เปิดเพื่อยุบ…

หลังจากฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่ออภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งการเสนอแนะและให้คำแนะนำกับรัฐบาล ถึงความบกพร่องของรัฐบาล

เกิดคำถามต่อเนื่องขึ้นมาว่า ช่วงจังหวะที่ฝ่ายค้านรีบชิงซักฟอกเพราะอะไร…จะมียุบสภาเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลหมดวาระหรือไม่?

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ให้เหตุผลว่า หากไม่ยื่นอภิปรายในช่วงนี้ก็อาจไม่มีโอกาสอภิปราย เพราะอาจมีอุบัติเหตุทางการเมืองหลังการประชุมเอเปค เช่น มีการยุบสภาเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 24 ธันวาคม ตามกระแสข่าว

นพ.ชลน่าน ไม่ได้บอกว่า ข่าวยุบสภา 24 ธันวาคมนั้นมาจากไหน แต่ย้ำความเชื่อมั่นว่า น่าจะมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนครบวาระ มั่นใจมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ การยุบสภาจะเกิดขึ้นช่วงที่รัฐบาลได้ประโยชน์มากสุด เป็นจังหวะที่ประชาชนไว้ใจพ่วงมาด้วยโครงการลดแลกแจกแถมต่างๆ จึงต้องรีบซักฟอกรัฐบาล ไม่งั้นจะไม่มีโอกาส

สื่อมวลชนถามถึงสาเหตุการยุบสภา นพ.ชลน่านระบุว่า ให้รอดูหลังวันที่ 24 ธันวาคม จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ส.ส.จะลาออกเพื่อย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 90 วัน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลให้เกิดการยุบสภาก็เป็นได้

นั่นคือที่มาของพาดหัวข่าว ชลน่าน ฟันธง 24 ธ.ค.ยุบสภา รัฐบาลฉวยจังหวะชิงได้เปรียบ

แต่ถามว่าแค่ นพ.ชลน่านเท่านั้นหรือที่เป็นคนจุดประเด็นเรื่องนี้ คำตอบคือไม่ใช่.. องคาพยพซีกตรงข้ามรัฐบาลอีกจำนวนมากก็พูดเรื่องนี้เช่นกัน

ตัวอย่างชัดๆ 6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานรำลึก 46 ปี 6 ตุลา ตามหาอยุติธรรม แกนนำกลุ่มราษฎรก็เพิ่งเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมเลือกการเลือกตั้ง ประกาศให้ชัดเจนและโปร่งใส หลังจากนั้นเรียกร้องให้มีการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ย้อนกลับไปไม่กี่วัน สุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ 2 รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลหมดสภาพในการบริหารประเทศแล้ว ควรจะรีบยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมชี้ว่าการเมืองขณะนี้วุ่นวายมาก ช่วงชิงอำนาจกันหนัก คล้ายสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนั้นอีกแล้ว

นิพิฏฐ์มองว่า 24 ธันวาคม เป็นวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะย้ายพรรคและไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ได้ ไม่งั้นก็สมัคร ส.ส.ไม่ได้ พรรคที่แอบเลี้ยง ส.ส.ไว้ในพรรคอื่น จะให้ ส.ส.ลาออกก่อน 24 ธันวาคม 2565 ไม่งั้นเสียเงินฟรี ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์มีศักดิ์ศรีพอคงไม่ยอมให้ใครทยอยลาออกหนีตาย สุดท้ายคือต้องยุบสภา

นี่แหละเรื่องยุบสภาที่บอกว่ามีการปูพื้นเรื่องกันมาก่อนต่อเนื่อง

มาดูซีกก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ระบุว่าก่อนรัฐบาลครบวาระ ส.ส.หลายคนอาจย้ายพรรคกัน เป็นสมมุติฐานที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการยุบสภา ก่อนที่จะมีการย้ายพรรค หรือการซักฟอกตัวเอง ก่อนที่จะหาสังกัดสู้ศึกในการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะไปถึงขนาดนั้นหรือไม่

ขณะที่ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุชัดว่าการยื่นซักฟอกตามมาตรา 152 เพื่อสกัดไม่ให้ยุบสภาก่อน

“หากจับสถานการณ์ได้จะพบว่าเขากำลังวางแผนไทม์ไลน์แจกเงินให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงโค้งสุดท้าย และมีแผนที่จะยุบสภาในช่วงปีใหม่” ณัฐชาระบุ

จะเห็นว่าทางฝั่งก้าวไกลก็มองประเด็นการยุบสภาคล้ายเพื่อไทย แต่คำถามที่ผุดขึ้นมาต่อจากนั้นคือ การเปิดประชุมสภาเดินหน้าเกมซักฟอกก่อนรัฐบาลจะชิงยุบสภา จะเป็นไปตามการอ่านเกมของฝ่ายค้านจริงแบบนี้จริงหรือ?

ต้องเริ่มจากการไปอ่านปฏิกิริยาของเครือข่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เปิดใจ'อนุชา นาคาศัย' เลขาฯป้ายแดง'พปชร.'

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะ กก.บห.พลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร ยืนยันว่าไม่มี “ผมไม่มีข้อสงสัย หรือข้อระแวงเกี่ยวกับการยุบสภาแม้แต่น้อย” ตามด้วยสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ อีกหนึ่งแกนนำสามมิตร มองว่า บอกว่าสภาเหลือเวลาแค่ 4 เดือน ยังมีกฎหมายค้างอยู่ถ้ายุบสภา ทำกฎหมายไม่เสร็จ จะเสียหายมากกว่า

หรือจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวย้ำกับสื่อมวลชนหลายรอบว่าไม่มียุบสภาแน่ ตามมาด้วยวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงปัญหาความสับสนว่าวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะลาออกได้เพื่อให้ทันกรอบเวลา 90 วันคือวันที่ 24 ธันวาคม ใช่หรือไม่

วิษณุระบุว่า “ไม่มีอะไรสับสนหรอก เอาเป็นว่าเมื่อสภาเปิดแล้ววันนี้ใครจะเริ่มคิดอ่านอย่างไรก็ควรเริ่มคิดได้ตั้งแต่วันนี้ เผื่อสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปได้หลายอย่าง” พร้อมยืนยันว่าหากรัฐบาลอยู่ครบวาระ จะต้องนับเรื่องการย้ายสังกัดพรรคใหม่ ระยะเวลา 90 วันไปจนถึงวันเลือกตั้ง

ขณะที่สมชัย ศรีสุทธิยากร เสริมว่า หากรัฐบาลยุบสภายังมีเวลาย้ายพรรคอีก 30 วัน ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในกรณียุบสภา กกต.สามารถกำหนดจัดเลือกตั้งได้ใน 45-60 วัน เหลือเวลาถมเถให้ย้ายพรรค

แต่มาเหนือกว่าใคร คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปล่อยมุขกลางวงสื่อหลังประชุม ครม. บอกว่าไม่มียุบสภา

“เห็นนายกฯ บอกว่ายุบสภาประมาณวันที่ 31 กุมภาพันธ์ ผมถามนายกฯ ตอนรับประทานอาหารกลางวันว่ายุบสภาเมื่อไหร่ ท่านก็บอกว่า 31 กุมภาพันธ์” อนุทินกล่าวแบบอมยิ้ม พร้อมระบุว่ารัฐบาลจะครบวาระแล้ว ขอทำงานเต็มที่ สโลว์ดาวน์ไม่มีเลย

มีรายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งด้วยว่า ที่จริงมุขนี้ตั้งใจปล่อย เป็นการนัดแนะกันของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับนายอนุทิน โดยนายวราวุธได้หันไปพูดกับนายอนุทินว่า เดี๋ยวเราออกไปสัมภาษณ์เรื่องยุบสภากันดีกว่า ว่าท่านนายกฯ จะยุบสภาในวันที่ 31 กุมภาพันธ์ เพราะถ้าบอกแค่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ มันก็ยังพอจะมีทาง ทำให้นายอนุทินและ พล.อ.ประยุทธ์ต่างหัวเราะชอบใจ

โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ที่หัวเราะตัวโยกเลย

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ในขณะที่พรรคฝ่ายค้านเดินเกมการเมืองในระบบโดยมีเป้าหมายตัดความชอบธรรมทางการเมืองทุกอย่างของรัฐบาลประยุทธ์ วันนี้เพื่อไทยมุ่งเกมสภาและเกมพื้นที่ พรรคก้าวไกลเล่นประเด็นกฎหมายสุราก้าวหน้า

วันเดียวกันนี้เองคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงไฟเขียวผลิตสุราพื้นบ้าน ปาดหน้ากระแสของพรรคก้าวไกลชัดๆ เพราะรัฐบาลประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อกันมาปีที่ 9 เพิ่งจะมาทำคลอดวันที่ร่างกฎหมายนี้ของพรรคก้าวไกลกำลังจะมีการโหวตครั้งสำคัญ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเวลามันมาชนกันพอดี แต่ใครก็มองออกว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองเรื่องการชิงความชอบธรรม/ลดข้อด้อยถูกโจมตีช่วงใกล้เลือกตั้งโดยแท้

คนสำคัญที่สุดที่จะชี้ขาดเรื่องนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงการตอบคำถามสื่อมวลชนมาโดยตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์เรื่องยุบสภา 24 ธันวาคม กับสื่อที่ทำเนียบสั้นๆ ว่า “ต้องไปถามคนปล่อยข่าว” แล้วก็รีบเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันที ไม่ตอบคำถามแม้แต่เรื่องการประชุมเอเปค

ปฏิกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์แบบนี้ก็ไม่ได้ผิดแปลกอะไร การพูดถึงเรื่องยุบสภาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่ครั้งแรก เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี

เอาแค่ในปีนี้ ช่วงต้นปี พล.อ.ประยุทธ์เคยออกมาตอบโต้พรรคเพื่อไทย ที่บอกว่ารัฐบาลอยู่ไม่ถึงประชุมเอเปค ยืนยันว่าไม่คิดยุบสภาเพราะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน แถมเสียงบประมาณจะเลือกตั้งมหาศาล

ช่วงกลางปี ใกล้การตัดสินวาระ 8 ปีนายกฯ ฝ่ายค้านกดดันหนัก พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่าเวลาที่เหลืออยู่ขอทำงานให้ประชาชนเต็มที่ ไม่ได้สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่มีคำว่ายุบสภาอะไรทั้งนั้น

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ดังนั้น หากมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์อนาคตที่จะเกิดขึ้นกับการเมืองไทยในไม่กี่เดือนนี้ จะพบโอกาสเป็นไปได้น้อยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภา

แต่เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ในทางการเมืองปีหน้านั้นไม่มีใครรู้ว่าจะออกทางไหน อาจจะอยู่กับลุงป้อมจะเป็นแคนดิเดตของพรรคประชาประชารัฐต่อ หรือจะไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาตามที่มีข่าว หรือจะอยู่จนครบวาระ ไม่รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกแล้ว หรือจะลากไปให้สุด แล้วค่อยยุบสภาไม่กี่วันก่อนหมดวาระ ก็เป็นได้ เหล่านี้นี่คือปัจจัยที่คาดว่าจะยุบหรือไม่ยุบสภา

ยังไม่นับปัญหาทะเลาะแข่งขันขั้นประกาศสงครามกันของภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ช่วงใกล้เลือกตั้ง

แต่เกมการเมืองในสภา อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่จะให้ยุบสภาง่ายๆ ด้วยเหตุผลช่วงชิงจังหวะได้เปรียบจากนโยบายลดแลกแจกแถม นั่นอาจไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ คนที่ครองอำนาจในการเมืองไทยมา 8 ปีกว่านี้แน่ๆ