คณะทหารหนุ่ม (14) | เมื่อคณะปฏิวัติ “โดนยำ” จับเข้าบางขวาง

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ก่อนที่กัปตันจะนำเครื่องออกจากสนามบินดอนเมืองไปโดยไม่มีคณะผู้ก่อการทั้ง 5 นั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ได้ย้อนรำลึกความทรงจำว่า…

“เวลาผ่านไปสักอึดใจใหญ่ๆ จึงมีคนมาเชิญพวกเราให้ลงจากเครื่องก่อน บอกว่าเครื่องขัดข้อง อาจต้องเปลี่ยนเครื่อง แต่ก็เชิญเฉพาะพวกเราห้าคนเท่านั้น และทันทีที่เท้าแตะถึงพื้น กลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ก็กรูกันเข้ารวบตัวพวกเราใส่กุญแจมือ พร้อมผลักให้ขึ้นรถตู้ ระหว่างที่กลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านี้กำลังเอากุญแจมือใส่ พล.อ.ฉลาด อยู่นั้นผมก็ร้องขึ้นว่า ‘เฮ้ย…พวกนายทำอย่างนี้ได้ยังไง นั่นนายพลเอกแห่งกองทัพบกนะ’ คนทั้งกลุ่มราว 30-40 คนนั้นหยุดชะงัก หนึ่งในนั้นถามด้วยเสียงเยาะหยันเต็มที่ว่า ‘มีปัญหาหรือไงพวก’

เท่านั้นแหละ เกือบทั้งกลุ่มก็รวมศูนย์มาที่ผมคนเดียว ทั้งพานท้ายปืนอูซี่ ทั้งไอ้โอ๊บ ไม่รู้เบอร์อะไรบ้างประเคนเข้ามา แรกเลยก็คือพานท้ายปืนอูซี่ฟาดเข้าเต็มแรงตรงกรามด้านขวาจนกรามแตก ผมเซผงะ ยืนไม่ได้อยู่พักใหญ่ จนหนำใจกันทั้งกลุ่ม มันจึงหิ้วร่างโชกเลือดของผมโยนขึ้นบนรถปิกอัพของทหารอากาศ ขับมุ่งหน้าไปยังกองรักษาการณ์

ผมขยับปากหวังจะถ่มเลือดแต่ทำไม่ได้ ผมอ้าปากไม่ขึ้น รู้สึกร้าวหนึบตลอดทั้งกราม ระหว่างที่นัยน์ตาหรี่จวนปิดนั้น ผมยังได้ยินเสียงสำรอกของทหารอากาศคนหนึ่งในกลุ่มนั้นดังขึ้นว่า

“ไอ้ห่า…พวกมึงทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน”

 

คำอธิบายของเกรียงศักดิ์

ภายหลังต่อมาอีกไม่นาน ผมถึงได้รู้ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกฉบับถึงสิ่งที่ได้ทำกับพวกผมเอาไว้ว่า

“ชีวิตนายทหารของเรามีค่า ขอให้เห็นใจที่พวกเราตัดสินใจไปตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์ เมื่อผมกลับบ้านแล้วเครื่องบินไม่ออกก็เป็นเรื่องของทหารอากาศจะจัดการควบคุมตัวเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าทำตามสัจจะแล้ว เมื่อ 5 ผู้ก่อการหาประเทศอื่นไปไม่ได้ ถ้าพวกเราทำอย่างอื่นก็เป็นการผิดกฎหมายของบ้านเมือง เราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องทำตามกฎหมายของแผ่นดินซึ่งเป็นมติที่ประชุมร่วมกัน เราไม่มีทางเลือก ต้องทำตามกฎหมายของแผ่นดิน ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”

“ขออย่าว่าเป็นการกระทำที่ไม่รักษาสัจจะหรือพวกเราอาฆาต ขอให้เข้าใจในแนวทางแก้ปัญหาของพวกเรา…”

 

เข้าห้องขัง

“คืนนั้นเขาขังผมไว้ที่กองรักษาการณ์ร่วมกับ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ ส่วน พ.ต.บุญเลิศ พ.ต.วิศิษฐ์ และ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นั้น ผมไม่รู้ว่าเขาแยกไปยังที่ไหน ผมเป็นห่วงท่าน ไม่รู้พวกมันทำอย่างไรกับท่านบ้าง”

“ผมคิดย้อนหลัง ขณะที่เราควบคุม พล.อ.เกรียงศักดิ์อยู่ในห้องรับรอง เจ็บใจตัวเองที่เขาขออาวุธเราก็มอบให้แต่โดยดี แม้ว่า พ.ต.อัศวินจะไม่ยอมให้ในตอนแรก แต่พอเราจะออกไปขึ้นรถเพื่อไปขึ้นเครื่อง พ.ต.อัศวินถึงยอมควักปืนพกยื่นให้กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ จนฝ่ายนั้นตกใจ เราพาซื่อ เพราะรูปการณ์ต่างๆ มันชวนให้เราคิดว่า เขาคงต้องการให้เราออกนอกประเทศจริงๆ โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา เราให้ความเคารพกันเป็นอย่างดี เราให้เกียรติกับผู้แพ้ แต่นี่มันหักหลังกันชัดๆ”

“ภาพของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยืนพูดคุยอยู่กับ พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ภายในห้องรับรอง ขณะที่รถพาเราไปขึ้นเครื่องแล่นห่างจากอาคารรับรองออกไป ผมยังจำภาพที่ทั้งสองคนก้มหน้าเข้าหากัน เหมือนจะกระซิบกระซาบอะไรกันอยู่”

“ผมเผลอตัวกัดฟัน เมื่อนึกว่าเราถูกเขาหักหลังเสียแล้ว แต่ต้องสะดุ้งเฮือกเพราะความปวดร้าวที่กราม ปากผมเริ่มบ่วมเป่งจนขยับอ้าไม่ได้ ข้าวปลาไม่ได้กิน ไม่มีหมอมาดูบาดแผลของผมเลย ชายโครงผมปวดมากจนขยับตัวไม่ได้ ผมนอนระบมอยู่อย่างนั้นจนค่อนคืน ไม่สามารถข่มตาให้หลับลงได้”

“ระบมทั่วทั้งกายและบอบช้ำภายในใจอย่างหนัก”

 

บางขวาง

ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่ทราบว่า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกแยกจากกลุ่มไปคุมขังที่ไหน แต่บันทึก “จากจุฬาฯ สู่บางขวาง” ของสุรชาติ บำรุงสุข ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง พร้อมกับเพื่อนๆ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้บันทึกไว้ดังนี้…

“แล้วความผิดปกติก็เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง พวกเราได้รับคำสั่งให้ ‘ขึ้นขัง’ เร็วกว่าปกติ เรารู้เพียงว่าเป็นอะไรที่ผิดปกติ แต่ก็ไม่มีจินตนาการอะไรที่จะตอบความสงสัยที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ จนกระทั่งเสียงประตูเหล็กด้านหน้าของแดนพิเศษถูกเปิดออก ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หลายคนอื้ออึงอยู่ พวกเราจึงได้แต่มองผ่านช่องว่างเล็กๆ ของบานประตูห้องขัง แม้เราจะไม่รู้จัก พล.อ.ฉลาดมาก่อน แต่จากภาพที่มองเห็นก็เดาได้ไม่ยากนักว่า ชายในชุดซาฟารีตัดผมเกรียนนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ…”

“แดนพิเศษได้มีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะใหม่แล้ว ไม่ใช่ผู้นำนักศึกษาเด็กๆ แบบพวกเรา หากแต่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของกองทัพบกไทย ผมนึกไม่ถึงเลยว่า หลังจากมีนักศึกษาเป็นนักโทษการเมืองรุ่นแรกแล้ว จะมีนายทหารระดับสูงเป็นนักโทษรุ่นต่อมา”

“พวกเราที่เป็นนักโทษ 6 ตุลาคม อยู่ในชั้นล่างของอาคาร ผู้คุมพา พล.อ.ฉลาดขึ้นไปอยู่ชั้นบน แล้วหลังจากนั้นเราก็ได้ยินเสียงกุญแจห้องขังปิดล็อก เจ้าหน้าที่จึงค่อยๆ ทยอยออกไปจากแดนเราพร้อมกับเสียงปิดประตูเหล็กด้านหน้าดังขึ้น ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่าชีวิตในแดนพิเศษกลับสู่ภาวะปกติ”

 

“เป็นแต่เพียงมีผู้มาเยือนเพิ่มอีก 1 ท่าน”

“เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราออกจากห้องขังตามปกติเพื่อจัดการธุระส่วนตัวและจัดการเตรียมอาหารเช้า ผมซึ่งมีหน้าที่ต้องคอยจัดการดูแลเรื่องอาหารของพวกเราจึงถูกส่งขึ้นไปชั้นบน ผู้คุมแดนเราซึ่งหนึ่งในนั้นเคยเป็นผู้คุมในกรณีของอุทัย พิมพ์ใจชน และคณะ พอจะเข้าใจเรื่องนักโทษการเมืองได้อนุญาตให้ผมขึ้นไปชั้นบนเพื่อไปชวน พล.อ.ฉลาดลงมารับประทานอาหารเช้า ทั้งที่มีคำสั่งห้าม พล.อ.ฉลาด พบและพูดคุยกับใครทุกคน นี่จึงเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างผมกับ พล.อ.ฉลาด”

“อาหารเช้าวันแรกดูจะเป็นอะไรที่ไม่น่าอภิรมย์ใจเท่าใดนัก ซึ่งก็คงเดาได้ไม่ยากว่า ท่านคงไม่มีกะใจที่จะรับประทานมื้อเช้าแรกในบางขวาง เพราะสถานที่นี้คือเรือนจำมหันตโทษ ไม่ใช่ห้องอาหารหรูที่ไหน”

“ในความเป็นนักโทษการเมืองนั้น พวกเราจะได้รับอนุญาตให้ออกไปพบญาติที่มาเยี่ยมได้ หรือที่ภาษาคนคุกเรียกว่า ‘เยี่ยมญาติ’ คือเราไปเยี่ยมญาติได้ตอนเวลา 14.00 น. เพื่อไม่ให้ชนกับตารางของนักโทษทั่วไป แต่ในตอนนั้นทางรัฐบาลไม่อนุญาตให้ พล.อ.ฉลาดมีโอกาสออกไปเยี่ยมญาติ ทำได้เพียงแต่การส่งอาหารมาให้”

“สำหรับพวกเราเมื่อออกไปเยี่ยมญาติก็กลับเข้าแดนด้วยการมีอาหารและของฝากจากญาติ ส่วนอาหารจากญาติของ พล.อ.ฉลาด ก็ถูกส่งเข้ามา ทำให้เรามีเสบียงเก็บไว้ไม่มากนัก ในเรื่องของอาหารการกินซึ่งผมก็จะจัดว่าอะไรที่เก็บไว้ไม่ได้ก็จะต้องรับประทานเป็นมื้อเย็น ส่วนอะไรที่พอจะจัดเก็บได้ก็จะเป็นอาหารมื้อเช้า และพอบ่ายไปเยี่ยมญาติอีกก็จะมีเสบียงกลับมาเพิ่มเติม”

“วัฏจักรชีวิตของผู้ต้องขังเป็นเช่นนี้”

“ในฐานะเป็นคนที่ต้องไปชวน พล.อ.ฉลาดมารับประทานข้าวทุกวัน ทำให้ผมเริ่มเกิดความคุ้นเคย ท่านรับประทานอาหารไม่ค่อยได้เท่าใดนัก ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ ต่อให้อาหารจะอร่อยเท่าใดก็ไม่อร่อยดั่งใจ โดยอารมณ์ความรู้สึกแล้วตอบได้ไม่ยากเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นอาหารจากภัตตาคารหรูหรืออร่อยจากที่ใดก็ตาม แต่เมื่อต้องมานั่งรับประทานในคุกแล้ว ความอร่อยดูจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง”