“มูลีซีโย” | ล้านนาคำเมือง

สตรีชาวเหนือคีบบุหรี่ขี้โย - ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

“มูลีซีโย”

มูลีซีโอยฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “มูลีซีโย”

มูลี คือ บุหรี่

ซีโย หมายถึง เครื่องปรุงของบุหรี่ที่ใช้โรยผสมกับยาเส้นเพื่อลดความฉุนของยาให้อ่อนลง

มูลีซีโย จึงเป็นยาเส้นผสมซีโย มวนในใบตอง

ส่วนประกอบของมูลีมีสองส่วน คือ วัสดุที่ใช้มวน และยาสูบหรือยาเส้น

วัสดุที่ใช้มวนนั้นส่วนหนึ่งได้จากกาบหมาก แต่ส่วนมากใช้ใบตองกล้วยทั้งใบแห้งและใบอ่อน ใบแห้งได้จากต้นโดยตรง ส่วนใบอ่อนต้องผ่านการรีดให้แห้งและเรียบก่อน

ในส่วนของยาเส้นมีทั้ง “ยาขื่น” คือ ยาชนิดฉุน และ “ยาจาง” เป็นยาชนิดจืด ยาบางถิ่นมีชื่อเรียกตามที่มา เช่น “ยาเมืองสอง” คือ ยามาจาก อ.สอง จ.แพร่ “ยาแพล่” เป็นยาจาก จ.แพร่ “ยาช่อแล” มาจาก ต.ช่อแล จ.เชียงใหม่ “ยาเมืองปง” มาจาก อ.ปง จ.พะเยา เป็นต้น ยาสูบหรือยาเส้นจะถูกนำมาปูรายเป็นแถวบนใบตองแล้วมวน และส่วนใหญ่จะโรยซีโยผสมลงไปด้วย

กล่าวถึง “ซีโย” ว่ากันว่ามาจากคำว่า “เซโย” ในภาษาพม่า คนล้านนาออกเสียง “ซีโย” แต่เอาเข้าจริงๆ โดยทั่วไปเรียก “ขี้โย”

 

ซีโย หรือ ขี้โย ทั่วไปใช้เปลือกของฝักมะขามตำให้แหลกจนมีลักษณะคล้ายขี้เลื่อยหยาบ แต่ก็มีบางถิ่นใช้ไม้ข่อยฝานเป็นแว่นแล้วตำให้แหลกลักษณะคล้ายขี้เลื่อยหยาบเช่นกัน จากนั้นนำไปผสมน้ำอ้อยคั่วไฟอ่อนพอมีกลิ่นหอม

การสูบบุหรี่ ในภาษาล้านนาไม่ใช้คำว่า “สูบ” แต่ใช้คำว่า “ดูด” และ “กิน” เป็น “ดูดมูลี” หรือ “กินมูลี” และนอกเหนือจากการดูดหรือกินเป็นปกติ ชาวล้านนายังมีวัฒนธรรมการเสพที่แฝงวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป เช่น

เวลาจะไปถ่ายทุกข์นอกบ้านต้องเสพเพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการอยากขับถ่าย และเวลาขับถ่ายกลิ่นมูลีสามารถกลบกลิ่นของเสียได้

ขณะไปทำงานในท้องนาซึ่งเต็มไปด้วยเหลือบริ้นไร ควันมูลีก็ช่วยขับไล่มิให้มารบกวนได้

การไปไหนมาไหนในยามราตรี ถ้ามีมูลีเป็นเพื่อนทางจะทำให้อุ่นใจเพราะมีแสงไฟวาบจากมูลีเป็นแสงส่องเป็นครั้งคราวไป

ในการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว บ่อยครั้งการขอต่อมูลีกันก็ถือเป็นการนำไปสู่ความคุ้นเคย และเกิดสัมพันธภาพอันดีในเวลาต่อมา

และการเกี้ยวพาราสีในบางครา หนุ่มบางรายจะร่ายคาถาแล้วพ่นควันใส่สาวเจ้า นัยว่าเป็นการใช้คาถาให้เกิดมนต์เสน่ห์ ให้สาวหลงรักตนได้ด้วย

แม่อุ้ยฯดูดมูลีซีโอยฯ แม่อุ๊ยดูดมูลีซีโย แปลว่า คุณยายสูบบุหรี่ขี้โย

นอกจากนี้ เนื่องจากชาวล้านนาโบราณมักเสพสูบมูลีมาแต่อายุยังน้อย รสและขนาดของมูลีมักมีความสัมพันธ์กับวัยไปด้วย

กล่าวคือ มูลีรสจืดมักเป็นมูลีของเด็ก ฉุนขึ้นมาหน่อยเป็นของหนุ่มสาว ฉุนมากขึ้นก็เป็นของผู้สูงวัยขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนขนาดของมูลี ของเด็กจะเล็กแหลม ของหนุ่มสาวก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และยิ่งอายุมากก็เพิ่มเป็นมวนโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

อย่างไรเสีย มูลีซีโยอาจอ่อนกำลังลง คือความนิยมลดลง เพราะมีบุหรี่ประเภท “ของนอก” อาทิ “มูลีก๋าไก่” (บุหรี่ตราไก่) ก้นหวานๆ และ “มูลีตองกี” จากพม่า ตลอดจน “มูลีต๋องขาว” คือบุหรี่มวนด้วยกระดาษสีขาว หรือที่เรียก “มูลีกะแร็ต” ของฝรั่ง ล่าสุด มี

“มูลีติดแอร์” ได้แก่ บุหรี่ก้นกรองที่มีรสเมนทอลให้รสเย็นในคอมากมายหลายยี่ห้อ

กระนั้นก็ยังพบว่าในตลาดมีใบตองมวน ยาเส้น และซีโยจำหน่ายไม่หายห่างไปไหน

นี่ก็แสดงว่าลมหายใจของ “มูลีซีโย” ยังมีอยู่ แม้จะเบาแผ่วไปมากแล้วก็ตาม •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่