ผู้นำตลอดกาลของจีน! ปัญหาและความท้าทาย | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ระบบโลกมีปัญหา และจีนมีคำตอบให้”
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ในวันเวลาที่จีนก้าวขึ้นสู่การเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ภายใต้สถานการณ์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในของจีนย่อมเป็นประเด็นที่จะต้องถูกจับตามองจากเวทีโลก

เพราะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมกระทบกับความเป็นไปของสถานการณ์โลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่โลกมีความผันผวนเช่นในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มของการก้าวสู่สภาวะ “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21” อย่างเห็นได้ชัด

เราทราบกันดีว่า ตัวผู้นำของรัฐมหาอำนาจใหญ่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงทิศทางการเมืองโลกในอนาคต เพราะการเปลี่ยนตัวผู้นำย่อมมีนัยถึงการเปลี่ยนนโยบายในตัวเอง

ดังเช่นที่โลกเคยเห็นถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้ว

ซึ่งการ “สะวิง” ในเชิงนโยบายนี้เป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนตัวผู้นำ

ในกรณีของจีน จึงมีข้อถกเถียงอย่างมากว่าในเทอมที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้น จีนจะปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไรหรือไม่

(AP Photo/Ng Han Guan)

ศูนย์กลางพรรค-ศูนย์กลางอำนาจ

ในการเมืองจีนนั้น การประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อเลือก “คณะกรรมการประจำ” (The Standing Committee) ของคณะกรรมการกลางพรรคเป็นข่าวสำคัญที่สุด เพราะคณะกรรมการนี้คือ “ศูนย์กลางพรรค” หรือมีสถานะเป็น “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” ที่แท้จริงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การประชุมพรรคเพื่อเลือกคณะกรรมการดังกล่าวจึงเป็นข่าวสำคัญที่โลกติดตาม เพราะคณะบุคคลในคณะกรรมการประจำจะเป็นเครื่องบ่งบอกทิศทางของนโยบายจีนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะพอคาดเดาได้ว่าการขยายเวลาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเทอมที่ 3 เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะผิดไปจากที่คาดคะเนกันไว้แต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเขาสามารถกระชับอำนาจภายในพรรคได้อย่างมาก คู่แข่งขันสำคัญในทางการเมืองล้วนถูกขจัดออกไปแล้ว

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อการประชุมพรรคก็จบลงด้วยชัยชนะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ตามที่คาดไว้

เขากลายเป็นผู้นำจีนที่มีอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคของประธานเหมา เจ๋อตุง และกลายเป็น “ผู้นำตลอดชีพ” เช่นที่ประธานเหมาเคยเป็นมาแล้ว

ดังจะเห็นได้ว่าจีนจาก “ยุคประธานเหมา” ในวันวาน กำลังก้าวสู่ “ยุคประธานสี” ในวันนี้…

ถ้าวันวานสังคมจีนต้องศึกษา “คำสอนประธานเหมา” วันนี้สังคมจีนต้องศึกษา “คำชี้แนะประธานสี” ไม่แตกต่างกัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก้าวขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2012 และเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนได้อยู่ในอำนาจมากกว่า 2 เทอม เนื่องจากมีข้อกำหนดเดิมที่เลขาธิการพรรคฯ จะอยู่ในอำนาจได้ไม่เกิน 10 ปี (หรือ 2 เทอม) เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดอำนาจในพรรค อันจะนำไปสู่ “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และการผูกขาดอำนาจจะนำไปสู่ “การปกครองแบบผู้นำคนเดียว”

แต่กติกานี้ต้องยกเลิกไปในปี 2018 เพื่อเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยู่ในอำนาจต่อไปได้

การแก้กติกานี้คือภาพสะท้อนถึงการสร้างฐานอำนาจที่เข้มแข็งของเขาในการเมืองจีน

และการยกเลิกกติกานี้จึงทำให้เขาเป็น “ผู้นำตลอดกาล” ของจีนอย่างแท้จริงในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การเมืองจีนซึ่งเป็น “ระบบพรรคเดียว” กลายเป็นการปกครองแบบ “ระบอบคนเดียว”

อีกทั้งการประชุมพรรคครั้งนี้ยังได้เห็นถึงการแสดงอำนาจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยการพาตัว “อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา” ออกจากการประชุม…

ภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก จึงเสมือนกับการส่งสัญญาณทั้งภายนอกและภายในว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือ “ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว” และไม่อนุญาตให้ใครมาท้าทาย

ดังเช่นที่เขาเคยจัดการกับคู่แข่งขันเพื่อกระชับอำนาจภายในพรรคฯ มาแล้วด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น จนข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการกวาดล้างคู่แข่งทางการเมืองที่ใช้อย่างได้ผล และอาจเป็นข้อกล่าวหาที่ “ถูกใจ” คนในสังคมจีนที่เห็นถึงความฉ้อฉลจากการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นกับผู้นำพรรคในระดับบน แต่พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้

การใช้การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเครื่องมือจึงไม่เพียงช่วยในการจัดการกับคู่แข่งทางการเมือง แต่ยังช่วยสร้างเสียงสนับสนุนจากสังคมด้วย และยังช่วยสร้างภาพให้เขาเป็น “ผู้นำมือสะอาด” ของจีน

แม้สำนักข่าวซินหัวของจีนจะพยายามแถลงว่า ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา สุขภาพไม่ดี และจำเป็นต้องออกไปพักผ่อนก่อนการประชุมจบ

แต่ดูเหมือนคำแถลงเช่นนี้ไม่สามารถจูงใจให้สังคมภายนอกเชื่อได้มากนัก

ผู้ที่สนใจการเมืองจีนล้วนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งภายในพรรค ซึ่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนพยายามที่จะปกปิดด้วยการซ่อนไว้ใต้พรม

อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน ขณะถูกเจ้าหน้าที่นายหนึ่งเข้ามาพาตัวให้ออกไปจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งของจีน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม (รอยเตอร์)

การกระชับอำนาจในพรรค

การพาอดีตผู้นำอาวุโสของพรรคฯ ออกจากการประชุมอย่างที่ไม่ต้องแคร์กับสายตาชาวโลก จึงเป็นการสร้างภาพให้เห็นความเป็น “ผู้นำที่เข้มแข็ง” หรือ “Strong Man” ในการเมืองจีน ที่สามารถจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเด็ดขาด

อีกทั้งยังเป็นสัญญาณถึงกลุ่มต่อต้านเขาภายในรัฐบาลอีกด้วย

หรืออีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มสี จิ้นผิง ยังสามารถควบคุมการยึดอำนาจภายในพรรคฯ และทำให้การโค่นล้มเขาภายในพรรคฯ เป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้สัญญาณของการกระชับอำนาจทั้งภายในพรรคฯ และภายในรัฐบาล ยังเห็นได้จากการแต่งตั้งคณะกรรมการประจำใหม่บางส่วน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ากรรมการใหม่เหล่านี้ล้วนเป็นคนในปีกของสี จิ้นผิง ทั้งสิ้น

และในอีกส่วนคือการเปลี่ยน “นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง” ออกไป เพราะเขามีมุมมองทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไปจากประธานาธิบดี อีกทั้งความเห็นต่างในนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero-Covid Policy)

หลี่ เฉียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขานครเซี่ยงไฮ้ปรบมือ หลังได้รับการแนะนำตัวในฐานะสมาชิกคณะกรรมการกลางถาวรของพรรค เมื่อ 23 ต.ค. (เอเอฟพี)

การเปลี่ยนตัวเช่นนี้จึงทำให้จีนได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ “นายหลี่ เฉียง” ซึ่งเป็นคนในสายของประธานาธิบดี

– ทิศทางนโยบาย :

คณะกรรมการประจำพรรคชุดใหม่ของจีนในเชิงตัวบุคคลทั้งหมดคือคำยืนยันว่านโยบายใหม่ของจีนจะยังคงเดินไปในแนวทางเดิม

หรืออีกนัยหนึ่งคือจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายของจีน และนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” จะยังคงใช้ต่อไป แม้จะมีความเห็นแย้งในสังคมและในหมู่นักลงทุนเช่นไรก็ตาม

ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งภายนอกและภายในยังหวังว่า รัฐบาลจีนจะปรับและ/หรือยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพื่อลดแรงกดดันภายในสังคม และทำให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้

อีกทั้งการจัดการโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจในการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดด้วยระบบกล้องติดตาม รวมถึงการควบคุมการสื่อสารในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

– นโยบายเศรษฐกิจ :

สิ่งเหล่านี้ในอีกด้านจึงเป็นการบ่งบอกถึงการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองที่มากขึ้นของผู้นำจีน และมีนัยว่าเศรษฐกิจจีนจะมีลักษณะของ “การควบคุมโดยรัฐ” มากขึ้นเช่นกัน (คือเป็น state-controlled economy) หรืออาจเรียกในทางทฤษฎีว่าเป็น “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในแบบจีน อันส่งผลให้การควบคุมดูแลเศรษฐกิจภาคเอกชนมีมากขึ้น

ดังจะเห็นได้ถึงสัดส่วนของธุรกิจภาคเอกชนลดลงในโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนยุคปัจจุบัน อันทำให้ภาคเอกชนจากภายนอกที่ต้องการลงทุนในจีนมีความกังวลต่อการควบคุมโดยรัฐ

อีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งสหรัฐกับจีนด้วย

– นโยบายฟื้นฟูชาติ :

นโยบายสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คือ การสร้าง “ยุคทองของจีน” ให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หรือการประกาศนโยบาย “การฟื้นฟูชาติจีนครั้งใหญ่” (The Great Rejuvenation of the Chinese Nation) และถือว่าสิ่งนี้เป็น “ภารกิจดั้งเดิม” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่ได้อำนาจรัฐมาในปี 1949 อันเป็นแนวคิดที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำมาโดยตลอด ทั้งยังสอดรับกับกระแสชาตินิยมภายในจีนเองอีกด้วย

การสร้างกระแสชาตินิยมภายใต้ชุดความคิดแบบ “การฟื้นฟูชาติ” ดูจะไม่แตกต่างจากชุดความคิดแบบสร้าง “อเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ของประธานาธิบดีทรัมป์ ในอีกด้านคือการฟื้นฟูและดำรงบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เป็นผู้นำทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

– นโยบายการทหาร :

นโยบายสำคัญอีกส่วนคือ การสร้างความเข้มแข็งทางทหารของจีน ดังที่เขาเรียกร้องให้มีการ “พัฒนาทางทหารที่เร็วมากขึ้น” (faster military development) เพื่อนำไปสู่การขยายขีดความสามารถทางยุทธศาสตร์ของกองทัพจีนในเวทีโลก ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทำให้นักสังเกตการณ์กังวลกับปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียในอนาคต ดังเช่นที่เห็นจากกรณีการปิดล้อมไต้หวัน และจีนไม่ปฏิเสธต่อการใช้กำลังในการรวมไต้หวัน

ผลของการขยายอำนาจเช่นนี้ย่อมทำให้การแข่งขันทางทหารระหว่างสหรัฐกับจีนในเอเชียมีความเข้มข้นขึ้น และส่งผลกระทบต่อบรรดารัฐเพื่อนบ้านในเอเชีย ที่บางส่วนมองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม

– นโยบายเทคโนโลยี :

รัฐบาลจีนพยายามใช้นโยบายพึ่งพาตนเองและสร้างความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และลดการพึ่งพาตะวันตกและญี่ปุ่นในเรื่องนี้ แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนได้ส่งผลกระทบอย่างมากกับการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน

ซึ่งปัญหาการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจจะเข้มข้นมากขึ้น และอาจทำให้รัฐจีนขยายบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น

ความท้าทายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีทั้งประเด็นภายนอกและภายใน

เช่น ปัญหาสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะในกรณีซินเกียงและฮ่องกง)

ปัญหาการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองภายใน

ปัญหาการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนในยุค “โควิดเป็นศูนย์”

ปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์

ปัญหาการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา

ปัญหาการวางจุดยืนในสงครามยูเครน

และประเด็นสำคัญคือ ปัญหาแรงเสียดทานภายในพรรคคอมมิวนิสต์ รวมทั้งกระแสต่อต้านรัฐบาลในสังคมจีน

การกระชับอำนาจในเทอมที่ 3 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้เขากลายเป็น “ผู้นำตลอดกาล” อย่างแท้จริง

ดังนั้น จึงต้องจับตามองทั้งบทบาทของจีนในเวทีระหว่างประเทศ และมองการกวาดล้างทางการเมืองภายในที่อาจจะเกิดตามมาในอนาคตอีกด้วย!