ENOLA HOLMES 2 ‘เชอร์ล็อครุ่นน้อง’ | นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาคสองของ Enola Holmes ซึ่งมาจากนวนิยายของแนนซี่ สปริงเกอร์ ที่เขียนเรื่องราวการผจญภัยสำหรับวัยรุ่น โดยใช้เรื่องดั้งเดิมที่เขียนโดยเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ซึ่งกลายเป็นตำนานของนักสืบบรรลือโลกที่ใครๆ ก็รู้จักดี

…เชอร์ล็อค โฮล์มส์…

ส่วนอีโนลา โฮล์มส์ คนนี้ไม่เคยมีอยู่ในโลกของเชอร์ล็อคแต่ดั้งเดิม แต่ถูกจินตนาการขึ้นใหม่ให้เป็นน้องสาวคนสุดท้องและลูกสาวคนเดียวของครอบครัว โดยมีพี่ชายคือ ไมครอฟต์ และเชอร์ล็อค

หลังจากที่พ่อเสียชีวิต ยูโดเรีย (เฮเลนา บอนนัม คาร์เตอร์) ผู้เป็นแม่ เลี้ยงและอบรมบ่มนิสัยของลูกสาวให้พึ่งพาตนเองอย่างเป็นเอกเทศ แถมตั้งชื่อลูกโดยเรียงตัวอักษรคำว่า ALONE กลับหัวกลับหาง

แล้วแม่ก็หลบลี้หนีหน้าจากไปด้วยอุดมการณ์ของสตรีนิยมอันล้ำยุคล้ำสมัยของศตวรรษที่ 19

หลังจากภาคแรก ซึ่งปูทางให้อีโนลา (มิลลี บ็อบบี บราวน์) กลายเป็นนักสืบสาววัยรุ่นแก่แดดและเก่งกล้าเกินวัย ผู้ไม่ต้องการเติบโตอยู่ใต้ร่มเงาของพี่ชายผู้โด่งดัง เธอจึงเปิดสำนักงานนักสืบของตัวเอง และนั่งรอให้ลูกค้ามาว่าจ้าง

อ้อ…พูดข้ามช็อตไปหน่อยค่ะ ขอย้อนกลับสักนิด…หนังเปิดเรื่องด้วยการไล่ล่าติดตาม อีโนลาถูกตำรวจหลายคนวิ่งไล่ผ่านถนนในมหานครลอนดอน และไปจนมุมอยู่ในตรอกที่เป็นทางตัน

ก่อนที่ตำรวจจะเข้าประชิดรวบตัวเธอไว้ อีโนลาก็หันขวับมาเผชิญหน้าตรงๆ กับกล้อง หยุดเรื่องราวไว้ก่อน และพูดกับคนดูว่า “สงสัยฉันควรต้องอธิบายสักหน่อยล่ะ”

แล้วก็ย้อนเหตุการณ์กลับไปสู่วันที่เธอเปิดสำนักงานนักสืบของตัวเอง โดยมีผู้คนแวะเวียนเข้ามา แต่ก็ไม่ให้ความไว้วางใจในความเยาว์วัยไร้ประสบการณ์ของนักสืบสาววัยรุ่นคนนี้ วันแล้ววันเล่า จวบจนถึงวันที่เธอต้องตัดสินใจปิดสำนักงาน ปิดกิจการเพราะไม่มีใครไว้ใจว่าจ้างนักสืบวัยรุ่นอย่างเธอเลยนั่นแหละ เธอจึงได้มีลูกค้าคนแรกเป็นเด็กหญิงที่มาขอให้เธอตามหาพี่สาวผู้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย…

วิธีการเล่าเรื่องโดยกดปุ่มหยุดเหตุการณ์ตรงหน้าไว้ก่อน และเปิดโอกาสให้ตัวละครอธิบายนี้ ไม่ผิดอะไรกับกลวิธีการพูดป้อง (aside) หรือการใช้บทรำพึง (soliloquy) ที่นิยมใช้ในละครเวทียุคก่อนๆ

การพูดป้องเป็นขนบนิยมอันเป็นที่เข้าใจกันว่า ตัวละครกำลัง “ขอเวลานอก” เพื่อพูดคุยกันเองหรือพูดกับคนดูโดยที่ตัวละครอื่นๆ ที่อยู่ในที่นั้นไม่ได้ยิน เหมือนเป็นการกดปุ่มหยุดเวลาหยุดเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่เอาไว้ก่อน ครั้นพูดเสร็จก็ค่อยมาเดินเรื่องต่อ

หนังเรื่อง Enola Holmes ใช้กลวิธีนี้บ่อยๆ…และใช้อย่างได้ผลดีเสียด้วย ทำให้เราตามเรื่องไปกับตัวเอก และได้รับรู้ความในใจของตัวละครอย่างน่าเพลิดเพลินเจริญใจและน่าเอ็นดู โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งความประดักประเดิดที่ต้องเปิดเผยความในใจเรื่องการมาดักรอเพื่อได้เห็นหน้าหนุ่มที่อยู่ในดวงใจ

การสืบสวนเรื่องคนหายจากการที่เบสซี่ (เซอรานา ซูลิง บลิส) มาว่าจ้างอีโนลาให้ตามหาตัวพี่สาวที่หายไป นำไปสู่สภาพการณ์ของโรงงานทำไม้ขีดไฟ ซึ่งใช้แรงงานผู้หญิงและเด็กเป็นส่วนใหญ่

และพัวพันอยู่กับคดีปริศนาที่เชอร์ล็อค โฮล์มส์ กำลังพยายามคลี่คลายอย่างปวดเศียรเวียนเกล้าจากโยงใยอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน

สองพี่น้องตระกูลโฮล์มส์จึงได้ช่วยกันสืบช่วยกันคลี่คลาย โดยได้รับความช่วยเหลือจากยูโดเรียผู้เก่งกล้าซึ่งคอยช่วยเหลือลูกอยู่ห่างๆ เพียงเมื่อได้รับการร้องขอ

ตอนแรกก็นึกแปลกใจที่ไมครอฟต์ โฮล์มส์ พี่ชายคนโต หายหน้าไปไม่ได้ปรากฏตัวในภาคสองนี้ แม้จะมีบทบาทไม่น้อยในภาคแรก แต่ภายหลังเห็นข่าวว่าแซม คลัฟลิน ติดภารกิจอื่น จึงไม่สามารถจัดเวลามาร่วมเล่นด้วยได้ในหนังภาคนี้…สมาชิกตระกูลโฮล์มส์จึงขาดหายไปคนหนึ่ง

แต่หนังไม่ได้ลืมผู้ร้ายตัวสำคัญในนิยายสืบสวนของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ หรอกค่ะ มอริอาร์ตีผู้เป็นศัตรูตัวฉกาจที่อยู่เบื้องหลังคดีสำคัญๆ ของเชอร์ล็อค และหลบเร้นเฝ้นกายไปได้ทุกทีนั้น ยังมีบทบาทอยู่ในตอนท้าย แต่ก็มาในแบบเหนือคาดเกินเดาตามเคย

หนังดูจะเทความสำคัญไปที่แก่นเรื่องเกี่ยวกับสตรีนิยมมาก

นอกจากเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่เป็นตัวละครต้นเรื่องแล้ว บทบาทของผู้หญิงก็มีความโดดเด่นเหนือผู้ชายในแทบทุกกรณี

แม้ในตอนท้ายที่เชอร์ล็อคมาชวนอีโนลาไปทำงานร่วมกับเขาที่บ้านเลขที่ 221B ถนนเบเกอร์ อันโด่งดัง โดยเปลี่ยนชื่อสำนักงานเป็น “โฮล์มส์ กับ โฮล์มส์” ซึ่งทำให้อีโนลาตื้นตันในเกียรติยศที่ได้รับ แต่เธอก็ยังตัดสินใจแยกวงอยู่เดี่ยวๆ…ตามที่แม่ตั้งใจวางเข็มชีวิตไว้ให้ จากการตั้งชื่อให้เธอด้วยความหมายของชื่อว่า “ลำพัง” หรือ “โดดเดี่ยว”

เหตุผลของอีโนลาคือ ถ้าร่วมกันทำงานกับเชอร์ล็อค เธอก็จะต้องอยู่ใต้เงาของเขาตลอดไป

จุดสำคัญของความเป็นสตรีนิยมในหนัง คือการผสานเรื่องราวเข้ากับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เมื่อ ค.ศ.1888 ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การประท้วงหยุดงานของกรรมกรหญิงในโรงงานไม้ขีดไฟ” (The Matchgirls’ Strike)

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มสตรีรวมพลังกันเช่นนั้น

แน่นอนว่า นิยายสำหรับวัยรุ่นหญิงย่อมมีพระเอกหล่อเป็นคู่ขวัญของนางเอก ในที่นี้เป็นหนุ่มผู้ร่ำรวย พรั่งพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ก็มองเห็นความอยุติธรรมในสังคม และพยายามนำพาสังคมให้ดีขึ้น

มีฉากสวยงามตระการตาเมื่ออีโนลาจำต้องแต่งตัวสวยเว่อร์ไปสืบหาเงื่อนงำในงานเต้นรำอันอลังการ และต้องขอความช่วยเหลือจากขุนนางหนุ่มให้สอนการเต้นรำบอลรูมให้ด้วยหลักสูตรเร่งรัดจำกัดเวลาจำกัดพื้นที่ในห้องผัดหน้าสุภาพสตรี ซึ่งสมัยนี้จะเรียกง่ายๆ ว่า ห้องน้ำหญิง นั่นแหละ

สรุปว่า เป็นหนังหวือหวาเร้าอารมณ์ ตระการตา พรั่งพร้อมด้วยอารมณ์ขันและไหวพริบ ซึ่งคงยังต้องมีภาคสาม ภาคสี่…ตามต่อมาอีกละค่ะ เนื่องจากนิยายชุดของแนนซี่ สปริงเกอร์ มีทั้งหมดหกเล่ม

โปรดติดตามภาคต่อไป… •

ENOLA HOLMES 2

กำกับการแสดง

Harry Bradbeer

นำแสดง

Millie Bobby Brown

Henry Cavill

Helena Bonham Carter

Louis Partridge

David Thewlis

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์