วิกฤติศตวรรษที่21 : ขบวนการรากหญ้าและรากหญ้าเทียม

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (40)

ขบวนการรากหญ้าและรากหญ้าเทียม

ขบวนการรากหญ้าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม และเป็นรูปแบบการต่อสู้สำคัญของชาวรากหญ้าทั้งหลาย เนื่องจากมีความหลากหลาย ยืดหยุ่น คงทนและประหยัด

ในช่วงหลังสงครามเย็น ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และจีนเดินหนทางทุนนิยมไปไกล เกิดความหวังกันว่าขบวนการรากหญ้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงโลก

แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากขบวนการรากหญ้ามีจุดอ่อนในตัวเองหลายประการ อีกส่วนหนึ่ง จากที่ชนชั้นบนได้ตีโต้ด้วยปฏิบัติการจิตวิทยาหรือการปั่นหัวโลก รวมทั้งการสร้างรากหญ้าเทียม หรือเข้าไปครอบงำขบวนรากหญ้าจนเกิดความแตกแยกสับสน

ในปัจจุบันพบว่าขบวนการฝ่ายซ้ายก็เงียบงัน และขบวนรากหญ้าก็ไม่ได้คึกคักเช่นในทศวรรษ 1990 และโลกกำลังเอียงขวาในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้และความขัดแย้งระหว่างชาวรากหญ้าและชนชั้นบน ไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากความเหลื่อมล้ำขยายตัว ยังคงมีการปะทะกันทั้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและทางความคิด

โดยมีอนาคตของมนุษย์เป็นเดิมพัน

ธรรมชาติ จุดอ่อน จุดแข็งของขบวนการรากหญ้า

การเคลื่อนไหวของกลุ่มรากหญ้าเป็นไปอย่างหลากหลาย เกิดขึ้นทั่วโลกนับจำนวนพันแห่ง

ทุกวันนี้ก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวที่นั่นที่นี่อย่างสม่ำเสมอ เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่

ได้มีประสบการณ์และบทเรียนจำนวนมาก กระจัดกระจายกันไป จำนวนหนึ่งสูญหายเมื่อการเคลื่อนไหวยุติ

ในตะวันตกมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้สรุปประสบการณ์ และบทเรียนเหล่านี้ไว้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเคลื่อนไหวชาวรากหญ้าได้เรียนรู้ล่วงหน้า สร้างกลุ่มได้ง่ายขึ้น เตรียมรับมือกับปัญหา ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำ และเคลื่อนไหวได้อย่างมีพลัง (ดู citizenshandbook.org เป็นต้น)

ธรรมชาติ จุดอ่อน จุดแข็งของขบวนการชาวรากหญ้าสรุปได้ดังนี้

1) เป็นการเคลื่อนไหวที่มีรากจากท้องถิ่นแบบเป็นไปเอง ในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน องค์กรมีลักษณะเป็นแนวนอน แบบประชาธิปไตย ซึ่งมีด้านที่เป็นจุดแข็ง นั่นคือมีความสะดวกและประหยัด แต่ก็มีจุดอ่อนที่มีขนาดเล็ก มีพลังน้อย เมื่อต่อสู้ได้ผล (หรือไม่ได้ผล) ระดับหนึ่ง ก็มักยุติไป

2) ในยุคอินเตอร์เน็ต การเคลื่อนไหวชาวรากหญ้าสามารถสร้างเป็นเครือข่ายช่วยเหลือกัน จนเป็นถึงระดับโลกได้ โดยอาศัยเผยแพร่และการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นต้น เช่น การต่อสู้ของชนพื้นเมืองที่ต่อต้านการ สร้างท่อส่งน้ำมันดาโกตาในสหรัฐ ที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเครือข่ายชาวรากหญ้าอื่น รวมไปทั้งดาราฮอลลีวู้ด สร้างเป็นกระแสการคัดค้านนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายกลุ่มชาวรากหญ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนี้ เปิดช่องให้กลุ่มผู้ปกครองแทรกซึม ก่อความปั่นป่วนภายใน บิดเบนเป้าหมายการต่อสู้ได้ง่าย จนถึงขั้นถูกปราบปรามเนื่องจากเป็นเป้าใหญ่ และผู้ปกครองเห็นว่าเป็นอันตรายเกินไป

เครือข่ายชาวรากหญ้าที่สามารถสร้างขึ้นจนถึงระดับโลกได้ ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มกรีนพีซ

ในด้านสังคม เช่น สมัชชาสังคมโลก (แต่มีข่าวว่าถูกหว่านซื้อจนหมดพลัง บางคนเห็นว่าเป็นกลุ่มรากหญ้าเทียม)

ในสหรัฐเกิดกลุ่มยึดครองวอลล์สตรีต สามารถก่อการประท้วงกลุ่มทุนการเงินและบรรษัทข้ามชาติได้อย่างครึกโครมในปี 2011 ทั้งส่งผลสะเทือนให้เกิดการเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันในเมืองต่างๆ กว่าพันแห่งทั่วโลก

แต่ก็ถูกกวาดล้างไปในเวลาอันสั้น เหลือเพียงความคิดเรื่องชาวรากหญ้าคือคนกลุ่มร้อยละ 99 ชนชั้นนำมีเพียงร้อยละ 1 และกลุ่มแกนเดิมที่ยังคงทำงานอยู่

3) ต้องทำงานทั้งด้านแนวนอนและแนวตั้งให้สมดุลกันและต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นงานที่ยากไม่น้อย

งานแนวนอนได้แก่ การจัดตั้ง การดูแลรักษากลุ่ม รวมทั้งการสร้างโปรแกรมเพื่อการเคลื่อนไหว งานแนวตั้งได้แก่ การเคลื่อนไหวต่อสู้ เช่น การสร้างข่าว การเคลื่อนไหวเผชิญหน้า และการมียุทธวิธีระดับกว้าง

ซึ่งต้องทำให้เหมาะสม เช่น มีการประชุมพบปะน้อยไปทำให้ความสัมพันธ์ในการทำงานไม่เหนียวแน่น ประชุมมากไปและมีการเคลื่อนไหวน้อยไป มีการตัดสินมากไปแต่มีการสร้างสิ่งใหม่น้อยไป เคลื่อนไหวใหญ่เกินฐานทรัพยากร มีคนมากเกินไป หรือมีคนไม่ดีเข้ามาอยู่มาก เป็นต้น

4) องค์กรชาวรากหญ้าปฏิบัติการได้ผลในการทำให้รัฐบาลต้องสนใจท้องถิ่นนั้นๆ มากขึ้น หรือถ้าหากรวมเป็นเครือข่ายใหญ่ก็บีบให้รัฐบาลต้องสนใจในปัญหานั้นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมระดับชาติอื่นๆ แต่มันไม่ใช่เครื่องมือในการยึดอำนาจรัฐ

ในขบวนชาวรากหญ้าเกิดมีแนวทางสองขั้วในการต่อสู้

แนวทางหนึ่ง เป็นของกลุ่มที่เริ่มปฏิบัติการยึดครองวอลล์สตรีต เผยแพร่บทความว่า การประท้วงหยุดยั้งทรัมป์ไม่ได้ ต้องยกระดับสู่การเป็นพรรคการเมือง ชี้ว่า “การจบลงของการประท้วง คือการกระจายการไร้ประสิทธิผลของการประท้วง ซึ่งเหมือนการแสดงทางพิธีกรรมของเด็กมากกว่าที่จะเป็นการท้าทายอย่างเป็นผู้ใหญ่ต่อสถานะเดิม”

(ดูบทความชื่อ Protests won”t stop Trump. We need a movement that transforms into a party. ใน occupywallstreet.org 02.02.2017)

อีกแนวทางหนึ่ง เป็นของกลุ่มเปลี่ยนผ่านซึ่งมีบางข้อเสนอว่า ควรเข้าใจการปฏิวัติใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือการปฏิวัติทางการเมืองเป็นการเปลี่ยนผ่าน นั่นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อย่างถึงรากและใช้เวลานาน ชี้ว่าระบบสังคมในปัจจุบันไม่ยั่งยืน ต้องการการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการเคลื่อนไหวระดับเล็กๆ ของผู้คนที่สร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่เหนียวแน่นขึ้น ที่โน่นที่นี้ เป็นระบบใหม่ในตัวเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น

(ดูบทความของ Bart Grugeon Plana ชื่อ Want to Change the System? “Become the System” ใน shareable.net 04.10.2017)

การปั่นหัวโลกและสร้างรากหญ้าเทียม

ทางฝ่ายชนชั้นผู้ปกครองงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์ ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบต่อเนื่องไปทั่วโลกไม่แพ้ชาวรากหญ้า ในบางด้านมากยิ่งกว่า เช่น ในการใช้เงิน อำนาจ และความยอกย้อน มีการสร้างองค์กรบังหน้า การสร้างกลุ่มรากหญ้าเทียม การสร้างสำนักคิด การคุกคาม ไปจนถึงการนำเอาข้อมูล ทัศนคติและค่านิยมของตนไปบรรจุไว้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดความระแวงสงสัยในการเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้า เป็นต้น

มีนักวิชาการคนหนึ่งได้แก่ แชรอน เบเดอร์ (เกิด 1957) ศาสตราจารย์หญิงแห่งออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการเมือง ได้เขียนถึงการเคลื่อนไหวของผู้ปกครองที่สำคัญ คือ บรรษัทข้ามชาติที่ได้โจมตีการเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้าในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด

หนังสือเล่มที่มีชื่อได้แก่ “ปั่นหัวโลก” (Global Spin : The Corporate Assault on Environmentalism ตีพิมพ์ครั้งแรก 1997 ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง 2002)

แชรอน เบเดอร์ ได้ชี้ว่า นับแต่ทศวรรษ 1980 ที่มีการเผยแพร่ความคิดเสรีนิยมใหม่และฉันทามติวอชิงตัน ก่อเป็นกระบวนโลกาภิวัตน์ กลุ่มธุรกิจทั่วโลกได้สร้างพันธมิตรกันอย่างกว้างขวาง

“บรรษัทข้ามชาติได้เริ่มปฏิบัติเหมือนเป็นชนชั้นในตัวมันเอง มีอุดมการณ์ร่วมกัน ยิ่งกว่าที่จะแข่งขันระหว่างบริษัทที่ทำธุรกิจเดียวกัน… และดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน …ชนชั้นบรรษัทได้พัฒนาเป็นชนชั้นนายทุนข้ามชาติ”

และว่า “พันธมิตรทางธุรกิจเป็นเครือข่ายที่แน่นแฟ้นและสัมพันธ์กันใกล้ชิดจากการเป็นบรรษัทสมาชิก ความหลากหลายอย่างมากของพันธมิตรธุรกิจและการซ้อนเหลื่อมของ (การเป็นเจ้าของ) การเป็นสมาชิกและการนำ ทำให้บรรษัทเหล่านี้เพิ่มพูนอำนาจและอิทธิพลของตนได้เป็นทวีคูณ…

บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้สร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ และเครือข่ายทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ก่อรูปเป็นทุนนิยมแบบใหม่ที่เรียกว่า “ทุนนิยมพันธมิตร”” (ดูบทความ ของ Sharon Beder ชื่อ Globalization : Before and After the Crisis ใน herinst.org, 2014)

เบเดอร์ชี้ว่ากลุ่มบรรษัทได้เคลื่อนไหวเพื่อชักใยประชามติ ค่านิยมของชุมชนและส่งอิทธิพลต่อรัฐสภาและรัฐบาล เพื่อสร้างกฎระเบียบที่เป็นผลดีต่อทางธุรกิจของกลุ่มตน โดยผ่านบริษัทประชาสัมพันธ์ บริษัทที่ให้บริการวิ่งเต้นการโฆษณาและเข้าควบคุมสื่อมวลชน

มีการตั้งองค์กรบังหน้าเพื่อทำให้เหล่าบรรษัทสามารถเข้าร่วมการโต้เถียงทางสาธารณะ และการรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาลภายใต้การอ้างความกังวลของชุมชน ไปจนถึงการวิ่งเต้นให้มีการออกระเบียบและการชักใยประชามติ การสร้างองค์กรบังหน้ามีการเลือกชื่อเพื่อสร้างการยอมรับ เช่น “สภาเพื่อการแก้ปัญหาของเสีย” ตั้งอยู่ใน “สมาคมบริษัทอุตสาหกรรมพลาสติก”

ส่วนการสร้างรากหญ้าเทียม เป็นโปรแกรมสร้างการสนับสนุนจากสาธารณชนแบบฉับพลันเพื่อสนับสนุน ทัศนะ หรือท่าทีหนึ่งๆ โดยการจ้างวาน การลวงให้เข้าใจผิดและอื่นๆ ซึ่งทำได้ง่ายขึ้นมากโดยเทคโนโลยีปัจจุบัน

ในด้านการสนับสนุนสำนักคิดปีกขวา ตัวอย่างเช่น “มูลนิธิเฮอริเทจ” และ “สถาบันคาโต” มีจุดประสงค์หลักในการก่อความแคลงใจในความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อน การสูญหายของโอโซน และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เป็นการสร้าง “ความเป็นอัมพาตโดยการวิเคราะห์”

กล่าวโดยรวม การปั่นหัวโลกและการสร้างรากหญ้าเทียมมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริโภคฟุ่มเฟือยและการทำลายสิ่งแวดล้อม (บทความของ Sharon Beder ชื่อ Public Relations” Role in Manufacturing Artificial Grass Roots Coalitions ใน Public Relations Quarterly, ฤดูร้อน 1998 และบทปริทัศน์หนังสือของเธอ ชื่อ “ปั่นหัวโลก” ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองปี 2002 โดย Michael M. Gunter, Jr. ใน herinst.org)

เบเดอร์มีความเห็นว่า การปั่นหัวโลกและการสร้างรากหญ้าเทียมของบรรษัท (ด้วยการร่วมมือของรัฐ) นำมาซึ่งความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย

In this Sunday March 21, 2010 photo, Robinson’s Place, a huge shopping mall in Manila, Philippines is shown. The Philippines is known for many things: beautiful beaches, overseas workers and the multitude of shoes owned by former First Lady Imelda Marcos but less known to the west is that the archipelago is a shoppers’ dream, the home of three of the world’s 10 largest malls. (AP Photo/Bullit Marquez)

ขบวนการรากหญ้าเทียม

กรณีทีพาร์ตีและอื่นๆ

มีนักหนังสือพิมพ์และนักเคลื่อนไหวบางคนชี้ให้เห็นว่า การสร้างขบวนการรากหญ้าเทียมของชนชั้นนำ มีความละเมียดละไมอย่างยิ่งในด้านการเมือง

ยกตัวอย่างกรณีทีพาร์ตีที่กล่าวกันว่าเป็นองค์กรรากหญ้าปลอมใหญ่ที่สุดในสหรัฐ (ก่อตั้งในปี 2009)

สร้างภาพเหมือนเป็นขบวนการชาวรากหญ้าที่เกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง แต่แท้จริงก่อตั้งและให้ทุนสนับสนุนโดยกลุ่มผลประโยชน์ชนชั้นนำ

ในกรณีนี้ที่สำคัญได้แก่ พี่น้องตระกูลคอช มหาเศรษฐีอันดับต้นของสหรัฐ โดยผ่านกลุ่ม “อเมริกันเพื่อความไพบูลย์” (AFP)

สมาชิกที่เคลื่อนไหวในขบวนทีพาร์ตีเกือบทั้งหมด เป็นผู้กระตือรือร้นและคิดว่าตนกำลังต่อสู้กับอำนาจชนชั้นนำ

แต่ในทางเป็นจริงขบวนการนี้ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการบริหารงานของประธานาธิบดีโอบามา โดยเฉพาะนโยบายประกันสุขภาพที่อนุเคราะห์คนยากจน

กรณีดังกล่าวบ่งชี้ว่า มหาเศรษฐีและบรรษัทข้ามชาติได้เข้าครอบงำกระบวนการทางการเมืองในทุกแห่ง (ดูบทความของ George Monbiot ชื่อ The Tea Party movement : deluded and inspired by billionaires ใน theguardian.com 25.10.2010)

ในสหรัฐยังมีหน่วยงานรัฐด้านข่าวกรอง-ความมั่นคง มีซีไอเอ เป็นต้น มีปฏิบัติการสร้างข่าวปลอม ยกธงปลอม ตั้งองค์กรบังหน้าทั้งในรูปเอ็นจีโอและบริษัท ปลุกระดมมวลชน ก่อ “การปฏิวัติสี” เปลี่ยนระบบปกครอง นับสิบประเทศเป็นที่เอิกเกริก ปฏิบัติการในการบั่นทอนพลังรากหญ้าทั้งจากบรรษัทและหน่วยรัฐดังกล่าว ทำให้ชาวรากหญ้าแตกกระจาย เคลื่อนไหวได้บ้างในพื้นที่เล็กๆ เฉพาะเรื่อง ขาดพลังในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบการบริหารการปกครองในระดับสูง ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายตัวและเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

ฉบับหน้าเป็นตอนจบว่าด้วยการเล่นเกมที่ทุกฝ่ายแพ้?