เส้นทางตำรวจไทย “จากจุดอ่อน-เป็นจุดตาย” | เหยี่ยวถลาลม

ประเทศต้องไม่เป็นเมืองขึ้น ราชวงศ์ต้องคงอยู่…พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “คิงส์มงกุฎ” ที่ฝรั่งนิยมเรียก ทรงเห็นภัยที่คืบคลานมาใกล้บ้านตั้งแต่อังกฤษรบชนะจีน ฝรั่งเศสยึดไซง่อน และกองทัพอหังการกับราชวงศ์ของพม่าล่มสลาย

ทุกทิศอยู่ในวงล้อมของลัทธิล่าอาณานิคมที่แผ่ขยายและทวีความรุนแรง ทักษิณ ประจิม ตกอยู่ในอาณัติอังกฤษ ฝรั่งเศสยึดบูรพา สถานะ “สยาม” เวลานั้นล่อแหลมอย่างยิ่ง หากไม่ปรับปรุงกิจการบ้านเมืองให้ทันสมัย หมาป่าตะวันตกอาจอาศัยความล้าหลังเป็นเหตุแห่งการรุกรานเข้ายึดครอง

ไทยจะไม่มีที่ยืนอย่างทระนงในฐานะอารยประเทศ!

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงนิพนธ์เอาไว้ใน “เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย” ความประโยคหนึ่งถึง “คิงส์มงกุฎ” ว่า

“…หนังสือพิมพ์อังกฤษที่สิงคโปร์ตีพิมพ์ว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่มีความคิดแนวอารยธรรม จะทรงเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ในประเทศให้ดีขึ้นมากมายยิ่ง จะทรงยุติธรรม และแสดงอารยธรรมแก่ชาวต่างประเทศ”

ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่เร่งปฏิรูปทั่วด้านเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

กิจการตำรวจก็เป็น 1 ในความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นั้น

หากแต่บัดนี้ เวลาล่วงเลยมานานนัก เป็นไปได้ว่า ผู้ที่รับราชการตำรวจเองก็อาจจะลืมเลือนไปแล้วก็ได้ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กองโปลิศ” ขึ้น และให้ “กัปตันเอส เบิร์ต เอ็มส์” ชาวอังกฤษ เป็นตำรวจไทยคนแรก และเป็นผู้บังคับการกองโปลิศคนแรก พร้อมว่าจ้างแขกมลายู แขกอินเดีย ลูกน้องเก่าๆ ของกัปตันเอ็มส์ มาทำหน้าที่ลาดตระเวน ตรวจตรา ป้องกันโจรผู้ร้าย ระงับเหตุทะเลาะวิวาทและการประทุษร้ายนั้น

จุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะให้สุจริตชนปลอดภัย ได้รับความยุติธรรม สามารถดำเนินชีวิตและทำมาหากินกันได้อย่างปรกติสุข

กัปตัน เอส. เบิด เอมส์ (หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา) ฉากหลังคือ ภาพแสดงเครื่องแบบตำรวจสมัยกรมกองตระเวนและพลตระเวน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม, 2531)

กิจการตำรวจพัฒนามาอย่างเป็นระบบและตามลำดับ ก้าวผ่านจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ยุคประชาธิปไตย

ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา การเมืองไทยระส่ำไปด้วย “รัฐประหาร” บทบาทของตำรวจหรือที่เรียกกันในสมัยรัชกาลที่ 4 ว่า “ข้าหลวงกองจับ” ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

ชัดเจนมากถ้านับจาก “เผ่า ศรียานนท์” เป็นอธิบดีกรมตำรวจในปี พ.ศ.2494

แม้หน้าฉากจะยังชื่อ “พิทักษ์สันติราษฎร์” หากเบื้องหลังคือ “กองกำลัง” สำหรับพิทักษ์รับใช้ค้ำบัลลังก์ให้ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งแม้แต่ “ตำรวจตงฉิน” ระดับผู้การยุคนั้นก็ยังตกเป็นเหยื่ออธรรม ถูกอัศวินผยองของ “เผ่า ศรียานนท์” ลงมือสังหารอย่างอุกอาจเหี้ยมโหดเพียงเพราะเป็นก้างขวางคอขบวนการค้าฝิ่น

การจัดตั้งหน่วยตำรวจใหม่ๆ ของ “เผ่า” อาทิ ตำรวจรถถัง ตำรวจพลร่ม ตำรวจน้ำ ตำรวจม้า ฯลฯ ยุคนั้นจึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมาย “บริการ-รับใช้ประชาชน” แต่เป็น “กองทัพสีกากี” ที่เทียบเคียง “กองทัพบก” ของ “สฤษดิ์ ธนะรัชต์”

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

พัฒนาการขององค์กรตำรวจไทยจึงจะย่อมเป็นไปตาม “สภาพความเป็นจริงทางการเมือง”

“ตำรวจ” มีความพยายามจะพัฒนาความเป็น “วิชาชีพ” เป็น 1 ในกระบวนการยุติธรรม อยากเล่นบทหลักด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและอำนวยความยุติธรรม

ตำรวจมีความพยายามปรับปรุงการบริหารงานบุคคลโดยหยิบยืมเอารูปแบบวิธีการมาจาก “คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม” หรือ “ก.ต.” แล้วจัดตั้งขึ้นเป็น “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” หรือ “ก.ตร.” ตำรวจพยายามพัฒนาความเป็นวิชาชีพของงานสอบสวน พยายามปั้น “นักสืบมืออาชีพ” ฝึกฝนการอำพราง ซ่อนเร้น สะกดรอย ติดตามรวบรวมพยานหลักฐานสนับสนุนงานสอบสวนเพื่อล้างครหา “ต้นธารที่ขุ่นข้น” พยายามพัฒนางานป้องกันปราบปราม งานชุมชนสัมพันธ์ งานบริการรับแจ้งความ รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจ ฯลฯ

แต่ที่สุดก็พบว่า ตำรวจเป็นได้แค่ “เครื่องมือ” รับใช้ผู้มีอำนาจในแต่ละยุค เนื่องจากความจริงทางการเมืองก็คือ ในยุคประชาธิปไตย ทหารไทยก่อรัฐประหารเฉลี่ย 6 ปีต่อ 1 ครั้ง

ที่ล้าหลังหนักยิ่งขึ้นคือ ตำรวจถูกเอาไปนับเป็น 1 ใน 4 เหล่าทัพ ซึ่งทุกครั้งที่นายทหารจาก “กองทัพบก” เป็นผู้นำรัฐปรถหารผู้นำหน่วยอีก 3 เหล่า “เรือ-อากาศ-ตำรวจ” จะต้องมายืนเรียงหน้าสลอนในฐานะ “ผู้ร่วมก่อการ”

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

ประวัติศาสตร์ของตำรวจจึงลุ่มๆ ดอนๆ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยไทย

จะยศใหญ่ยศสูงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์บางคนบางกลุ่มก็จะมีสถานะเป็นแค่ “เครื่องมือ” สำหรับใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ก่อนการล้อมปราบวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตำรวจบางคนถูกใช้ให้ไปจับพนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คน ฆ่าแล้วแขวนคอ

ในวันล้อมปราบ ปรากฏภาพถ่ายนายตำรวจคนหนึ่งปากคาบบุหรี่ หรี่ตาเล็งปืน ยิงนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ตราบเท่าที่ยังคงวนเวียนกับการทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือจับกุมคนเห็นต่างจากรัฐ ตำรวจไม่อาจบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์ “อำนวยความยุติธรรม”

ตำรวจต้องเป็นร่มเงา ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ร่มเย็น และเป็นที่พึ่งของประชาชน!

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549-รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน กินเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ คณะกรรมการ “ปฏิรูปตำรวจ” หลายชุดถูกตั้งขึ้น กินเวลา กินเงินภาษีราษฎร สุดท้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผู้บังคับบัญชาตำรวจตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจ กองกำกับการ กองบังคับการ กองบัญชาการและผู้บริหารสูงของสำนักงานตำรวจ (จำนวนหนึ่ง) ล้วนแต่ได้เรียนรู้ว่า ต้องเอาตัวให้รอด ดำรงตำแหน่งให้ครบวาระ หรืออยู่ในนาน-เพื่อประโยชน์สูงสุด “ส่วนตน”

หน่วยตำรวจกลายเป็น “ขุมทรัพย์” บางคนขวนขวาย วิ่งเต้น ทุ่มเททรัพย์สินเงินทองซื้อ จึงจะได้ตำแหน่งมา

วันก่อนเป็นโอกาสอันดีที่ “ทีมมติชน” ได้สัมภาษณ์เดี่ยวๆ นายตำรวจที่เรียกได้ว่าเป็น “ตัวแบบที่ดี” ที่มีวิถีโบราณ

“พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร” นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

เมื่อถามถึง “ภาพพจน์” ตำรวจปัจจุบัน ท่านว่า “เมื่อก่อนผมภูมิใจ”

“ทุกวันนี้ผมรู้สึกอาย”!

นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ “เปิดหัวใจ” ระบาย ไม่ได้เอามัน แต่ตำรวจกำลังเสื่อมเข้าขั้นโคม่า หน่วยงานสำหรับบริการดูแลประชาชนมีแค่ 10 กองบัญชาการ ตำรวจพื้นที่เหนื่อย อัตคัดขาดแคลนทุกด้าน

แต่หน่วยสนับสนุนมีอยู่ 20 กองบัญชาการ

พวกที่ “ว่าง” จากงานหลักบางกลุ่มเน้นหนักตั้งทีมออกรีดไถ คนที่เข้าใจคำว่า “แร้งลง” ดีที่สุดก็คือผู้ประกอบการ

ตำรวจหลงทิศผิดทาง เตลิดเปิดเปิงไปไกลมาก!?!!