างเก็บน้ำในเขื่อนหลักทำการกักเก็บน้ำไว้ หรือที่เรียกว่า “การหน่วงน้ำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รองรับน้ำฝนที่ตกเหนือเขื่อนจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน

รวมถึงการยกระดับน้ำเหนือเขื่อนทดน้ำในกรณีของเขื่อนนเรศวร กับเขื่อนเจ้าพระยา การจัดการจราจรทางน้ำในลุ่มน้ำยม-ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำชี การตัดยอดน้ำเข้าทุ่งรับน้ำที่เตรียมไว้ทั้ง 13 ทุ่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ-เครื่องผลักดันน้ำและเรือผลักดันน้ำโดยร่วมกับกองทัพเรือ เพื่อเร่งระบายน้ำ

 

ผลปรากฏการวางแผนบริหารจัดการน้ำด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ของกรมชลประทาน คือ อ่างเก็บน้ำในเขื่อน การระบายน้ำเข้าทุ่ง และการจัดการจราจรทางน้ำ ในปีนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มจากวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ปริมาตรน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 8,234 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 61% ของความจุอ่าง มาวันนี้ปริมาตรน้ำอยู่ที่ 10,528 ล้าน ลบ.ม. หรือ 78% เท่ากับเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นถึง 2,294 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาตรน้ำ 7,581 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80% ปัจจุบันปริมาตรน้ำอยู่ที่ 8,377 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 796 ล้าน ลบ.ม.

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาตรน้ำ 912 ล้าน ลบ.ม. หรือ 97% ปัจจุบันปริมาตรน้ำอยู่ที่ 975 ล้าน ลบ.ม. หรือ 104% สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 63 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาตรน้ำ ณ วันที่ 1 ตุลาคม อยู่ที่ 626 ล้าน ลบ.ม. หรือ 65% ปัจจุบันอยู่ที่ 958 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100% เท่ากับสามารถเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนเพิ่มขึ้น 332 ล้าน ลบ.ม.

มีผลทำให้ปริมาณน้ำมากกว่า 3,000 ล้าน ลบ.ม. ไม่ถูกระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ ปริมาณน้ำระบายออกจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ถูกกรมชลประทานบริหารจัดการด้วยการระบายน้ำเข้าทุ่ง เริ่มจากทุ่งบางระกำที่รับน้ำจากแม่น้ำยมได้ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.

ส่งผลให้ยอดน้ำที่จะไหลมารวมกับแม่น้ำน่านลดลง แต่เนื่องจากช่วงกลางเดือนตุลาคม พื้นที่ภาคเหนือยังมีฝนตกหนัก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ยังอยู่ในระดับสูง

กล่าวคือ ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีน้ำไหลผ่านอยู่ประมาณ 3,000 ลบ.ม./วินาที มีผลทำให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มปริมาณระบายน้ำขยับจาก 2,600 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,700 ลบ.ม./วินาที แม้จะมีการตัดน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก-ตกไปบ้างแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาดังกล่าวได้ถูก “ตัดยอดน้ำ” ลงอีกครั้งด้วยการระบายน้ำเข้าทุ่งเจ้าพระยาตอนบนและทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 12 ทุ่งตามที่กรมชลประทานได้เตรียมการไว้ โดยสามารถตัดยอดน้ำเข้าทุ่งไปได้ถึง 1,500 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อรวมกับน้ำที่เขื่อนใหญ่ทั้ง 4 เขื่อนสามารถเก็บกักได้เพิ่มขึ้น (5,000 ล้าน ลบ.ม.) ส่งผลให้กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำไหลผ่านสถานีบางไทรให้อยู่ในระดับไม่เกินไปกว่า 2,900 ลบ.ม./วินาทีได้ (ระดับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อยู่ที่ 3,500 ลบ.ม/วินาที)

นั่นหมายถึง เมืองใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร ในปีนี้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ไปได้

แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเกินไปกว่า 2,600 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่-บ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ที่อยู่นอกพนังกันน้ำยังคงถูกน้ำท่วมในระดับ 1-1.50 เมตรลดหลั่นกันลงมา แต่ไม่กระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในตัวจังหวัด-นิคมอุตสาหกรรม

 

ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและไม่มีฝนตกแล้ว ก็คือการระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำทั้ง 13 ทุ่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำลพบุรี-แม่น้ำป่าสัก-แม่น้ำน้อย และแม่น้ำท่าจีน โดยกรมชลประทานวางแผนที่จะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำลงสู่แม่น้ำยมเป็นทุ่งแรกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ไปจนถึงทุ่งเจ้าเจ็ด-โครงการโพธิ์พระยา เป็นทุ่งสุดท้ายในวันที่ 15-21 พฤศจิกายน 2560

เบ็ดเสร็จสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้จะเข้าสู่ภาวะปรกติก็ปาเข้าไปช่วงปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไป

ถือเป็นผลงานในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ที่ช่วยให้พื้นที่สำคัญในเขตเมืองเศรษฐกิจทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554

เป็นความโล่งใจของรัฐบาลไปพร้อมกันด้วยนั่นเอง