รื้อบทบาทบีโอไอ พลิกโฉม ศก.ไทย วัดฝีมือ ‘นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’ | บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

รื้อบทบาทบีโอไอ

พลิกโฉม ศก.ไทย

วัดฝีมือ ‘นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์’

 

หลัง “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการบีโอไอ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สปอตไลต์จากทั่วทุกสารทิศต่างจับจ้องในฝีมือของผู้บริหารวัยเพียง 48 ปีรายนี้

ล่าสุดวันเปิดตัว ประกาศเดินหน้า ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ทันที เป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

เศรษฐกิจใหม่ 3 ด้าน ประกอบด้วย

1. Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์

2. Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง

และ 3. Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค 5 ด้าน ได้แก่

1. Tech Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

2. BCG Hub เป็นศูนย์กลางการลงทุนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

3. Talent Hub เป็นศูนย์รวมผู้มีศักยภาพจากทั่วโลก

4. Logistics & Business Hub เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ

5. Creative Hub เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

พร้อมกำหนด 7 หมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ประกอบด้วย

1. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของซัพพลายเชน

2. เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability

3. ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค

4. ส่งเสริมเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก

5. ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง

6. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

และ 7. ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

 

ขณะเดียวกัน บีโอไอเองยังเดินหน้าปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรครั้งสำคัญด้วย โดยจากเดิมเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter) มาสู่การให้น้ำหนักกับการเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector) มากขึ้น

นอกจากนี้ บีโอไอยังเดินหน้ารับฟังความเห็นจากองค์กรภาคเอกชน ขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมเอสเอ็มอี ขับเคลื่อนลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหารือกับหอการค้าไทยแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา และวันที่ 25 พฤศจิกายน จะหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต่อไป

สำหรับแผนชักจูงการลงทุนปีงบประมาณ 2566 พบว่า บีโอไอวางแผนจัดกิจกรรมเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 200 ครั้ง ทั้งการสัมมนารายอุตสาหกรรม รายประเทศ และสัมมนากลุ่มองค์กรที่มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุน อาทิ ธนาคาร บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานพันธมิตร การจัดประชุมโต๊ะกลมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เดินสายพบปะผู้บริหารเป็นรายบริษัท ทั้งโดยส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 16 แห่ง

โดยการจัดกิจกรรมดึงดูดการลงทุนในปี 2566 จะโฟกัสมากขึ้น และใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรมากขึ้นเพราะงบประมาณมีจำกัด การใช้งบประมาณต้องคุ้มค่า

โดยนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายหลักๆ มีทั้งภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย นอกจากนี้ก็มีสหรัฐอเมริกา และประเทศหลักๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เป็นต้น

 

ในแง่อุตสาหกรรม บีโอไอจะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และชิ้นส่วนสำคัญ, อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์อีวี, กลุ่มบีซีจี โดยเฉพาะไบโอเทคและวัสดุชีวภาพ, ดิจิทัล, เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ รวมทั้งการเชิญชวนให้บริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย โดยบีโอไอจะเน้นดึงนักลงทุนรายสำคัญที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นเหมือนแม่เหล็กในการดึงเครือข่ายธุรกิจตามมาอีกในอนาคต

นอกเหนือจากนักลงทุนต่างชาติ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง และมีขีดความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นกองทัพผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และกลุ่มสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนหนุ่มสาวที่มีพลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตัวชี้วัดความสนใจของไทย พบว่า ช่วง 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม-กันยายน2565) มีคำขอ 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% แต่มูลค่า 4.39 แสนล้านบาท ลดลง 14% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นกว่า 1.5 แสนล้านบาท ทั้งปีบีโอไอว่าจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท จากเดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 แสนล้านบาท

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีน รองลงมาคือไต้หวัน และญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อีกตัวเลขที่น่าสนใจเพราะสะท้อนภาพลงทุนจริงในไทย คือ การออกบัตรส่งเสริม พบว่า ช่วง 9 เดือนมีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% มูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น โดยปีนี้ตัวเลขลงทุนจริงคาดว่าจะถึง 500,000 ล้านบาท

“ตัวเลขที่เติบโตเนื่องจากโควิดคลี่คลาย กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมา ผู้คนออกมาใช้ชีวิต เกิดดีมานด์ นักลงทุนเห็นโอกาสจึงตัดสินใจตั้งโรงงานเร็วขึ้นใช้เวลาเพียง 1 ปี จากปกติ 2-3 ปีตามอายุบัตรส่งเสริม อุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์” เลขาฯ นฤตม์ทิ้งท้าย

ทั้งยุทธศาสตร์ ทั้งตัวเลขลงทุน ฟังแล้วสวยหรู รอ “เลขาฯ นฤตม์” โชว์ฝีมือให้เกิดขึ้นจริง?