‘เท่’ | หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘เท่’

 

ชํานาญ สถานภาพเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า วัยกว่า 50

อีกไม่นานจะถึงเวลาเกษียณ อยู่ในชุดเครื่องแบบค่อนข้างมอมแมม เพราะเพิ่งกลับจากเดินลาดตระเวน หน้าเข้ม ผิวคล้ำ ที่แขนข้างขวามีแผลเป็นทางยาว เป็นแผลเก่าที่มองเห็นชัด

เขาขี่มอเตอร์ไซค์ลงจากเขาเพื่อกลับบ้าน แล่นไปตามเส้นทาง ที่หลายปีก่อนเคยเป็นป่า ถึงวันนี้ คือโรงแรมหรู ร้านอาหารนานาชาติ ร้านกาแฟเก๋ๆ

เขาคอแห้ง นึกอยากดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ จอดรถหน้าร้านกาแฟ เดินเข้าไปสั่งเครื่องดื่ม สาวน้อยบาริสต้าเงยหน้ามอง

“โอเลี้ยงแก้วหนึ่งครับ” เขาสั่ง

“ที่นี่ไม่ขายโอเลี้ยงค่ะ ลุงดูร้านหน่อยสิ”

ชำนาญเดินออกจากร้านเก๋ๆ นั่น “ไปหากินตามรถเข็นหน้าบ้านก็ได้วะ” เขาพึมพำกับตัวเอง

ชำนาญนำเรื่องนี้มาเล่าอย่างขำๆ ไม่นึกโกรธอะไร บางคนบอกเขาว่า ไอ้กาแฟดำใส่น้ำผึ้ง ที่เขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษ นั่นมันก็โอเลี้ยงนั่นแหละ

ชำนาญทำให้ผมนึกถึงคำว่า “เท่”

 

หากพูดแบบไม่เข้าข้างเพื่อนๆ ที่เคยร่วมงานในป่า ในความรู้สึกของผม กลุ่มคนที่มีความเท่มากๆ คือคนที่ทำงานอยู่ในป่านี่แหละ

ตั้งแต่บรรดาผู้ศึกษาเล่าเรียนมาทางป่าไม้-สัตว์ป่าโดยตรง หลังเรียนจบ สอบบรรจุได้ก็เข้ามาทำงานในป่า จนถึงเหล่าพิทักษ์ป่า ลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งนักวิจัยทั้งหลาย

ทั้งๆ ที่ถ้าจะว่าไป คนเหล่านี้ หากมองผ่านๆ ไม่มีอะไรสะดุดตา หรืออาจดูเชยๆ เสียด้วยซ้ำ

หากตัดสินกันเฉพาะภายนอก คนเหล่านี้ไม่น่าสนใจหรอก แต่เมื่ออยู่ในป่า เราจะรู้และเห็นว่าพวกเขาเท่จริง

 

ผมรู้จักผู้ชายคนหนึ่งชื่อ ดำ ไม่ได้เป็นพิทักษ์ป่า หรือทำงานในหน่วยพิทักษ์ป่า เขาเชี่ยวชาญพันธุ์ไม้ เป็นหัวหน้าคนงานของหน่วยงานวิจัยพืช ที่ทำงานและปางพักอยู่ในพื้นที่อันขึ้นชื่อว่าเส้นทางไปค่อนข้างทุรกันดาร โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน หล่มลึก โคลนและทางชันลื่นไถล อีกทั้งเส้นทางต้องผ่านดงไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งหากินของช้าง และช้างมักดึงกอไผ่ล้ม ขวางทางเสมอ

ไม่เพียงเชี่ยวชาญพันธุ์ไม้ เขาขึ้นชื่อเรื่องทำกับข้าวเก่ง ตามแบบฉบับของคนกินเหล้า เขาทำอะไรๆ เป็นหลายอย่าง แต่สิ่งที่ทำไม่เป็นคือขับรถ

พนักงานขับรถประจำของที่นี่ เป็นผู้หญิง และเป็นภรรยาของเขา

 

ภรรยาของดำ แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า เพศไม่ได้มีความแตกต่างหรือเป็นข้อจำกัด เธอสามารถขับรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อสภาพเก่าๆ อายุงานร่วม 30 ปี ไปบนเส้นทางโหดๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว

การเดินทางบนเส้นทางป่าช่วงฤดูฝน จะมีสภาพคล้ายๆ กันคือ ต้องมีผู้โดยสารอยู่บนกระบะ รวมกับอุปกรณ์ต่างๆ ถังน้ำแข็ง เสบียง ลังเหล้าขาว จนแน่น

คนบนกระบะมีหน้าที่หลักๆ คือ ตัดฟันไม้ไผ่ และกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ขวางทาง ลงไปขุด ดัน ลากสายวินซ์เวลารถติดหล่ม กว่าจะผ่านมาได้จนถึงเมือง หรือถึงที่พัก คนและ รถมีสภาพมอมแมมไม่ต่างกัน

ดำจากโลกนี้ไปหลายปีแล้ว แต่ผมจำได้ถึงความเท่ของเขา

เสือโคร่ง – นักล่าที่มีสถานภาพบนสุด หลายคนเชื่อว่า นี่คือสัตว์ร้ายอันตรายแม้จะเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมาก กระนั้นก็ตาม การล่า 10 ครั้ง อาจประสบผลเพียงครั้งเดียว ครั้งที่พลาด นั่นไม่มีใครมองเห็น

จริงๆ แล้ว คนทำงานในป่าทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่ในสถานะถูกตัดขาดจากโลกดังเช่นในสมัยก่อนแล้ว หรือเหมือนอยู่ “หลังเขา” สำนักงานในป่า ไม่ว่าจะเป็นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, อุทยานฯ, สถานีวิจัยสัตว์ป่า ระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึง มีพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ รวมทั้งสัญญาณโทรศัพท์

ข่าวสารในเมือง หรือ “ดราม่า” ใดๆ เกิดขึ้นมุมไหนของโลก ก็รับรู้ไปพร้อมๆ กัน

แต่สิ่งที่ต่างออกไป นั่นคือ ในป่าคล้ายจะเป็นอีกโลกหนึ่ง คนที่นี่รับรู้และยอมรับว่าเป็น “โลก” ที่มีชีวิตอื่นๆ อีกมากมายอยู่ร่วมกัน

 

แม้ว่าจะรับรู้ความเป็นไปเรื่องในเมือง แต่เอาเข้าจริง เข้าเมือง ยิ่งถ้าเป็นจังหวัด หรือเมืองหลวงเมื่อไหร่ หลายคนก็ดูเงอะงะ ไปไหนมาไหนไม่ถูก เชื่องช้า

ผมจำครั้งที่เข้าเมืองหลวงกับเพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกันบนภูเขาได้ เขาเหล่านี้ เมื่ออยู่ในป่า ทักษะต่างๆ ที่พวกเขามี เมื่อเทียบกันทำให้ผมเงอะงะ เหมือนทำอะไรไม่ค่อยเป็นเอาเสียเลย บางคนขึ้นต้นไม้คล่องราวกับลิง บางคนพาผมเข้าไปหาช้างใกล้ๆ และรู้จักพืชกินได้ทั้งป่า

เราเข้าเมืองหลวง คนที่ขึ้นต้นไม้คล่องเหมือนลิง เกาะแขนผมแน่น มือเปียกชื้น ขณะเราเดินข้ามถนน

 

ข้อดีประการหนึ่งของการอยู่ในป่า คือ การได้ “เห็น” สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองชัดเจน

เปรียบเสมือนการได้ถอยห่างออกไป ภาพที่เห็นจึงแจ่มชัดขึ้น รับรู้อย่างเข้าใจ

มีความเชื่อมากมาย คนสามารถออกความเห็นตามความเข้าใจทั้งผิดและถูกได้แค่กดปลายนิ้ว

 

หากสาวน้อยบาริสต้าในร้านกาแฟเก๋ๆ ร้านนั้น สังเกตสักนิด จะเห็นแผลเป็นของลุงที่สั่งโอเลี้ยง แผลเกิดจากเสือโคร่งตัวหนึ่งที่เข้าโจมตี แม้จะรอดพ้นคมเขี้ยวมาได้ ชำนาญก็บาดเจ็บสาหัส

ในป่าไม่ได้มีแค่ลำธารใส ผีเสื้อบินร่อน มีผู้ล่า ผู้ถูกล่า รวมทั้งมีคน ที่ทำงานเพื่อปกป้องตัวและแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างเอาชีวิตเข้าแลก

คนเหล่านี้แหละ มีความ “เท่”

เป็นความเท่แบบเดียวกับที่สัตว์ป่ามี ความเท่นี้อยู่ข้างใน และคนหลายคนก็มองไม่เห็น •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ