กรองกระแส / ต่อสู้ 2 แนวทาง เลือกตั้ง กับ ยื้อเลือกตั้ง ใครรุก ใครรับ

กรองกระแส

ต่อสู้ 2 แนวทาง
เลือกตั้ง กับ ยื้อเลือกตั้ง
ใครรุก ใครรับ

นับแต่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อเดือนเมษายนเป็นต้นมา อารมณ์ความรู้สึกในสังคมต่อการเลือกตั้งได้ปรากฏออกมา 2 กระแส 2 แนวทาง
กระแส 1 แนวทาง 1 คือ ขานรับและรอคอยด้วยความหวัง
ขณะเดียวกัน กระแส 1 แนวทาง 1 คือรอคอยด้วยความหงุดหงิด กระทั่งถึงระดับที่งุ่นง่าน ไม่พอใจ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือหากจะเกิดก็จะชะลอและเลื่อนระยะเวลาให้ยาวนานออกไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เด่นชัดยิ่งว่าที่ขานรับและรอคอย คือ นักการเมือง พรรคการเมือง
ท่ามกลางการขานรับ ท่ามกลางการรอคอยของนักการเมือง พรรคการเมือง ต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จึงเกิดปฏิกิริยากระทบกระแทก แดกดัน
ผ่านวาทกรรม “กระสัน” อยาก “เลือกตั้ง” ออกมาจากบางคน บางฝ่าย
กระแส 2 กระแส แนวทาง 2 แนวทาง ที่แตกต่าง ขัดแย้งกันนี้จะดำรงอยู่เรื่อยไปกระทั่งการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในความเป็นจริง
หากไม่ปลายปี 2561 ก็เป็นต้นปี 2562

ท่วงทำนอง การเมือง
การเร่ง การยื้อ การดึง

สภาพการณ์ทางการเมืองที่เห็นและสัมผัสจึงเป็นการปะทะระหว่าง 2 กระแส 2 แนวทาง กล่าวคือ 1 กระแสเรียกร้องต้องการ แนวทางก้าวไปสู่การเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน 1 กระแสยื้อและยืดดึง แนวทางไม่ต้องการให้การเลือกตั้งบังเกิด
คำถามก็คือ กระแสใด แนวทางใด เป็นฝ่ายรุก กระแสใด แนวทางใด เป็นฝ่ายรับ
มีความเด่นชัดตั้งแต่เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 มาแล้วว่า ยุทธศาสตร์ของประเทศ คือการก้าวไปสู่การเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง คือหนทางที่จะก้าวออกจากวิกฤตจากปัญหา
ยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงแต่เป็นของ คสช. เป็นของรัฐบาล หากแต่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างเด่นชัดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
อย่างที่เรียกว่า “โรดแม็ป”
ความหมายจึงหมายความว่า หาก คสช. และรัฐบาลเคารพต่อรัฐธรรมนูญที่พวกตนเป็นผู้ยกร่างและผ่านความเห็นชอบก็จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ซึ่ง คสช. และรัฐบาลนั้นเองเป็นผู้กำหนด
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จึงมิใช่ปัญหาในทาง “ยุทธศาสตร์” หากเป็นปัญหาในทาง “ยุทธวิธี”

ยุทธศาสตร์ เลือกตั้ง
ยุทธวิธี คือ การยื้อ

เราจะมองท่าทีของ คสช. และของรัฐบาลโดยถืออะไรเป็นบรรทัดฐาน จาก 1 คำแถลง คำประกาศ หรือ 1 จากการปฏิบัติที่เป็นจริง จากคำแถลง คำประกาศ เราสัมผัสได้ในความไม่แน่นอน
เห็นได้แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาโตเกียว” แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญานิวยอร์ก” และก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาทำเนียบขาว” กระทั่งล่าสุดคือ “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล”
เหมือนกับเป็นคำแถลง คำประกาศในเชิง “สัญญาประชาคม”
ไม่เพียงแต่เป็นคำแถลง คำประกาศ ต่อประชาชนคนไทย หากยังเป็นคำแถลง คำประกาศต่อประชาคมโลก กระนั้นก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เปลี่ยนแปลงบนคำมั่น “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”
จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า แม้ คสช. และรัฐบาลจะมี “ยุทธศาสตร์” อย่างเด่นชัดผ่านรัฐธรรมนูญ แต่ก็ดำเนินไปอย่างไม่มีความแน่นอน อันเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง ปรับแต่งคำแถลง คำประกาศอยู่ตลอดเวลา
เท่ากับแสดงให้เห็นว่าที่เป็นปัญหามิใช่ “ยุทธศาสตร์” หากแต่เป็นการลงมือปฏิบัติอันเป็นกระบวนการในทาง “ยุทธวิธี” มากกว่า
เด่นชัดว่า “ยุทธวิธี” คือ ยื้อ เตะถ่วงและพยายาม “เลื่อน” ออกไป

ยุทธวิธี แปรเปลี่ยน
ยุทธศาสตร์ คงเดิม

สถานการณ์นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เด่นชัดยิ่งในเรื่องการปรับเปลี่ยนและใช้ยุทธวิธีในแต่ละสถานการณ์โดยไม่คำนึงถึงยุทธศาสตร์
ยืนยันบทสรุปที่ว่า “เขาอยากอยู่นาน” ถูกต้อง
บทสรุปนี้อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุม สปช. เมื่อเดือนกันยายน 2558 แต่ก็เป็นรูปธรรมอันสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของ คสช. อย่างเด่นชัด
เด่นชัดมาจนถึง “ปฏิญญาทำเนียบรัฐบาล” ในเดือนตุลาคม 2560
ความไม่แน่นอนในกระบวนการเลือกตั้งจึงยังดำรงอยู่ ขณะเดียวกัน ความเชื่อถือต่อคำแถลง คำประกาศของ คสช. และของรัฐบาลก็ดำเนินไปในลักษณะถดถอยเป็นลำดับ เป็นสภาวะถดถอยที่ คสช. และรัฐบาลเคยกระทำในแบบ “รุก” กลับกลายเป็น “ตั้งรับ”
โดยในความเป็นจริงก็มิอาจหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งตามยุทธศาสตร์ได้