สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามไปดูครูเขมร อย่าทะเลาะกันอีกเลย (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทสนทนา ณ ห้องรับรองสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกว่าสองชั่วโมงวันนั้น ท่านณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตให้เกียรติต้อนรับและพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี น่าฟังอย่างยิ่ง จนต้องเก็บสาระมาเล่าต่อ

“เป็นโอกาสดีนะครับ ที่มูลนิธิได้นำเสนองานให้ชุมชนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับรู้ ที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาทั้งสายสามัญ สายอาชีพ ทรงสร้างวิทยาลัยกัมปงชะเตียง จัดการเรียนการสอนรวมกัน ยกระดับขึ้นเป็นสถาบันเทคโนโลยี ยังมีโรงเรียนชั้นแนวหน้า ที่กัมปงธม ติดปราสาทโบราณ โตโบไกกุ๊ก เพิ่งได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก”

“พระราชทานทุนให้นักเรียนกัมพูชาไปเรียนในไทยแถบอีสาน อีกแห่งสถาบันเทคโนโลยีกำปงสปือ วางศิลาฤกษ์ปี 2559 จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว สถาบันร่วมมือกับผู้ประกอบการ ทรงดูแลโรงเรียน มีทีมมาสนับสนุน ติดตาม จ้างครูพิเศษสอนเพิ่มเติม เพิ่มครู สถาบันเหล่านี้ผลิตฝ่ายบริหาร ครู อาจารย์ และนักเรียนแล้วหลายรุ่น”

ท่านทูตเน้น

 

“จากประสบการณ์ผม ตั้งแต่มาเป็นทูตปี 2534 ครั้งแรกถึงครั้งที่สาม กัมพูชาเขาผ่านความยากลำบากมาตลอด ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา ปัญหาเยอะ ค่าตอบแทนครู วัสดุอุปกรณ์ สมัยสงครามโรงเรียนถูกทำลาย ถูกใช้เป็นคอกหมู วันนี้เน้นการสร้างครูให้มีจิตวิญญาณที่จะมาสอนเด็ก”

“สภาพแวดล้อมหลายอย่างทำให้เด็กกัมพูชาต้องการอัพเกรดตัวเอง ทุกโรงเรียนมุ่งเป็นอินเตอร์ มีทุกระบบ อเมริกา ฝรั่งเศส จีน โรงเรียนสอนภาษาจีนใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาต้องการพัฒนาความสามารถทางภาษา”

“ด้านเศรษฐกิจ รายได้หลักมาจาก 1.การ์เมนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอแบรนด์ดังๆ ของโลก 2.ภาคการท่องเที่ยว คนจะเข้าไปทำงานภาคนี้จึงต้องพัฒนาตนเอง ทุกวันตั้งแต่ห้าโมงเย็นถึงสามทุ่ม โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ภาษาอื่นๆ ฮิตมาก เด็กลงเรียนทุกจังหวัด ผมถามเด็กๆ ว่าเรียนที่ไหน คำตอบหลากหลาย เรียนจากที่โน่น ที่นี่ ขณะที่เมื่อ 20 ปีก่อนหาคนพูดภาษาต่างประเทศยากมาก วันนี้เขาเรียนทุกภาษา จีนเยอะก็เรียนจีน ไทยก็มี โดยอังกฤษ ฝรั่งเศสเป็นฐาน”

“ความร่วมมือกับมูลนิธิ ผมคิดว่ามีศักยภาพ สมาคมนักธุรกิจไทยกลุ่มเฟรนด์ออฟไทยแลนด์ สมาคมมิตรภาพ ผู้นำภาคธุรกิจ 1-100 ของกัมพูชาอยู่ในสมาคม ไทย กัมพูชา รากเหง้า วัฒนธรรมเดียวกัน บาลี สันสกฤต อิทธิพลอินเดีย จีน ภาษาไทย เขมร เหมือนกัน ต่างกันที่วรรณยุกต์”

“เขาต้องการสถาปนาความมั่นคงตลอดแนวชายแดน สถาปนาสันติภาพ มีสันติภาพก็มีความมั่นคง มีการพัฒนา VISION สมเด็จฮุน เซน โหยหามากสุด คือสันติภาพ”

“ตั้งแต่ 1867 ฝรั่งเศสควบคุมอยู่เกือบ 90 ปี 1955 ได้เอกราช 1960 เกิดสงคราม 1970 เกิดปฏิวัติภายใน นำโดย นายพลลอน นอล 1975 พนมเปญแตก พลพตคุมอำนาจอยู่ 2 ปี 8 เดือน 21 วัน 6 ล้านคนตายไปครึ่ง อพยพไปชายแดนอีกเป็นล้าน 7 มกราคม 1979 ฮุน เซน ไปขอให้เวียดนามเข้ามาช่วยรบกับพลพต 10 ปีเต็ม 1979-1989 จนมีการลงนามสันติภาพเขมร 4 ฝ่ายที่ฝรั่งเศส พฤศจิกายน 1991 สมเด็จสีหนุเสด็จนิวัติกลับประเทศ 1993 ต่อมามีการเลือกตั้ง”

“ปี 1998 เป็นจุดเริ่มต้นสันติภาพที่แท้จริง เขาถึงโหยหาสันติภาพ เริ่มทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัว ชีวิตดีขึ้น ช่วยกันรักษาสันติภาพ อย่าทะเลาะกันอีกเลย” ท่านทูตเน้นเสียงแน่น

คำพูดสะท้อนให้คิดอะไรบางอย่าง ส่งสัญญาณถึงสถานการณ์บ้านเราหรือไม่ สุดแต่ผู้ฟังแต่ละคนจะคิดกันเอง

 

ก่อนคุยต่อ บรรยากาศยังดำเนินไปด้วยความคึกคัก “กัมพูชาเอาอาวุธมากองรวมกันแล้วเผาหมด ปฏิรูปกองทัพ รัฐสภา สร้างความเข้มแข็งให้ระบบกษัตริย์ 29 กรกฎาคม 2561 จะมีการเลือกตั้งครั้งที่ 6 วันนี้เดินแนวทางเศรษฐกิจ การค้าเสรี

ด้านการศึกษา ครูมีโอกาสได้รับทุนทั่วโลก ต่างประเทศมาช่วยหมดทุกค่าย เข้าง่าย ออกยาก เวลาสอบจบมีมาตรฐาน แต่ก่อนมีปัญหาบ้าง ตอนนี้รัฐมนตรีคนใหม่เข้มงวดมาก บริษัทปูนซิเมนต์ไทยมาทำโครงการให้ทุนการศึกษา SCG Sharing the Dream จังหวัดกัมปอต ให้ทุนนักเรียน ชุมชนรอบๆ โรงงาน

“ปี 2546 เกิดเหตุเผาสถานทูตไทย ผมได้รับคำสั่งให้มาประจำการอีกครั้ง ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับภาคีต่างๆ ดี สันติภาพที่แท้จริงเกิด WIN WIN ทั้งสองฝ่าย ถ้าทำธุรกิจเบียดเบียน เอาหมด ท้องถิ่นก็เจ๊งหมด ทำให้คนไม่พอใจ รู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่โอกาสแข่งขันเขาน้อยกว่า ถึงต้องเปลี่ยนทัศนคติทางการการค้า การลงทุน เคารพซึ่งกันและกัน ไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีธรรมาภิบาล”

“กรณีเขาพระวิหาร ยิงกันจนลูกกระสุนหมด ต้องไปยืมต่างประเทศมายิงกัน มาจับมือกันดีกว่า หากินกันดีกว่า มีปัญหาจัดการไปตามลำดับ ไม่ใช้มาตรการรุนแรง ปัญหาตามแนวชายแดนลดลงไปเยอะ เพราะพบปะระหว่างกันในพื้นที่ สนิทสนมกันมาก เรื่องขัดแย้งพอแล้ว”

“สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยือนต้นปี 2558 เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย กัมพูชา สมเด็จฮุน เซน ไม่เคยไปเยือนเป็นทางการในรอบ 12 ปี ไปเยือนอย่างเป็นทางการ วันนี้ธุรกิจร่วมมือกัน กัมพูชา 700,000 คนไปเที่ยวไทย ไทยมา 300,000 คน การทำให้ดีไม่ยาก การจะรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนต่างหาก”

“โครงการของพระองค์ท่าน ทำให้ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมีเยื่อใยเหลืออยู่ ไม่ใช่ขาดสะบั้นเมื่อเกิดปัญหาไม่เข้าใจกันแล้วหายไปเลย ให้การศึกษา สาธารณสุขดีที่สุดเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ตลอดชีวิต 60-70 ปี อยู่นานกว่าสร้างสะพาน สร้างถนน 30 ปีก็พังหมด สร้างคน ทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรดีกว่า”

“ปัญหาสถานการณ์แรงงานกัมพูชา ตอนนี้เป็นอย่างไรครับ” คำถามหนึ่งจากคณะผู้มาเยือนดังขึ้น

“ไทยนำเข้าแรงงานจากกัมพูชาเป็นอันดับสอง รองจากแรงงานพม่า ตัวเลขที่แท้จริงไม่มีใครทราบ 6-8 แสนคน อีก 4-5 แสนยังไม่จดทะเบียน ภาพรวมส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา บางส่วนนำไปใช้ไม่ค่อยคิดถึงคุณค่าความเป็นมนุษยย์ ต้องแก้ วีซ่าวันละ 1,000 คน แรงงานมีวินัย คุณภาพ ขยันขันแข็ง แรงงานไทยให้ทำโอเวอร์ไทม์ก็ไม่เอาแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเราแก้ได้เร็วโดยการปรึกษาหารือกัน สถานทูตเสนอให้มีที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานมาประจำที่กัมพูชา เรายังจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานอยู่”

ท่านทูตใกล้เกษียณทิ้งท้าย

 

ได้เวลาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนที่ 1 และคนที่ 2 เข้ามาแนะนำตัว ยกมือไหว้สวย

ตามด้วยคณะผู้แทนภาคธุรกิจไทยในกัมพูชาตอบรับคำเชิญมาร่วมวงแลกเปลี่ยนอย่างกระตือรือร้น เป็นใคร สังกัดบริษัทข้ามชาติของไทย บริษัทอะไร ต้องติดตาม

ที่สำคัญ ทัศนะทางการศึกษาของผู้บริหารองค์กรธุรกิจไทย

พูดแล้วสะท้อนทรวง สะเทือนซางแค่ไหน ต้องฟังทีเดียว