กล้วยหอมญี่ปุ่น(バナナกับความจริงอันขมขื่น | สุภา ปัทมานันท์

มีข้อมูลของสมาคมผู้นำเข้ากล้วยหอมของญี่ปุ่น(日本バナナ輸入組合)เดือนกรกฎาคม 2022 ว่าในบรรดาผลไม้ทั้งหลาย คนญี่ปุ่นบริโภคกล้วยหอม(バナナ)มากเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันมา 18 ปีตั้งแต่ปี 2004 กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย และที่สำคัญคือ ราคาไม่แพง

กล้วยหอมที่บริโภคภายในประเทศญี่ปุ่น เป็นกล้วยที่นำเข้าเกือบทั้งหมด ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วยหอมปีละประมาณ 1 ล้านตัน ประมาณ 80% นำเข้าจากฟิลิปปินส์ หนึ่งในบริษัทผู้นำเข้าใหญ่ คือ โดล(Dole) เป็นกล้วยหอมที่ปลูกที่ไร่กล้วยของบริษัทในประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทต้องใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการสุกงอมของกล้วยหอมเพื่อให้ได้กล้วยหอมที่มีรสชาติดีที่สุดเมื่อส่งถึงญี่ปุ่น แต่กล้วยหอมก็คือ กล้วยหอมที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมมันได้ 100%

กว่าจะถึงมือผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ซื้อกล้วยหอมที่มีขนาด ลักษณะ สีสันสวยงาม สุกพอดีอย่างน่ากิน จากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อต่าง ๆได้นั้น กระบวนการปลูกและขั้นตอนต่าง ๆ ระหว่างทางขณะอยู่ที่ฟิลิปปินส์ จนถึงก่อนส่งออกมายังญี่ปุ่น บริษัทต้องทิ้งกล้วยหอมที่ไม่ตรงตามลักษณะที่กำหนดเป็นจำนวนมากมายทีเดียว

ศาสตราจารย์ มาซาโกะ อิชิอิ(石井正子)ผู้เขียนหนังสือ “กล้วยหอมแสนหวานกับความจริงแสนขม”(甘いバナナの苦い現実)เป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นภายในประเทศไม่เคยรู้มาก่อนถึงความยากลำบากของชาวสวน ชาวไร่ผู้ปลูกกล้วยในต่างประเทศและทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ไปเลย กล้วยหอมที่มีโอกาสถูกนำมาวางเรียงอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างสวยงาม ได้ขนาดกำลังดี เปลือกกล้วยสีเหลืองละมุนตา ไม่มีตำหนิ ริ้วรอยดำแม้สักเล็กน้อย และราคาถูกกว่าผลไม้อื่นๆ ของญี่ปุ่นนั้น ถูกคัดออกนำไปทิ้งจำนวนมากไปก่อนแล้ว

เหตุผลก็คือ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นยึดติดอยู่กับลักษณะ ความสวยงาม ภายนอกของอาหารมากเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับคนชาติอื่น ๆ โดยตัดสินรสชาติอาหารจากลักษณะภายนอก “ไม่สวย แปลว่า ไม่อร่อย” ผัก ผลไม้ที่นำมาวางขายจึงต้องคัดเลือกทั้งขนาด รูปร่าง สีสัน ความสุกพอดีกิน และที่สำคัญต้องไม่มีตำหนิ รอยช้ำแม้เพียงเล็กน้อย หากพบรอยจุดดำช้ำบนเปลือกกล้วย หรือกล้วยเริ่มสุกจนเปลือกมีสีเหลืองเข้มขึ้น จะถูกนำไปทิ้งก่อนนำมาวางบนชั้น ทั้ง ๆ ที่เมื่อปอกเปลือกออกแล้ว เนื้อในก็ยังคงมีรสชาติที่อร่อย

มีข้อมูลว่าเฉพาะที่บริษัทโดล แห่งเดียวต้องทิ้งกล้วยหอมที่ไม่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ปีละประมาณ 1000 ตันทีเดียว น่าตกใจไม่น้อย และกลายเป็น Food loss(フードロース)น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อคนไม่กิน ปริมาณกว่า 90% ของกล้วยหอมที่ไม่สวยงามเหล่านี้ จึงถูกนำไปบริจาคให้สวนสัตว์ สัตว์ต่างๆ จึงได้กินอาหารอันโอชะและมีคุณค่าที่มนุษย์เมิน ส่วนที่เหลือก็มอบให้ร้านขายน้ำผลไม้ ร้านทำไอศกรีม เป็นต้น

จากเหตุผลเหล่านี้ จึงเริ่มมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคไม่ยึดติดกับภาพความสวยงาม น่ากิน ภายนอกจนเกินไป แต่ให้คำนึงถึงคุณค่า และกระบวนการผลิต รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

ที่ใจกลางกรุงโตเกียว แถวถนนโอโมเตะซันโด(表参道)มีร้านน้ำปั่นกล้วยหอม ตกแต่งร้านสวยงามสไตล์ถูกใจวัยรุ่น ทำเมนูเครื่องดื่มกล้วยหอมปั่นต่าง ๆ มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย ที่น่าสังเกตคือ โลโก้ข้างถ้วยพลาสติก เขียนภาษาอังกฤษว่า “Mottainai Banana”(もったいないバナナ)แปลว่า “กล้วยหอมที่น่าเสียดาย” เจ้าของร้านหนุ่มบอกว่า กล้วยหอมทั้งหมดเป็นกล้วยหอมที่จะต้องถูกนำไปทิ้งเพราะไม่ได้ลักษณะตามเกณฑ์ที่จะนำไปวางขาย เป็นกล้วยหอมสุกงอม เปลือกนอกเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยจุดดำ หรือ ที่เรียกว่า sugar spot ซึ่งจะเพิ่มความหวาน หอม แต่ดูไม่น่ากินเอาเสียเลย ทั้ง ๆที่เมื่อปอกเปลือกแล้วกลับได้รสชาติหวานอีกด้วย กล้วยเหล่านี้ได้รับจากบริษัทโดลนั่นเอง

ขณะที่คนญี่ปุ่นต้องเผชิญกับราคาสินค้า วัตถุดิบอาหารในชีวิตประจำวันแพงขึ้น และบางอย่างขาดตลาด ค่าเงินเยนอ่อน ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ค่าแรงไม่เพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระที่แต่ละครัวเรือนต้องแบกรับ จากข้อมูลสถาบันวิจัยญี่ปุ่น(日本総合研究所)ณ 29 กันยายน ปีนี้ ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 35,000เยน และตัวเลขข้อมูลเมืองเกียวโต ปี 2019 คาดว่าอาหารที่แต่ละครัวเรือนทิ้งไปมีมูลค่าถึง 56,000เยน หากทุกครัวเรือนสามารถลดการสูญเสียอาหารได้ประมาณ 60% ก็จะช่วยลดรายจ่ายได้

หลังจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติราคาน้ำมัน Oil shock ปี 1973 ทำให้ทุกคนตื่นตัวกับการประหยัดพลังงาน พัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนให้มีคุณภาพดีขึ้น สามารถประหยัดพลังงานได้ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น มาถึงปัจจุบันที่ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น จำเป็นต้องตื่นตัวเรื่องการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ให้จริงจังขึ้น

นอกจากจะรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นเลิกมีอคติกับรูปลักษณ์ภายนอกของอาหารแล้ว ยังพยายามให้ใช้ประโยชน์จากพืชทุกส่วนให้มากที่สุด กรณีของกล้วยหอม ให้เปลี่ยนทัศนคติเป็น “กล้วยหอมไม่สวย ไม่ใช่ ไม่อร่อย” ถ้ามีกล้วยหอมเหลือกินก็นำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่น ทำเค้ก ไอศกรีม สมูทตี้ เป็นต้น

ยังมีส่วนอื่นของต้นกล้วยที่ใช้ประโยชน์ได้ คือ เส้นใยของต้นกล้วย บริษัทญี่ปุ่นได้คิดค้นพัฒนาผลิตเป็นกระดาษจากกล้วย มีความบางกว่ากระดาษทั่วไปเล็กน้อย เส้นใยกล้วยบนกระดาษมองเห็นเป็นลวดลายธรรมชาติ นำไปใช้ทำนามบัตร ประกาศนียบัตร ต่างๆ ได้อย่างสวยงาม และได้รับการยอมรับว่าเป็น Climate Positive ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ได้รับโลโก้ขององค์กรแฟร์เทรดโลก (World Fair Trade Organization -WFTO)

เปลือกกล้วยหอมยังมีประโยชน์ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้อีก คือ นำเปลือกกล้วยหอมไปผัดรวมกับเนื้ออกไก่ อ๊อกซิเจนจากเปลือกกล้วยหอมที่โดนความร้อนจะทำให้เนื้อไก่นุ่ม ฉ่ำ น่ากินขึ้น

เปลือกกล้วยหอมด้านในยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ยับยั้งแบคทีเรีย แก้อาการคันจากแมลงกัดต่อย มีสารแอสตริงเจ้นท์ (Astringent) มีคุณสมบัติสมานผิว แก้ผดผื่นคันได้

เปลือกกล้วยหอม 1 ส่วนต่อน้ำ 5 ส่วน ทิ้งไว้ในถังหลายวันจนน้ำมีสีน้ำตาล โปแตสเซียมและสารอาหารในเปลือกกล้วยหอมจะซึมไปตามน้ำเมื่อนำไปรดน้ำต้นไม้ พืชผักสวนครัวให้งอกงามดี หรือหมักเปลือกกล้วยหอมเป็นปุ๋ยก็ได้

สุดท้าย คือ นำเปลือกกล้วยหอมด้านในไปขัดรองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง โซฟาหนัง แล้วเช็ดให้สะอาด เครื่องหนังจะเป็นมันวาวสวยงามทีเดียว

กล้วยหอมญี่ปุ่น(バナナ)ช่างน่าสงสารนัก…