‘ประชาธิปไตย’ ไม่ยืนหยัด | เมนูข้อมูล

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

‘ประชาธิปไตย’ ไม่ยืนหยัด

 

การพัฒนาประชาธิปไตยไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเรา ว่ากันให้ตรงๆ ก็เพราะ “นักการเมืองไม่ซื่อตรงต่อการสถาปนาประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

ถ้าจะให้อธิบายก็คือ “นักการเมือง” มุ่งที่การแสวงหาอำนาจมากกว่าที่จะมุ่งสร้างประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเพราะเพื่อใช้อำนาจนั้นแสวงผลประโยชน์หรือไม่ก็ตาม

เมื่อ “นักการเมือง” หิวโหยอำนาจมากกว่ามุ่งมั่นสร้างประชาธิปไตย จึงเป็นจุดอ่อนให้ “เผด็จการ” ที่ใช้กำลังและอาวุธเข้ายึดอำนาจ

โดยใช้ “นักการเมือง” ที่โหยหิวอำนาจเหล่านั้นเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับเผด็จการ

“ผู้มาจากอำนาจประชาชน แต่โหยหิวเหล่านี้” ดูได้จากพวกพร้อมที่จะขอส่วนแบ่งอำนาจจากเผด็จการ เป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยมีข้ออ้างมากมายแต่แก่นแท้แล้วคือ “สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ”

เพราะ “นักการเมืองไทย” ส่วนใหญ่ หรือจะว่าไปคือแทบทั้งหมดมีสำนึกเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ “เผด็จการ” กลับมายึดอำนาจ และสร้าง “ขบวนการสืบทอด” ได้เสมอ ในเสื้อคลุมประชาธิปไตย

 

ในช่วงที่ผ่านมาการต่อสู้ระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” ค่อนข้างดุเดือด

เยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกฮือขึ้นแสดงออกทางการเมืองทั้งในวงกว้าง และทางลึกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เกิดการแบ่งแยกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายสนับสนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน

กระทั่งเกิดความเชื่อว่า พัฒนาการการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นการต่อสู้แตกหักระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ”

วันเวลาน่าจะนำพัฒนาการทางการเมืองไทยมาถึงยุคที่ต้องแบ่งฝ่ายสู้กันแบบเด็ดขาด จริงจังแล้ว

ทว่า หากติดตามความเป็นไปของ “ความคิดนักการเมือง” กลับไม่เป็นเช่นนั้น

ลองดู “นิด้าโพล” ที่สำรวจเรื่อง “คนที่ชอบ พรรคที่ใช่” จนจะครบทุกภาคแล้ว ผลออกมาชัดเจนว่าความนิยมของ “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” ทิ้งห่างพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งถือว่าเป็น “ฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจเผด็จการ” อยู่ไม่น้อย

ยิ่งรวมความนิยมต่อพรรคฝ่ายค้านอื่นซึ่งอาจจะนับรวมเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้ ยิ่งห่างไม่เห็นฝุ่น

 

ถ้ายกคะแนนนิยมพรรค อ่านการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อคือการเลือกพรรค

ภาคอีสาน เลือก “เพื่อไทย” ร้อยละ 51.40, “ก้าวไกล” ร้อยละ 15.10

ภาคใต้ แม้อันดับแรกยังเลือกประชาธิปัตย์ คือร้อยละ 27.64 แต่รองลงมา เลือก “เพื่อไทย” ร้อยละ 15.54, “ก้าวไกล” ร้อยละ 12.49

กทม.เลือก “เพื่อไทย” ร้อยละ 28.60, “ก้าวไกล” ร้อยละ 26.10

ภาคเหนือ เลือก “เพื่อไทย” ร้อยละ 48.75, “ก้าวไกล” ร้อยละ 16.15

ภาคกลาง เลือก “เพื่อไทย” ร้อยละ 32.57, “ก้าวไกล” ร้อยละ 19.83

หากตัดสินกันที่ภาพลักษณ์การเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ย่อมถือได้ชัดเจนว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” เป็นพรรคที่ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาอย่างเข้มข้นทั้ง 2 พรรค

จนน่าจะเป็นที่เชื่อได้ว่าหลังเลือกตั้งจะร่วมมือกันสู้เพื่อเอาชนะ “แนวร่วมเผด็จการ” เพื่อพลิกประเทศกลับสู้ประชาธิปไตยให้ได้

 

แต่หากติดตามความเป็นไปทางการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ กลับกลายเป็นว่า

ข่าวเรื่องท่าทีของ “เพื่อไทย” ที่ “ปฏิเสธการร่วมกับพรรคก้าวไกล” มีมาอย่างเข้มข้น ด้วยประเด็นที่แหลมคมระดับ “ก้าวไกล” เป็นข้อห้ามเด็ดขาดของผู้มีอำนาจในพรรค

ทว่ากับ “พลังประชารัฐ” กลับมีท่าทีพร้อมจะ “ร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน”

การพัฒนาประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ “พรรคการเมือง” จะต้องหนักแน่นพอที่จะซื่อสัตย์ความเชื่อมั่นในอำนาจประชาชน

ต้องไม่อ่อนไหวต่อความโหยหิวอำนาจกระทั่งละเลยต่ออุปสรรคการพัฒนาประชาธิปไตย หรือยอมจำนนต่อการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

คำถามจึงคือ “เกิดอะไรขึ้น”

หรือว่าที่สุดแล้ว “นักการเมือง” ยากที่จะทนทานต่อแรงบีบคั้นจาก “ความโหยหิวอำนาจ” จนละเลย “เป้าหมายพัฒนาประชาธิปไตย” ได้ทุกเมื่อ