กัญชา กัญชง | ล้านนา คำเมือง

กัญชฯา กัญชฯ฿งอ่านเป็นภาษาล้านนา ตามการเขียนว่า “กั๋นจา กั๋นจง”

แต่เนื่องจากเป็นคำยืมจากภาษาไทยภาคกลาง จึงต้องอ่านออกเสียงตามเจ้าของภาษาว่า “กันชา กันชง”

หมายถึง “กัญชา กัญชง”

กัญชา กัญชง เป็นพืชในสกุลเดียวกันแต่คนละชนิด คือสกุล Cannabis ซึ่งได้มาจากชื่อในภาษากรีกของกัญชาว่า “kannabis”

ชื่อชนิดของกัญชา กับกัญชงนี้มีชื่อท้ายต่างกัน โดยกัญชาชื่อ Cannabis sativaL. supsp. sativa และกัญชงชื่อ Cannabis sativaL. supsp. indica (Lam.) E. Small & Sronquist

ความหมายของชื่อท้ายที่บอกลักษณะเฉพาะของชนิดย่อยของกัญชามาจากคำว่า sativus ในภาษาละติน ที่แปลว่า มีกลิ่นหอม และ indica หมายถึงประเทศอินเดีย

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกัญชาและกัญชงคล้ายกันมาก เนื่องจากเป็นพืชชนิดเดียวกัน ต่างกันในระดับชนิดย่อย (subspicies) คล้ายกับมะม่วงที่แต่ละพันธุ์เป็นชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันในระดับที่ต่ำกว่าระดับชนิด คือระดับพันธุ์ (cultivar)

มีลักษณะนิสัยเป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ และเว้าลึกเป็นแฉกแบบนิ้วมือ ดอกแยกเพศ

สารสำคัญที่ออกฤทธิ์จะสะสมที่ช่อดอก ในระยะออกดอก

ความแตกต่างของลักษณะทางกายภาพของกัญชาและกัญชงสามารถสังเกตได้จากทรงพุ่มและความสูง กัญชาจะมีทรงพุ่มโปร่งและสูงกว่า (เกิน 2 เมตร) ส่วนกัญชงจะมีทรงพุ่มที่แน่นและเตี้ยกว่า (ไม่เกิน 2 เมตร)

หรือดูจากจำนวนแฉกของใบ กัญชงจะมีน้อยกว่า คือ 5-7 แฉก ส่วนกัญชามี 7-11 แฉก

รูปร่างของแผ่นใบกัญชาจะแคบกว่าและมีสีเขียวอมเหลือง ส่วนกัญชงจะมีแผ่นใบกว้างกว่า สีเขียวถึงเขียวเข้ม

ดอกกัญชงมียางมากกว่าดอกกัญชา เมล็ดกัญชงขนาดใหญ่กว่า มีลายเล็กน้อยและผิวหยาบ เมล็ดกัญชาขนาดเล็กกว่า และมีผิวมันวาว

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของทั้งสองชนิดมีสารสำคัญเหมือนกันคือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBC (Cannabidiol) แต่ปริมาณต่างกัน

โดย THC จะพบมากในกัญชา (มากกว่า 1%) ส่วน CBD พบมากในกัญชง (มากกว่า 2%)

สารทั้งสองชนิดนี้คล้ายกันมาก แต่ให้ผลต่างกัน THC เหมาะสำหรับใช้ลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ หากรับในปริมาณสูงทำให้เมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้ การตัดสินใจ ความจำระยะสั้นและระยะยาว

หากได้รับในขนาดสูงสม่ำเสมออาจเกิดอาการดื้อต่อสาร ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม และเกิดการติดยาได้

สำหรับสาร CBD จะออกฤทธิ์ตรงกันข้าม ต้านฤทธิ์ของ THC ไม่ทำให้เสพติด ไม่มีอาการเมา ซึม หรือตอบสนองช้า อาจส่งผลให้ง่วงซึมในบางราย เพิ่มความอยากอาหาร อารมณ์ดี และควบคุมอาการชักและอาการปวดได้ ผลข้างเคียงอาจทำให้อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตัวเบา และยังไม่พบรายงานการเกิดการดื้อหรือเสพติด

การใช้ประโยชน์ของกัญชง ใช้ส่วนใบเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยให้ผ่อนคลาย สดชื่น หลับสบาย รักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะไมเกรน แก้กระหาย รักษาท้องร่วง บิด และบรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาเกาต์

เปลือกต้นให้เส้นใยใช้ทำด้ายหรือเชือก ทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรงในงานประเพณีของชาวม้ง ชาวญี่ปุ่นนิยมนำผ้ากัญชงมาตัดกิโมโน เพราะเป็นผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่มีความทนทานมาก กล่าวกันว่าทนนับร้อยปี

เมล็ดให้น้ำมัน มีโอเมก้า 3 สูง ใช้น้ำมันทำสบู่ เครื่องสำอาง อาทิ ครีมกันแดด แชมพู โลชั่น ลิปสติก ครีมบำรุงผิว หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

นอกจากนี้ยังมีโปรตีนสูง ใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ เช่น ใช้ทำเนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม เป็นต้น

กัญชฯา ใช้เปนฯอยฯานํ่อฯเจั้า กัญชา ไจ๊เป๋นยาน่อเจ้า แปลว่า กัญชา ใช้เป็นยานะ

การใช้ประโยชน์ของกัญชา มีบันทึกการใช้เป็นสมุนไพรรักษาข้อต่ออักเสบ มาลาเรีย และไข้รูมาติก ราว 4,700 ปีก่อน ในประเทศจีน ตอนหลังถูกห้ามใช้เนื่องจากพบว่าทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดความยับยั้งชั่งใจ

ส่วนประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบมีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสมในตำรับแพทย์แผนไทยหลายตำรับ เพื่อใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ อาการปวด ตกเลือด ช่วยเจริญอาหาร แก้ลงแดง ขับลม และบำรุงกำลัง

สำหรับคนล้านนา ไม่ปรากฏการใช้ประโยชน์ทางยาของกัญชา

ในบางท้องที่พบว่าการใช้ใบกัญชาใส่ในแกง หรือน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ช่วยชูรสให้อาหารกลมกล่อมขึ้น สันนิษฐานว่าเกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอาหารจากต่างถิ่นตั้งแต่ก่อนรัฐบาลไทยจะออก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2477 ที่ห้ามปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือเสพกัญชา

ส่วนกัญชงมีการใช้ประโยชน์จากเส้นใยทอเป็นผ้าใยกัญชง ตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าคลุม กระเป๋า เป็นต้น •

 

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่