เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม | วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

ปกติเรื่องของ “วังต้องห้าม” หรือ Forbidden City ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่แล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ชื่อ “เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม” ยิ่งดึงดูดความสนใจได้มากโข

เป็นผลงานของสำนักพิมพ์มติชนนี่เองครับ เขียนโดย หวังอีเฉียว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ของจีน แปลโดย ชาญ ธนประกอบ

นอกจากการรับรู้ผ่านสารคดีที่บอกเรื่องราวของวังต้องห้ามแล้ว ที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศเต็มๆ ก็จากภาพยนตร์เรื่อง “The Last Emperor” หรือชื่อไทย “จักรพรรดิโลกไม่ลืม” ซึ่งเล่าถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศจีน โดยเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ที่ปกครองประเทศจีนมาอย่างยาวนาน กับจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงที่ชื่อ “ปูยี” ตามที่ไทยเรียก จริงๆ ออกเสียงว่า “ผู่อี้”

ในหนังเราจะได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวังต้องห้าม ผู้คนมากมายดำรงชีวิตภายในนั้นที่ทำให้บรรยากาศดูคึกคัก ยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งนั่นเป็นตอนต้นเรื่องที่ปูยียังเด็ก

แต่ในตอนกลางๆ ที่ราชวงศ์เริ่มสลาย ปูยีเติบโตขึ้นมาด้วยสภาพของวังที่เปลี่ยนแปลงไป เราได้เห็นถึงพระราชวังที่มีแต่ความหงอยเหงา อ้างว้าง ผู้คนที่ลดจำนวนลงไปมาก

และในที่สุดวังต้องห้ามก็ถูกยึดคืนสู่ประชาชน จักรพรรดิปูยีถูกขับให้ออกจากวังไปในฐานะสามัญชน

 

หนังสือเล่มนี้ได้หยิบยกเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นภายในวังในยุคของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงเล่าขาน เป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือความน่าสนใจ

อย่างเช่น เราอาจจะนึกว่าวังต้องห้ามที่เป็นที่อยู่ของจักรพรรดินั้นคงมีการควบคุมการเข้าออกวังที่เข้มงวด ประเภทคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้าประมาณอย่างนั้น

แต่จริงๆ แล้วมีคนเดินเข้าออกวังตลอดเวลาทั้งวัน เพราะการดำเนินชีวิตและกิจกรรมในพระราชวังในแต่ละวันต้องการแรงงานและวัตถุดิบจากภายนอกจำนวนมาก เช่น การก่อสร้างต่างๆ การทำอาหาร เสื้อผ้า การคัดลอกหนังสือ งานช่างฝีมือต่างๆ เป็นต้น

การตรวจตราดูแลคนเข้าออกนี้จะมีที่ประตูวัง ซึ่งทหารรักษาวังจะสังเกตจากป้ายห้อยข้างเอวที่ทางวังทำขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์สำหรับคัดกรองผู้คนเข้าออก คนที่จะเข้าไปภายในได้ต้องมีป้ายอันนี้ เหมือน Grab มาส่งของในหมู่บ้านแล้วต้องแสดงบัตรยังงั้น

จึงเกิดมีเหตุการณ์บัตรหาย เดือดร้อนเข้าไม่ได้ หรือแอบใช้บัตรของคนอื่นก็มี ซึ่งถ้ามีเรื่องที่ไม่ชอบมาพากลอะไรเกิดขึ้นก็ต้องมีการไต่สวนลงโทษกัน รวมถึงทหารรักษาประตูวังด้วย

การลงโทษผู้ทำผิดกรณีต่างๆ นั้นก็มีหนักเบาต่างกันไป อย่างเช่นที่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายของราชวงศ์ชิงว่า “ผู้ใดเข้าพระราชวังต้องห้ามโดยพลการ ให้ลงโทษโบยหนึ่งร้อยไม้ จองจำด้วยคือคาหนึ่งเดือน”

การลงโทษกรณีอื่นๆ ถ้าเป็นคนภายในวังหรือเจ้าหน้าที่ของวังแล้ว นอกจากจะโดนโบยด้วยไม้จำนวนต่างๆ กันแล้ว ยังมีการตัดเบี้ยหวัดเงินเดือน บางกรณีถูกตัดไปถึงหนึ่งปีก็มี หรือถึงขั้นลดตำแหน่ง และมีการเนรเทศไกลสามพันลี้ด้วย

 

ตรงจุดของประตูวังจึงเป็นเหมือนกันชนระหว่างโลกภายนอกกับภายใน จึงมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น มีคนมายืนตะโกนด่าเพื่อทวงเงินจากคนในวัง ทหารวังเองเครียดเลยดื่มสุราจนเมามายอาละวาด หรือลงมือทำร้ายตนเอง เคยมีแม้กระทั่งคนจะมาฆ่าตัวตายที่หน้าประตูวัง

ทหารวังเหล่านี้จะเข้าทำงานเป็นกะ โดยอยู่เวรครั้งละ 3 วัน นอกจากจะควบคุมคนให้เข้าออกถูกต้องตามกฎระเบียบแล้ว ยังต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ หากมีเหตุอะไรก็มักจะมีโทษไม่พ้นตัว ทหารผู้น้อยที่เป็นด่านหน้าเหล่านี้จึงมีชีวิตที่ลำบากและต้องอดทนสูง

ภาพจำอย่างหนึ่งของวังต้องห้ามคือ “เหล่าสนม” และ “ขันที” ซึ่งก็มีเกร็ดใหม่ๆ ให้ได้ทราบกัน เช่น สนมที่ว่านี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะหญิงชาวจีนเท่านั้น

แต่มีสนมชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยด้วย

 

ทั้งนี้ เกาหลีเคยอยู่ในฐานะประเทศราชของรางวงศ์หยวนมาก่อน แม้เมื่อตกมาถึงราชวงศ์หมิงก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ตามธรรมเนียมจึงมีการแต่งตั้งคณะฑูตมาแสดงความเคารพจักรพรรดิ ซึ่งตามมาด้วยเครื่องบรรณาการต่างๆ รวมทั้งหญิงงามจากเกาหลีเพื่อมาถวายการรับใช้ด้วย

ความสัมพันธ์นี้เคยมีความลึกซึ้งขนาดที่ได้มีการเสกสมรสเกิดขึ้นระหว่างราชนิกุลของจีนกับหญิงชาวเกาหลี จึงเกิดเป็นความเกี่ยวดองกันเชิงการทูต เมื่อมีอะไรก็สามารถพูดจากันได้โดยง่าย ตามหลักคิดแต่โบราณที่ว่า “คุ้นเคยกันก็หมดปัญหา”

จำนวนของสนมชาวเกาหลีที่เข้ามารับใช้ในวังต้องห้ามนั้นไม่ใช่น้อยๆ จนมีผู้เคยกล่าวว่า “หญิงบรรณาการชาวเกาหลีเกลื่อนสำนัก”

นอกจากสนมชาวเกาหลีแล้ว ยังมีขันทีที่มาจากเวียดนามอีกด้วย

เกิดขึ้นเมื่อครั้งจักรพรรดิหย่ง เล่อ ยกทัพไปปราบราชวงศ์เฉิน ซื่อ ของ “เจียวจื่อ” ซึ่งเจียวจื่อ ก็คือเวียดนามในปัจจุบันนั้นเอง เมื่อปราบได้แล้วก็มีการเกณฑ์ไพร่พลแรงงานช่างๆ ชาวเจียวจื่อให้เข้ามาทำงานก่อสร้างในวัง ซึ่งตอนนั้นมีการขยายพระราชวังออกไป ต้องการแรงงานฝีมือจำนวนมากมาเร่งทำ

นอกจากชายเจียวจื่อ หรือเวียดนามจะเข้ามาเป็นแรงงานแล้ว จักรพรรดิยังให้คัดหนุ่มเวียดนามอายุ 10 ปีขึ้นไปที่หน้าตาดี เข้ามาในวังเพื่อให้ได้รู้หนังสือ และฝึกอบรมวิชาต่างๆ ให้พร้อมกับการเป็น “ขันที” คอยรับใช้ใกล้ชิดด้วย

ตอนหนึ่งในหนังสือกล่าวว่า

“…ขันทีชาวเจียวจื่อเหล่านี้ล้วนเฉลียวฉลาดโดยกำเนิด ไม่เพียงดูแลงานในวังได้อย่างโดดเด่น แต่ยังเริ่มรวมเป็นกลุ่มอิทธิพลของเขตพระราชฐานชั้นใน ในบรรดาขันทีเจียวจื่อเหล่านี้ มีหลายคนเชี่ยวชาญงานก่อสร้างพระราชวัง และเป็นผู้รับผิดชอบคนสำคัญในการสร้างพระราชวังต้องห้ามยุคต้นราชวงศ์หมิง”

“เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม” สำนักพิมพ์มติชน

เมื่อพูดถึงขันที เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับจักรพรรดิ และราชนิกุล ซึ่งในความเป็นจริงที่น่าเห็นใจคือ เหล่าขันทีไม่ได้รับคุณค่าเทียบเคียงกับเหล่าขุนนางและเสนาบดีเลย ซ้ำกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมขันทีก็เข้มงวดมาก เช่น เมื่อเป็นขันทีแล้วห้ามติดต่อกับคนภายนอกวังโดยเด็ดขาด นั่นแทบจะตัดครอบครัวของตนทิ้งไปเลย แม้แต่จะติดต่อไหว้วานทำธุระให้ก็ไม่ได้ ถึงกระนั้นก็มีขันทีที่ลักลอบทำผิดกฎอยู่เสมอ กับคนในวังเองก็ห้ามคบค้าสมาคมเป็นการพิเศษ เพราะเกรงเรื่องส่องสุมทางการเมือง และเอาความลับไปเปิดเผย

ความเป็นอยู่ที่คับข้องใจนี้ ทำให้ขันทีหลายคนคิดหนีออกจากพระราชวัง ซึ่งหากถูกจับได้ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก เช่น ถูกโบยหกสิบไม้ จากนั้นจะถูกส่งให้ไปดายหญ้าเป็นเวลาหนึ่งปี หากหลบหนีซ้ำๆ ก็ต้องดายถึงสองปี

กล่าวกันว่าขันทีในราชวงศ์ชิงเป็นงานรับใช้ที่ไม่ค่อยมีหลักประกันในชีวิต ตามระเบียบ ราชการ ถ้าขันทีเจ็บป่วยให้ขับออกจากวังเป็นสามัญชน ไปดิ้นรนหาทางดำรงชีพเอาเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ขันทีที่ออกจากวังมิได้มีสถานะทางสังคมเฉกเช่นราษฎรทั่วไป จะทำมาหาเลี้ยงชีพก็ยากลำบาก

จึงพบว่ามีการฆ่าตัวตายของขันทีบ่อยครั้ง

 

นั่นเป็นชีวิตของคนที่ทำงานในวัง ยังมีอีกชีวิตหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย แต่ทำงานรับใช้จักรพรรดิอยู่นอกวัง นั่นก็คือ “พลส่งสาร”

เวลาที่จักรพรรดิมีพระราชโองการต่างๆ ที่จะต้องให้หัวเมืองและมณฑลต่างๆ ได้รับรู้โดยทั่วกัน หากเป็นสมัยนี้คงส่งอีเมล หรือส่งไลน์ ได้ง่ายดาย กับสมัยนั้นเขาก็มีไรเดอร์เหมือนกัน แต่ไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ หากขี่ม้า เรียกว่า “พลส่งสาร”

พลส่งสารจะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ “สถานีพักม้า” ในเขตเมืองต่างๆ มีหน้าที่นำหีบเอกสาร หีบฎีกา หรือกล่องจดหมายราชการ ห้อตะบึงไปยังจุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด สมกับชื่อตอนที่ว่า “ด่วนร้อยลี้ : ประกาศิตจักรพรรดิต้องไปถึง”

สิ่งที่พลส่งสารนำไปมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยมากจะเกี่ยวพันกับการทหารและความเป็นความตายของบ้านเมือง

ดังนั้น เอกสารที่อยู่ในหีบจะตกหล่นเสียหาย หรือสูญหายไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งระยะทางที่ต้องตะบึงไปบางครั้งก็ต้องผจญกับน้ำท่วม สะพานขาด หิมะตกหนัก ถนนเป็นโคลนเลนจนเดินทางไม่ได้ แต่หากเอกสารไปไม่ถึงตามเวลา พลส่งสารจะต้องถูกลงโทษ รวมทั้งหัวหน้าสถานีพักม้าและผู้เกี่ยวข้องด้วย

บางทีก็เกิดจากม้าที่ขี่เกิดตกใจ ห้อตะบึงไปจนควบคุมไม่ได้ ทำให้หนังสือราชการตกหล่นได้รับความเสียหาย บางครั้งหีบเอกสารก็เกิดสูญหายไประหว่างทาง หรือถูกปล้นหรือถูกขโมยไป หากเป็นเช่นนี้ต้องรีบแจ้งกลับมายังต้นทาง เพื่อหาทางแก้ไขด่วน

ระหว่างทางหากเจ็บป่วย พลส่งสารก็พักนานไม่ได้ต้องรีบเดินทางไปยังที่หมายให้เร็วที่สุด ทำให้เห็นว่าบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยบนหลังม้าเหล่านี้ล้วนพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน จนบางครั้งถึงกับต้องสละชีวิต

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ “ด่วนร้อยลี้ : ประกาศิตจักรพรรดิต้องไปถึง” นั่นเอง

 

ในหนังสือเล่มนี้ได้ชี้ความจริงอย่างหนึ่งให้เราเห็นว่า ในสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นก็มีพลังของคนตัวเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างใต้ และทำงานไปอย่างเงียบๆ ภายใต้หน้าที่ที่ผิดพลาดไม่ได้ และความกดดันที่เจออยู่ทุกวัน แต่หากขาดซึ่งกำลังของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ ความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ ความสวยงามทั้งหลายก็มิอาจเกิดขึ้นได้

ทุกคนมีชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเกิดมาสูงส่งเป็นจักรพรรดิ หรือเกิดมาต่ำต้อยเป็นลูกชาวนา

ฉะนั้น การเห็นคุณค่าและเห็นอกเห็นใจกันและกัน จะทำให้โลกน่าอยู่และอบอุ่นขึ้น ไม่มากก็น้อย

เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยไม่ต้องพึ่งเวทีการประชุมใดๆ ทั้ง G 20 หรือ APEC ก็ได้ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์