“ระบำในราชสำนักกัมพูชา” มาจากไทย? หรือเป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ในโลกออนไลน์มีการแชร์บทความของนักวิชาการชาวญี่ปุ่นชิ้นหนึ่ง โดยมักจะอ้างกันว่า บทความชิ้นนี้สรุปว่า “รำเขมรเอาไปจากรำไทย”

แต่เนื้อหาภายในบทความดังกล่าว มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ?

บทความที่ว่าก็คือบทความเรื่อง “Post/Colonial Discourses on the Cambodian Court Dance” ซึ่งอาจจะแปลชื่อเป็นภาษาไทยได้ว่า “วาทกรรม ‘หลัง/อาณานิคม’ ของระบำราชสำนักกัมพูชา” ที่เขียนขึ้นโดยนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ซาซาคาวะ ฮิเดโอะ (Sasagawa Hideo) ตีพิมพ์ลงในวารสาร Southeast Asian Studies ฉบับที่ 42 เล่มที่ 4 ประจำเดือนมีนาคม 2005 (พ.ศ.2548)

เมื่อคราวที่ฮิเดโอะเขียนบทความชิ้นนี้เมื่อ พ.ศ.2548 ได้ระบุว่าตัวเขาทำงานอยู่ที่ Institute of Asian Cultures แห่งมหาวิทยาลัยโซเฟีย (Sophia University) ประเทศญี่ปุ่น

แต่ปัจจุบันนักวิชาการคนนี้ทำงานอยู่ที่ The Ritsumeikan Asia Pacific University ในประเทศญี่ปุ่นเช่นเดิม แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยเกียวโต อย่างที่มักจะอ้างกันผิดๆ ในสารพัดบัญชีแฟนเพจของโลกออนไลน์

และถึงแม้ว่าจะมีผู้นำบทความชิ้นนี้มาอ้างอิงจนเป็นที่แพร่หลายว่า นักวิชาการญี่ปุ่นรายนี้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ของระบำเขมร โดยมักจะอ้างกันต่อไปด้วยว่า ฮิเดโอะได้สรุปว่า รำเขมรนั้นมีที่มาจากรำไทย ที่เข้าไปมีบทบาทแพร่หลายในราชสำนักกัมพูชา ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

แต่หากว่าพิจารณนาจากทั้งชื่อ อันเป็นบทสรุปรวบยอดว่า บทความนี้ต้องการอะไร? และสิ่งต่างๆ ที่ถูกเขียนเอาไว้ในบทความชิ้นนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่า มันไม่น่าจะเป็นอย่างที่ชาวไทยหลายคนอ้างกันนัก

เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่บทความชิ้นนี้พยายามจะนำเสนอนั้น เป็นเรื่องของการศึกษากระบวนการสร้าง “วาทกรรม” ของอะไรที่เรียกว่า “ระบำในราชสำนักกัมพูชา” ตามแนวคิดแบบอาณานิคม และหลังจากนั้น ตามอย่างชื่อของบทความที่ฮิเดโอะได้ตั้งเอาไว้ต่างหาก

ต้องบอกด้วยว่า ผมไม่แน่ใจนักว่า คำว่า “วาทกรรม” ในความหมายของคนไทยหลายคน ที่ใช้กันในทุกวันนี้แปลว่าอะไรแน่?

แต่ถ้าจะว่ากันตามความหมายของ คำว่า “วาทกรรม” ที่ฮิเดโอะหมายถึงในบทความชิ้นนี้ ซึ่งก็คือคำว่า “Discourse” ที่นักคิดระดับปรมาจารย์ ชาวฝรั่งเศส อย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ได้เคยเสนอเอาไว้ (ซึ่งก็เคยกลายเป็นเทรนด์การวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ของทั่วทั้งโลก ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่บทความของฮิเดโอะชิ้นนี้ได้ถูกตีพิมพ์นั่นเอง)

กล่าวโดยสรุป “วาทกรรม” อย่างที่ฟูโกต์เสนอนั้นหมายถึง ระบบและกระบวนการสร้าง การผลิต เอกลักษณ์ และความหมาย ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเราเอง ผ่านวิธีการและสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การฟัง การอ่าน หรือการเขียน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ฮิเดโอะตั้งใจจะศึกษา ดังที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ในชื่อของบทความแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เขาไม่ได้ตั้งใจศึกษาว่า ระบำในราชสำนักกัมพูชานั้นมีที่มาอย่างไร

แต่ตั้งใจจะศึกษาถึงกระบวนการสร้างชุดคำอธิบายเกี่ยวกับระนำในราชสำนักเขมร ว่ามีที่มาที่ไป และอุดมการณ์เบื้องหลังที่ทำให้เกิดการสร้างชุดคำอธิบายเหล่านี้อย่างไรต่างหาก

ในบทความชิ้นนี้ ฮิเดโอะจึงเล่าถึงกระบวนการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับ ระบำในราชสำนักกัมพูชา แต่ละชุด ซึ่งโดยรวมแล้วมีอยู่สองสายหลัก ได้แก่ วาทกรรมที่สร้างขึ้นโดยชาติเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาคือ นักวิชาการฝรั่งเศส และวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยปัญญาชนชาวกัมพูชาเอง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำว่า “Post/Colonial” หรือ “หลัง/อาณานิคม” ที่ปรากฏอยู่บนชื่อของบทความนั้น ฮิเดโอะดูจะหมายถึงยุคสมัยของกัมพูชา ในช่วงที่ถูกปกครองเป็นหนึ่งในรัฐใต้อารักขาในอินโดจีนของฝรั่งเศส กับช่วงเวลาภายหลังการปลดแอกอาณานิคมแล้ว มากกว่าที่จะหมายถึงวิธีคิดแบบอาณานิคม และวิธีคิดแบบหลังอาณานิคม

ภายในบทความชิ้นนี้จึงแบ่งช่วงกระแสของการสร้างวาทกรรม ระบำในราชสำนักกัมพูชาออกเป็นสองช่วงตามลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาดังกล่าว

ดังนั้น สิ่งที่ฮิเดโอะพยายามนำเสนอในบทความชิ้นนี้ จึงเป็นเรื่องของ “แนวคิดในแบบเจ้าอาณานิคม” ที่ชาวฝรั่งเศสนำมาใช้ในการสร้างวาทกรรมระบำในราชสำนักกัมพูชา กับ “อุดมการณ์ชาตินิยม” ที่ชาวเขมรนำมาสร้างเป็นชุดคำอธิบายกี่ยวกับระบำเหล่านี้ ในบริบทที่แตกต่างกันของยุคสมัยทั้งสองช่วงเวลานี้เอง

ในส่วนของการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับระบำในราชสำนักกัมพูชา ในช่วงยุคอาณานิคมนั้น ฮิเดโอะได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างคำอธิบายของ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะ ยอร์ช โกรสลิเย่ร์ (George Groslier) ที่อ้างถึงความสืบเนื่องจากรูปสลักนางรำทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในปราสาทหินของวัฒนธรรมขอม/เขมรโบราณ ว่ามีความสืบเนื่องกันทั้งในแง่ของท่วงท่า และเครื่องแต่งกายกับระบำในราชสำนักของกัมพูชา

ที่สำคัญก็คือโกรสลิเย่ร์อ้างว่า ทั้งนางรำและผู้คนในราชสำนักกัมพูชานั้น ต่างก็ไม่มีความรู้ หรือความทรงจำถึงที่มา และความหมายต่างๆ ของระบำเหล่านี้อีกแล้ว เพื่อถึงจะสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในการนำเอาคณะระบำเหล่านี้ มาไว้ในครอบครองของฝรั่งเศส

(ภายในบทความได้กล่าวถึง การที่โกรสลิเย่ร์ได้มีส่วนในการรำคณะระบำเหล่านี้ไปจัดการแสดงที่เมืองต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศสหลายครั้ง แถมยังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามอีกต่างหาก)

ฮิเดโอะพยายามชี้ให้เห็นหลักฐานว่า วิธีการของโกรสลิเย่ร์นี้มีปัญหา เพราะส่วนหนึ่งได้ตัดเอาอิทธิพลของระบำ การแสดง และอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากราชสำนักสยาม (เช่น ชื่อของท่ารำ ครูชาวสยามในราชสำนักกัมพูชา ความนิยมในรามเกียรติ์ไทย ซึ่งมีรายละเอียดต่างจากรามแกร์ของเขมร และความนิยมในการแสดงอิเหนา ที่เกิดขึ้นในราชสำนักกรุงเทพฯ ยุครัชกาลที่ 2 เป็นต้น) ทิ้งไป

ข้อมูลในส่วนนี้เอง ที่ถูกชาวไทยบางส่วนนำมาใช้อ้างว่า ฮิเดโอะสรุปว่า รำเขมรมาจากรำไทย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ฮิเดโอะเพียงแค่ยกตัวอย่างถึงปัญหาในการสร้างวาทกรรมเรื่อง ระบำในราชสำนักกัมพูชา ของโกรสลิเย่ร์เท่านั้น

และอันที่จริงแล้ว ในบทความชิ้นเดียวกันนี้เอง ฮิเดโอะยังได้กล่าวถึงอิทธิพลของระบำในราชสำนักเขมร ที่มีต่อราชสำนักกรุงเทพฯ เช่น ความนิยมในการแสดงเรื่องกากี ที่ถูกประพันธ์ขึ้นในราชสำนักของนักองค์ด้วง ที่เมืองพนมเปญ แต่ก็ได้รับนิยมอยู่ในสยาม ที่รับเอาไปจากราชสำนักพนมเปญด้วยเช่นกัน เป็นต้น

เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าฮิเดโอะจะกล่าวไว้ในส่วนสรุปของบทความชิ้นนี้ในทำนองที่ว่า วาทกรรมเรื่องระบำในราชสำนักเขมรที่อ้างว่า สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมมาจากเมืองพระนคร (Angkor) อันรุ่งเรือง โดยมีหลักฐานคือภาพสลักนางรำในปราสาทหินต่างๆ เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยเขาได้อ้างถึงแนวคิดเรื่อง “ประเพณีประดิษฐ์ใหม่” (invented tradition) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อชาติเจ้าอาณานิคมเข้าไปปกครองพื้นที่ของชนพื้นเมือง

แต่การที่เขาอ้างถึงอิทธิพลของระบำหรือการแสดงต่างๆ ของไทย ที่มีต่อราชสำนักกัมพูชานั้น ก็เป็นไปเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องระบำในราชสำนักกัมพูชา สืบทอดมาจากสมัยเมืองพระนครนั้น เป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยแนวคิดแบบอาณานิคม มากกว่าที่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

และจากข้อมูลในบทความชิ้นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ฮิเดโอะเองก็ทราบดีถึงอิทธิพลของระบำ หรือการแสดงของกัมพูชา ที่มีอิทธิพลต่อราชสำนักกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักทั้งสองแห่งนี้ในเรื่องของระบำ และการแสดงต่างๆ จึงเกี่ยวข้องถึงกันในลักษณะของการถ่ายทอดความนิยมไปมาระหว่างกัน มากกว่าที่ใครจะรับจากใครเพียงถ่ายเดียว

ที่สำคัญในบทความชิ้นนี้ของฮิเดโอะจึงไม่ได้ต้องการที่จะศึกษาว่ารำเขมรมาจากรำไทยหรือไม่?

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ ไม่มีข้อสรุปดังกล่าวอยู่ในบทความชิ้นนี้ของฮิเดโอะแม้เพียงสักนิดเลยนะครับ

เพราะสิ่งที่ฮิเดโอะพยายามจะนำเสนอในส่วนนี้ก็คือ แนวคิดแบบอาณานิคม ในลัทธิชาตินิยมกัมพูชา ที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างวาทกรรมระบำในราชสำนักเขมรต่างหาก •