วงค์ ตาวัน : ว่าแต่เขา…

วงค์ ตาวัน

จากนี้ไป เชื่อว่าประชาชนคนไทยทั้งมวล คงจะได้ร่วมกันแสดงให้ประจักษ์แจ้งว่า หลังจากร่วมกันน้อมส่งเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ จะยังคงจงรักภักดีและอาลัยในพระองค์ไปตลอดกาล ด้วยการน้อมนำคำสอนของพระองค์ ที่มีมากมายและเปี่ยมล้นด้วยคุณค่า นำมาเป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิต การทำหน้าที่การงาน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างรักสามัคคี และมีสติเหตุผล

ความพร้อมเพรียงรวมใจมีเป็นหนึ่งเดียวเพื่อถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันสวรรคต 13 ตุลาคม 2559 จนถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 26 ตุลาคม

“”บรรยากาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนั้น จะดำรงอยู่ในสังคมไทยสืบไป””

ในระหว่างนี้ มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ซึ่งรัฐบาลและหน่วยราชการทุกฝ่าย จะต้องมาเร่งกันช่วยแก้ไข ไม่พ้นปัญหาน้ำท่วมหนักหน่วง

โดยมีพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบหนัก คือ แนวการระบายน้ำออกจากเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นหลายจังหวัดในภาคเหนือ แผ่กว้างในพื้นที่ภาคอีสาน

และที่จมหนักมา 4-5 เดือนแล้ว ก็คือ พื้นที่จังหวัดภาคกลาง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี มาจนถึงนนทบุรี ปทุมธานี

“จ่อรอบ กทม.”

ทำให้ชาวเมืองหลวงระทึกขวัญไปตามๆ กัน เพราะภาพหลอนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ทำเอา กทม. จมน้ำอย่างหนักหน่วงยาวนาน ยังสร้างความหวาดผวาไม่หาย

แต่ความระทึกของคนกรุง ก็ยังไม่ทุกข์หนักเท่ากับคนในหลายจังหวัดที่มีน้ำท่วมสูงอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญหลายอำเภอจมใต้บาดาลมานานถึง 4-5 เดือน

ปริมาณน้ำโดยรวม ต้องเรียกว่าน้องๆ ปี 2554

ที่น่าเศร้าใจก็คือ หลังเหตุมหาอุทกภัยเมื่อ 6 ปีก่อน รัฐบาลยุคนั้นได้เตรียมโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างป็นระบบทั่วประเทศ

“”แต่ไม่ทันได้ลงมือทำ ก็โดนปัญหาการเมืองปั่นป่วน จนบ้านเมืองชะงักงัน””

ไม่เท่านั้น หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นที่รู้กันดีว่า รัฐบาล คสช. เข้ามาเพื่อเน้นการแก้ปัญหาทางการเมืองและความมั่นคง เน้นการสร้างกติกาการเมืองใหม่ ใช้เวลาทุ่มเทไปกับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับควบคุมนักการเมืองในอนาคต

“ไปจนถึงการสร้างความเข้มแข็งเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กองทัพ!!”

นี่คือลักษณะของรัฐบาลทหาร หลังการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งมองได้ไม่ยาก

เพราะรัฐบาลแบบนี้ในทุกยุค จะมีข้ออ่อนในเรื่องการแก้เศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดภาวะเงินทองฝืดเคืองอย่างคาดได้ไม่ยาก

ไปจนถึงการบริหารประเทศในด้านอื่นๆ แบบรัฐบาลปกติ ก็จะขาดหายไปหลายด้าน

เพราะมักเน้นเรื่องแก้การเมือง ความมั่นคง ไปจนถึงความปรองดอง

อย่างปัญหาน้ำท่วม เกิดมาหลายหนในยุครัฐบาล คสช. ก็จะพบว่าไม่มีการแก้ปัญหาที่ชัดเจนนัก

ความที่มักจะกล่าวว่า นี่ไม่ใช่รัฐบาลนักการเมือง ไม่จำเป็นต้องไปหาเสียงหาคะแนนการเมือง ดังนั้น ก็เลยเป็นเช่นที่เห็นกันอยู่!?!

ความผูกพันระหว่างรัฐบาล คสช. ที่มาจากการรัฐประหาร กับขบวนการม็อบนกหวีดที่ชัตดาวน์ประเทศ ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองชะงักงันจนไปต่อไม่ได้ ลงเอยกลายเป็นการเปิดทางให้ทหารออกมาควบคุมการปกครองนั้น ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว

ขณะที่ความผูกพันนี้ ย่อมทำให้ผู้มีบทบาทในม็อบนกหวีดหลายราย ได้เข้ามามีตำแหน่งแห่งหน ในเครือข่ายของรัฐบาล คสช.

“”อย่างเช่น รศ.ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ภาคภูมิใจในกรณีจบการศึกษาวุฒิปริญญาถึง 5 ใบ นักปราศรัยที่เอาการเอางานบนเวที กปปส.””

ดร.จักษ์ 5 ใบ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาทำหน้าที่พิธีกรรายการเดินหน้าประเทศไทยของ คสช. แล้วก็กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ ในปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหนักหน่วง

โดยในโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปวิดีโอคำพูดในรายการเดินหน้าประเทศไทย ของ ดร.จักษ์ 5 ใบ ที่กล่าวถึงเรื่องน้ำท่วมตอนหนึ่งว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญเรื่องน้ำท่วม และสั่งให้ดูแลมาโดยตลอด แต่บางทีเราไปสั่งพระพิรุณไม่ได้ ว่าอย่าตกนะ

แต่เมื่อฝนเทลงมาก็ต้องจัดการ เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว ในเรื่องของอุทกภัย โดยต้องดูแลให้ดีที่สุด และอย่าลืมติดตามข่าวสารว่ารัฐบาลแจ้งว่าอย่างไร จะได้ปรับตัวท่าน บอกให้ยกของขึ้นที่สูงก็ต้องทำตามนั้น

“”ที่สำคัญน้ำท่วมครั้งนี้ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้””

นี่คือลีลาการชี้แจงเพื่อปกปักรักษารัฐบาล คสช. อย่างที่สุด

แต่ขณะเดียวกัน ในโลกออนไลน์ได้มีการย้อนคำพูดจาของ ดร.จักษ์ ที่เคยพูดปราศรัยบนเวที กปปส. ถึงเรื่องน้ำท่วมว่า

“”แทนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะไปลงพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่กลับไปนั่งผัดไทย การผัดข้าว ผัดไทยนั้นให้คนอื่นเขาทำเถอะ แต่แก (น.ส.ยิ่งลักษณ์) ต้องไปแก้ปัญหาน้ำท่วม””

ไม่เท่านั้น โลกโซเชียลยังขุดเอาข้อมูลที่ รศ.ดร.จักษ์ เคยโพสต์วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์น้ำท่วมในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเผยแพร่ด้วย

อันสะท้อนให้เห็นว่า น้ำท่วมคล้ายๆ กัน แต่พูดถึง 2 รัฐบาล อย่างต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยรัฐบาลหนึ่งนั้น เป็นศัตรูต้องขับไล่โค่นล้ม อีกรัฐบาลคือมีตำแหน่งหน้าที่ให้ทำการทำงาน

แต่อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะนักไฮด์ปาร์กหลายคนบนเวที กปปส. ก็คล้ายๆ แบบนี้!

มีคำสุภาษิตโบราณที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” หลายคนอาจจะลืมความหมายคำอธิบายไปแล้ว ก็ขอยกตัวอย่างกรณีคำพูดของ ดร.จักษ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาล คสช.

ที่เข้าไปทำงานร่วมอยู่ เป็นคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

หรือจะเอาอีกตัวอย่างรูปธรรม ก็เช่น กรณี นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ผู้เอาการเอางาน ได้ออกมาตอบโต้เรื่องร่างกฎหมายลูก สตง. ยืนยันว่า ไม่มีอคติ กรณีการห้ามอดีตผู้ว่าการ สตง. มาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการ สตง.ใหม่ ไม่ใช่การกีดกันไม่ให้ใครลงสมัคร หรือเขียนกฎหมายเล่นงานใคร

พร้อมทั้งเน้นตอบโต้ไปที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สตง.

“เมื่อเคยเป็นมาแล้วต้องให้คนอื่นได้เป็นบ้าง คนเคยเป็นมาแล้วต้องรู้จักพอ คนอื่นๆ ที่มีความรู้ ความสามารถในประเทศอีกจำนวนมากจะได้เข้ามา อย่าไปดื้อดึง ทุกอย่างควรพอดีและพอเพียง”

นายสมชายกล่าวอย่างเชื่อมั่นในความเป็นตนเองอย่างยิ่ง

แถมเตือนไปยัง คตง. ว่า อย่าเสนอชื่อคนที่มีลักษณะไม่ถูกต้องขึ้นมา

“”จะได้ไม่หน้าแตก””

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่อง เมื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ออกมากล่าวถึงเรื่องความ “รู้จักพอ” ว่า

“ที่นายสมชายขอให้นายพิศิษฐ์รู้จักพอนั้น ต้องถามว่าใครกันแน่ที่ไม่รู้จักพอ”

โดยนายเรืองไกรหยิบยกข้อมูลที่ว่า นายสมชายเป็น สนช. เมื่อครั้ง คมช. รัฐประหารปี 2549 ต่อด้วยการเป็น ส.ว.สรรหา รุ่นเดียวกับตนเอง ครึ่งวาระ 3 ปี แล้วได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. ต่ออีกหนึ่งสมัย 6 ปี พอ คสช. รัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. อยู่มาแล้ว 3 ปีเศษ และภายหลังปี 2561 ที่จะต้องมีการเลือกตั้ง นายสมชายก็ลุ้นเป็น ส.ว.ลากตั้งวาระ 5 ปีอีก รวมแล้วนายสมชายจะถูกลากตั้งทั้งหมด 10 กว่าปี

“ผมว่านายสมชายหนักกว่านายพิศิษฐ์อีก”

นี่คืออีกกรณีตัวอย่างรูปธรรม อันสะท้อนถึง “มาตรฐาน” ในความนึกคิดของกลุ่มคนที่กำลังมีบทบาทในบ้านเมืองยุครัฐบาลทหาร คสช.!