นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อดีตในอนาคต (จบ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

อ่านตอน 1

ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร ผมสังเกตว่าฝ่ายต่อต้านมีการทบทวนอดีตกันอย่างกว้างขวางพอสมควร แต่เป็นการทบทวนอดีตที่ไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมาหลัง 14 ตุลา เพราะไม่ได้ทำผ่านสิ่งพิมพ์เป็นหลัก แต่ทำผ่านข้อเสนอและมุมมองในสื่อออนไลน์ จึงไม่มีรายละเอียดและการศึกษาวิจัยอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

ดังนั้น อดีตที่ถูกทบทวนกันในช่วงนี้จึงเป็นเพียงหน่ออ่อน ซึ่งในวันหนึ่งข้างหน้า คงมีการศึกษาที่กว้างขวางขึ้น และลงลึกไปสู่การใช้หลักฐานและการวิเคราะห์อย่างละเอียดขึ้น อาจเป็นในรูปวิทยานิพนธ์ หรือในรูปบทความทางวิชาการ หรือในรูปของงานเขียนจริงจัง (serious)

โดยขาดการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าอดีตที่ถูกทบทวนหรือถูกมองจากมุมใหม่ ในหมู่คนที่สื่อสารกันผ่านสื่อออนไลน์ อาจสรุปได้ดังนี้

 

1.ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย คือหลัง ร.5 ลงมา ข้อนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการปฏิรูปใน ร.5 ย่อมส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย ต่อปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เราเผชิญอยู่ แต่ที่เข้าใจยากกว่าน่าจะอยู่ที่ว่า การทบทวนความทรงจำในช่วงนี้ ไม่นำไปสู่การวิพากษ์แนวทางการปฏิรูปในสมัยนั้นอย่างจริงจัง หากเปรียบเทียบกับงานวิชาการที่มีมาก่อน อาจกล่าวได้ว่าแทบไม่ส่งอิทธิพลต่อการทบทวนความทรงจำบนออนไลน์ในปัจจุบันเลย

อาจเป็นเพราะบรรยากาศการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกในช่วงนี้ก็เป็นได้ ที่ทำให้ไม่มีใครถ่ายทอดกระแสวิพากษ์การปฏิรูปของ ร.5 จากงานวิชาการที่มีผู้ทำไว้แล้วออกมา ส่วนใหญ่มักเอาพระราชกรณียกิจมาเปรียบเทียบกับแผนงานต่างๆ ของ คสช. เช่น การเริ่มกิจการรถไฟในสมัย ร.5 กับโครงการขนส่งระบบรางในปัจจุบัน หรือการสร้างแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับวัฒนธรรมตะวันตก มากกว่าความพยายามของกลุ่มนิยมเจ้าในปัจจุบัน ที่จะดึงกลับไปสู่แบบแผนความสัมพันธ์ก่อน ร.5 ขึ้นไป

หากการทบทวนความทรงจำบนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการปฏิรูปใน ร.5 ไม่ได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นต้องเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว ก็นับเป็นการทบทวนความทรงจำที่ประหลาด เพราะเท่ากับว่ากระแสความทรงจำของไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก มาตรฐานการปฏิรูปบ้านเมืองที่พึงใช้ได้ตลอดไปคือการปฏิรูปภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนเดิม

ข้อสรุปเช่นนี้ (ถ้าจริง) ย่อมสะท้อนด้วยว่า อนาคตใหม่ของสังคมไทยที่ฝ่ายต่อต้านมองเห็น จะไม่มีการถอนรากถอนโคนที่รุนแรงนัก รัฐจะยังคงเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง โดยรักษาโครงสร้างสังคมไว้ดังเดิม เพียงแต่กระทำด้วยความชอบธรรมมากขึ้น (เช่น ผ่านกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย) เท่านั้น

FP PHOTO / PONGSAK CHAIYANUWONG
FP PHOTO / PONGSAK CHAIYANUWONG

2.แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐที่จะนำการปฏิรูปในกระบวนการประชาธิปไตยอาจไม่ราบรื่นนัก

นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งโพสต์ข้อความว่า การขัดขวางพัฒนาการไปสู่ประชาธิปไตยในหมู่ชนชั้นนำไทยนั้น อาจมองจุดเริ่มต้นได้จากกรณีคำกราบบังคมทูลของเจ้านายและขุนนางให้เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2428

ผมคิดว่า นักประวัติศาสตร์ท่านนั้นได้สร้าง “ความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์” อันใหม่ขึ้น แต่ก่อนนี้เวลาเราพูดถึงคำกราบบังคมทูล 2428 เราหมายถึงจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตยของคนกลุ่มต่างๆ มาสิ้นสุดลงที่การปฏิวัติ 2475 และทำให้ 2475 เป็นเส้นแบ่งระหว่างยุคสมัยสองยุคคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์และหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่การมองคำกราบบังคมทูลจากปฏิกิริยาของชนชั้นนำ ทำให้ 2475 ไม่ใช่จุดแบ่งทางประวัติศาสตร์สองยุค แต่เป็นแรงกระเพื่อมที่ถูกตอบโต้จากชนชั้นนำ เชื่อมโยงมาถึง 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด 2535, รัฐธรรมนูญ 2540, รัฐประหาร 2549, และเมษา-พฤษภามหาโหดกว่าใน พ.ศ.2553 จนถึงการยึดอำนาจของกองทัพและพันธมิตรในพฤษภาคม 2557

อะไรคือจุดเปลี่ยน อะไรคือความสืบเนื่อง ไม่เกี่ยวกับว่าอย่างใดถูกอย่างใดผิด แต่เมื่อเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ ก็ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตเปลี่ยนไป เช่น หากมองว่าเป็นความสืบเนื่องมาจาก 2428 ก็น่าสังเกตว่า ฝ่ายชนชั้นนำจำเป็นต้องขัดขวางประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่โครงการของฝ่ายซึ่งผลักดันประชาธิปไตยก็มีลักษณะถอนรากถอนโคนมากขึ้นตามลำดับไปด้วย

อนาคตที่คนซึ่งทบทวนความทรงจำจากอดีตในแนวนี้วาดหวังไว้คืออะไร ผมขอยกตัวอย่างจากข้อเสนอที่มีการแชร์กันอย่างกว้างขวางบนสื่อออนไลน์

ข้อเสนอหนึ่งคือหากมีโอกาสในวันข้างหน้า ต้องปฏิรูปกองทัพ ทั้งเพื่อทำให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจหลักของตนได้ดีขึ้น และทั้งเพื่อทำให้กองทัพพร้อมจะอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาลพลเรือน

อีกข้อเสนอหนึ่งก็คือ หากมีโอกาสในวันข้างหน้า จำเป็นต้องมีกระบวนการไต่สวนและลงโทษอย่างยุติธรรม แก่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร ส่งเสริมค้ำจุนอำนาจรัฐประหาร หรือทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรม จนก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในวันนี้

คนไทยมีประสบการณ์อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทุกรูปแบบมายาวนาน แต่ทุกครั้งที่ประชาชนเป็นฝ่ายชนะ เราก็ได้แต่เพียงขจัดบุคคลที่เป็นหัวขบวนเพียงไม่กี่คนออกไป โดยปล่อยให้อำนาจแฝงที่อยู่เบื้องหลังระบอบเผด็จการลอยนวลต่อไป แต่อนาคตที่คนเหล่านี้วาดหวังจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

วันใดที่ประชาชนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะบ้าง คงมีการสั่นคลอนอำนาจของชนชั้นนำอย่างถึงรากถึงโคนมากกว่าที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแข็งแรงเพียงอย่างเดียว คงไม่พอเสียแล้ว

และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อคิดถึงชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้จึงดูจะหวาดเสียวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

3.หนึ่งในการทบทวนความทรงจำที่น่าสนใจคือ การเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน มีการนำเอาสถาบัน, ความเคลื่อนไหว, หรือปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ ของไทยไปเปรียบกับเพื่อนบ้านมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

การเปรียบเทียบไม่ได้มีประโยชน์ทางวิชาการที่ทำให้เราเข้าใจตนเองได้ลึกขึ้นเท่านั้น แต่ในทางการเมือง การเปรียบเทียบย่อมทำลายทฤษฎีไทยเป็นข้อยกเว้นเพราะมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครลงไป ทฤษฎีข้อยกเว้นปกป้องสถานะเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งในสหรัฐและในประเทศไทย เพราะทฤษฎีข้อยกเว้นย่อมขัดขวางความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปให้ไกลไปกว่าสภาพที่เป็นอยู่แล้ว อะไรเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับไทยกลายเป็นประกาศิตของผู้มีอำนาจ ไม่ได้ใช้การศึกษาความเป็นไปได้ (และเป็นไปไม่ได้) จากเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกันในสังคมอื่น

แม้ความไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านก็อาจช่วยส่องสว่างคำอธิบายบางอย่างได้ เช่น ทั่วทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ มีอยู่เพียงสามประเทศเท่านั้นที่กองทัพยังแทรกแซงการเมืองอย่างหนัก คือไทย พม่า และกัมพูชา เหตุใดกองทัพในประเทศที่เหลือจึงยุติหรือไม่แทรกแซงทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงในพม่าบ่งบอกอะไรให้แก่ไทยและกัมพูชาหรือไม่ เป็นต้น

 

4.สอดคล้องกับที่กล่าวข้างต้น มีการเจาะดูกลุ่มหรือสถาบันที่ต่อต้านประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น กองทัพ, สถาบันอุดมศึกษา, สถาบันคลังสมอง สถาบันตามประเพณี เช่น คณะสงฆ์, กลุ่มนิยมเจ้า, ฯลฯ ในขณะที่แต่เดิมเราค่อนข้างจะเจาะไปที่กลุ่มซึ่งมีบทบาทในสายประชาธิปไตยมากกว่า เช่น นักคิดนักเขียนนับตั้งแต่เทียนวรรณลงมา, ขบวนการเสรีไทย, นักการเมืองท้องถิ่น, รัฐสภา, พรรคการเมือง, นักศึกษา, ฯลฯ

การหันความสนใจมาสู่สถาบันอำนาจ (the Establishment) เช่นนี้ ย่อมสร้างความรู้ความเข้าใจว่า จะต้องปรับแก้อย่างไรเมื่อมีโอกาสข้างหน้า

 

5.มีความสนใจเนื้อหาของประวัติศาสตร์สังคมมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เป็นวิถีชีวิตของสามัญชน อันที่จริงแนวโน้มเช่นนี้มีมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาแล้ว แต่การทบทวนความทรงจำหลังจากนั้นได้รับการชี้นำจากทฤษฎีเหมาน้อยลง ทำให้ขยายไปถึงกลุ่มคนเล็กคนน้อยอีกหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในเขตเมือง เช่น คนไร้บ้าน, ชาวสลัม, แรงงานข้ามชาติ, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ดูเหมือนความใส่ใจต่อคนเหล่านี้ชี้ว่า อนาคตใหม่ที่กำลังมาถึง จะมีคนเล็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งน้อยลง

ดังที่กล่าวแล้วว่า การทบทวนอดีตเกิดขึ้นจากสำนึกว่าอนาคตใหม่กำลังมาถึง แม้ไม่นับกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนการรัฐประหารเลย ผมคิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็พอจะคาดเดาได้ว่า อนาคตการเมืองไทยจะไม่เหมือนเก่าอีกแล้ว เพราะการรัฐประหารครั้งนี้มีราคาแพงมาก ไม่ใช่แพงในทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงโอกาสทางการเมืองและสังคมของคนอีกหลายกลุ่มในสังคมไทย (เช่น การปฏิรูปการศึกษาก็คงต้องเนิ่นช้าออกไปอีก) หรือโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวในความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อกัน ฯลฯ ทำให้กระบวนการปรับตัวเกิดขึ้นโดยปราศจากความรุนแรงได้ยาก

ดังนั้น การรัฐประหารจึงกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำที่มีประสิทธิภาพน้อยลง เพราะมันแพงเกินไปแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งแก่ฝ่ายชนชั้นนำด้วย

ผมไม่ทราบหรอกว่า คณะ คสช. จะลงจากอำนาจเมื่อไรและอย่างไร กองทัพยังมีศักยภาพจะก่อรัฐประหารอีกแน่ แต่รัฐประหารครั้งหน้าจะไม่ใช่เครื่องมือของชนชั้นนำอีกแล้ว ตรงกันข้ามอาจเป็นความพยายามของกองทัพที่จะควบคุมชนชั้นนำอย่างที่เคยเกิดมาแล้วใน พ.ศ.2494 ดังนั้น อนาคตทางการเมืองไทยจึงไม่มีทางเหมือนเดิมได้อีก